ข่าวสารจุฬาฯ

งานเปิดตัวเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี 2568 “Air We Share, Lungs We Care ห่วงใยทุกลมหายใจ”

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, นสพ.คงปพน จิรธรรมธนากุล นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปี 2568 และ นสพ.กนกรักษ์ บำรุงราษฎร์ ประธานโครงการเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี 2568 ร่วมกันแถลงข่าวงานเปิดตัวเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2568 “Air We Share, Lungs We Care ห่วงใยทุกลมหายใจ” เข็มที่ระลึกเนื่องใน “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 (9 มิถุนายน) ผู้พระราชทานกำเนิด “แพทย์จุฬาฯ” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 โดยมี ผศ.พญ.วรวรรณ ศิริชนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วยศิลปิน ดารานักแสดงจาก ช่อง 3HD, ช่อง 7HD, บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด, จีเอ็มเอ็ม มิวสิค, จีเอ็มเอ็ม ทีวี, ช่องวัน 31, ศิลปินค่าย World Artist, ศิลปินค่าย Rabbit Moon และผู้มีอุปการคุณจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ โถงตึกจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2490 จากพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงต้องการให้ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ได้ผลิตแพทย์ที่มีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพเดียวกัน คือ การเป็นแพทย์เพื่อคุณค่าของทุกชีวิต พร้อมมุ่งช่วยเหลือประชาชนอย่างมีคุณธรรมด้วยหัวใจ 

ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการจัดทำเข็มวันอานันทมหิดลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 ผู้พระราชทานกำเนิดแพทย์จุฬาฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2528 โดย รศ.นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นในรูปแบบของสติ๊กเกอร์ ต่อมาได้มีการพัฒนาจนกระทั่งเป็นเข็มดั่งในปัจจุบัน โดยการดำเนินงานอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งโครงการนี้นับเป็นการรวมพลังของนิสิตแพทย์จุฬาฯ ในการรวมน้ำใจเพื่อสร้างกุศล โอกาสนี้ในนามของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งบริษัท และองค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนโครงการฯ

นสพ.คงปพน จิรธรรมธนากุล กล่าวว่า โครงการเข็มวันอานันทมหิดลนับเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการของพระองค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล, มูลนิธิสงเคราะห์เล็ก สภากาชาดไทย, ช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์อาพาธ ผู้ป่วยยากไร้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โครงการ “Happy Home Respiratory Care โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกิจกรรมจิตอาสา สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้คือ การเผยแพร่เข็มวันอานันทมหิดลสู่สาธารณชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแก่ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริจาคเงินเพื่อสร้างกุศล

นสพ.กนกรักษ์ บำรุงราษฎร์ เผยว่า โครงการเข็มวันอานันทมหิดล ในปี 2568 ดำเนินการภายใต้แนวคิด ‘Air We Share, Lungs We Care – ห่วงใยทุกลมหายใจ’ โดยทางโครงการฯ ได้ตระหนักว่าอากาศคือทรัพยากรที่เราใช้ร่วมกันทุกวันโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันมลพิษทางอากาศที่เราต่างสูดเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว กำลังค่อย ๆ บั่นทอนสุขภาพของเราและคนรอบข้างอย่างเงียบงัน ไม่ใช่เพียงในระยะสั้นแต่รวมถึงการก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในระยะยาว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และมะเร็งปอด นสพ.กนกรักษ์ ได้เล่าถึงตัวอย่างจากคนรอบตัวที่เคยมีสุขภาพแข็งแรง กลับต้องกลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียปอดหนึ่งข้างภายในเวลาไม่ถึงปี นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า ‘ลมหายใจ’ เป็นสิ่งมีค่าที่ไม่ควรถูกพรากไปเพียงเพราะสังคมของเราละเลยปัญหานี้

โครงการฯ จึงมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังทวีความรุนแรง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกผ่านการเผยแพร่ความรู้การรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอ และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการลดฝุ่นและควัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

จากที่มาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมการฯ จึงได้นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการรณรงค์ขอรับบริจาคมอบให้แก่โครงการ “Happy Home Respiratory Care โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการการดูแลต่อเนื่องเป็นระบบ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและญาติในการดูแล รวมไปถึงภาระทางด้านค่าใช้จ่าย การขาดทุนทรัพย์ในการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีราคาแพงหากต้องกลับไปดูแลรักษาต่อที่บ้าน ทําให้ผู้ป่วยจํานวนหนึ่งต้องอยู่โรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น จนเกิดภาวะแทรกซ้อน จากปัญหาต่าง ๆ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงจัดทําโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติได้ยืมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปดูแลต่อที่บ้าน เช่น เตียง ที่นอนลม รถเข็นนั่ง ท่อออกซิเจนพร้อมหัวต่อ เครื่องพ่นยา เครื่องดูดเสมหะ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้กลับบ้านเร็วขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและครอบครัว และลดโอกาสกลับมาเข้าโรงพยาบาลซํ้า หากหมดความจำเป็นในการใช้ก็นำเครื่องมือต่าง ๆ มาคืน เพื่อให้ผู้ป่วยรายอื่นได้ยืมใช้ต่อไปสามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่าหากเราร่วมมือกันจะสามารถสร้างสังคมที่ไม่เพียงห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่ยังห่วงใยซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เพราะทุกลมหายใจมีค่าและไม่มีใครควรต้องต่อสู้กับโรคร้ายเพียงลำพัง

การรณรงค์บริจาคเพื่อรับเข็มวันอานันทมหิดล ในปี 2568 รูปแบบของเข็มฯ เป็นโลหะนิกเกิลสีเงินด้าน เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ตามแบบพระบรมราชานุสาวรีย์จริงที่ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าอาคาร อปร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์แทนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นตามพระราชปรารภของพระองค์ ที่ฐานของเข็มกลัดเป็นรูปพวงมาลาอันเป็นการแสดงความความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เนื่องในวันอานันทมหิดล ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ นอกจากนี้ พวงมาลายังประดับด้วย ดอกกุหลาบ “สีเหลือง” ซึ่งตรงกับสีของวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2568 นี้ ที่ตรงกับ “วันจันทร์” และยังหมายถึงมิตรภาพ ความอบอุ่น และความห่วงใย สื่อถึงความสดและร่าเริงที่เปี่ยมไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม ด้านหน้าของพวงมาลามีข้อความว่า “วันอานันทมหิดล ๒๕๖๘” ด้านหลังมีตัวอักษรคำว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” 

โดยในปีนี้ผู้บริจาคจะได้รับเข็มวันอานันทมหิดลแบบเข็มเดี่ยวบนโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ บริจาคเข็มละ 150 บาท (รวมค่าจัดส่ง) เข็มเดี่ยวในกล่องกำมะหยี่สีเหลือง บริจาคชุดละ 250 บาท (รวมค่าจัดส่ง) นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้จัดทำเสื้อยืด 2 สี คือ สีขาวและสีเหลือง ขนาดไซซ์ XS-3XL บริจาคตัวละ 350 บาท (รวมค่าจัดส่ง) ซึ่งลายบนเสื้อยืดออกแบบโดยแบรนด์ Kloset การบริจาคเพื่อรับเข็มฯ และเสื้อยืด ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ขั้นตอนการบริจาค พร้อมทั้งการลงทะเบียนเพื่อขอรับเข็มฯ และเสื้อยืด ดังนี้ 

1. เลือกบริจาคเงินผ่าน 2 ช่องทาง ระหว่าง

– บัญชีวันอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-508231-4 

– สแกนผ่าน QR-Code บัญชีมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ รหัสอ้างอิง 11

(จะได้รับใบรับเงินบริจาค e-Donation)

2. ลงทะเบียนขอรับเข็มฯ หรือเสื้อที่ https://anandaydonation.docchula.com/

ทั้งนี้ ท่านบริจาคได้ด้วยตนเอง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ อาคารวชิรญาณวงศ์ และอาคารอานันทมหิดล ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการเข็มวันอานันทมหิดล ได้ที่ Facebook Fan page: ANAN DAY, Instagram: anan_day หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 02 256 4452-3 หรือ 02 256 4183 เวลา 08.00 – 17.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า