“ในทรงจำนำทางอันรางเลือน” นิทรรศการข้ามศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ ให้ความรู้ในแง่มุมหลากหลายของความทรงจำ

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านประสาทศาสตร์การรู้คิด การดูแลผู้ป่วยและการคำนวณ จุฬาลงกรณ์ จัดโครงการ “ในทรงจำนำทางอันรางเลือน นิทรรศการข้ามศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับแง่มุมอันหลากหลายของความทรงจำ” ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2568 ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

พิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 มีนางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม กล่าวต้อนรับ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวแสดงความยินดี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของนิทรรศการในมิติการแพทย์ และ ผศ.ดังกมล ณ ป้อมเพชร รองคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของนิทรรศการในมุมมองอักษรศาสตร์และวัฒนธรรม




“ในทรงจำนำทางอันรางเลือน” เป็นนิทรรศการข้ามศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์และศิลปะเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับแง่มุมอันหลากหลายของความทรงจำ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำ และเจาะลึกความทรงจำผ่านแง่มุมทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมวิทยา ผ่านนิทรรศการในรูปแบบสหวิทยาการ ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ระหว่างชุมชนวิชาการกับชุมชนศิลปะ ด้วยการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับความทรงจำ โดยมี รศ.พิเศษ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

นิทรรศการนี้มุ่งหวังที่จะสร้างบทสนทนาที่มีชีวิตชีวาและกระตุ้นให้ผู้เข้าชมเห็นถึงความเชื่อมโยงของความทรงจำที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประสบการณ์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม นิทรรศการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือซึ่งเริ่มต้นโดยคณาจารย์ใหม่จากหลากหลายสาขาวิชาในจุฬาฯ ร่วมกับศิลปินร่วมสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือข้ามศาสตร์ที่มีคุณค่าในอนาคต

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย