กระทรวง พม. ร่วมมือวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทบาท ศรส.จังหวัด ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม”

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมมือกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทบาท ศรส.จังหวัด ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม” โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย น.ส.ซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ร่วมด้วยคณาจารย์และนักวิจัยจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบด้วย ผศ.ดร.รัชนก คชานุบาล รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ รศ.ดร.ปัทพร สุคนธมาน อ.ดร.ชฎาธาร โอษธีศ และ ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทบาท ศรส.จังหวัด ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม” มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงานภาครัฐของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้มีองค์ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) การรับรู้ การเข้าใจและมุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานมีความตื่นตัวและปรับตัวกับความท้าทายของสภาพปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบใหม่ ให้บุคลากรสามารถนำข้อมูลสถิติในด้านสังคม เศรษฐกิจ ประชากร นโยบายที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยง พร้อมนำมาวิเคราะห์สถานการณ์และประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบกลยุทธ์การป้องกันแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ด้านประชากรของประเทศไทย



การประชุมเชิงปฏิบัติการ “บทบาท ศรส.จังหวัด ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมในยุคสมัยแห่งความท้าทาย” รุ่นที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมนูโว ซิตี้ กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและวิชาการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งสิ้น 150 คน



ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) จัดตั้งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการเร่งรัด จัดการ ติดตามการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย และมีบทบาทเป็นกลไกการขับเคลื่อนการปฏิบัติการ นโยบาย การสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน




จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย