สนจ. จัดงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช ชวนเติมเลือดใหม่ ช่วยคนไทยไม่ขาดเลือด


สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จัดแถลงข่าวการจัดงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Siam Renaissance” ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจที่ทรงวางรากฐานและพระราชทานกำเนิดกิจการต่างๆ จนรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน พร้อมเชิญชวนร่วมบริจาคเลือด “ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” โดยมี ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาฯ น.ส. อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565” ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า งานปิยมหาราชานุสรณ์เป็นกิจกรรมที่ สนจ.จัดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันสมัยเทียบเท่าอารยประเทศ จึงทรงจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย โดยถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน 2445 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าภาคราชการและเอกชนมีความต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริขยายการศึกษาสู่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการการศึกษาขั้นสูง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ 26 มีนาคม 2459
สำหรับการก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ของจุฬาฯ มหาวิทยาลัยได้น้อมนำระบบบริหารราชการแผ่นดินที่จำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่มีความเป็นเลิศ โดยได้วางรากฐานสำคัญด้าน Future Leader หรือผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในยุคนี้ พร้อมนำพาประเทศก้าวไปแข่งขันได้บนเวทีโลก และด้าน Impactful Research & Innovations ที่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนหรือ Sustainability

น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) กล่าวว่า ทุกปี สนจ. จะจัดงานปิยมหาราชานุสรณ์ โดยมีการระดมทุนจุฬาสงเคราะห์ให้นิสิตที่อาจประสบปัญหาด้านค่าครองชีพ เพื่อดูแลค่าเทอม ค่าหอพัก อุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว จนจบการศึกษา ปัจจุบันยังคงให้ทุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถจัดสรรทุนได้ 476 ทุน รวมถึงทุนอาหารกลางวัน ซึ่งปรับจากในอดีตที่ใช้อาคาร สนจ. เป็นโรงอาหารเป็นการให้ทุนรายเดือน นอกจากนี้ สนจ. ยังจัดกิจกรรมด้านสาธารณกุศลอื่นๆ เช่น โครงการข้าวแสนกล่อง กล่องรอดตาย เกิดขึ้นในยามที่ประเทศเผชิญวิกฤติ และจัดหาทุนให้กับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปภัมภ์ เป็นต้น ล่าสุดปีนี้ได้จัดกิจกรรม “CU-DSR : เติมเลือดใหม่ ช่วยคนไทย ไม่ขาดเลือด” ชวนคนรุ่นใหม่ทั่วไทยมาบริจาคโลหิตวิถีใหม่ เพียงแอด Line OA “เลือดใหม่”ลงทะเบียนนัดหมายเตรียมบริจาคเลือดล่วงหน้าได้ทั้งปี 1 ปีบริจาคเลือดได้ 4 ครั้ง ใกล้ที่ไหนไปบริจาคที่นั่น

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวเสริมว่า “งานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Siam Renaissance” นำพาคนไทยย้อนกลับไปซึมซับพระราชกรณียกิจแห่งการวางรากฐานและพระราชทานกำเนิดกิจการต่างๆ จนรุ่งเรืองจวบจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ มาร่วมเทิดพระเกียรติผ่านกิจกรรมที่หลากหลายทั้งแบบออน กราวด์และออนไลน์ อาทิ ผลงาน Digital Art ชุด “Siam Renaissance” นำภาพเก่ามาเล่าใหม่ให้ร่วมสมัยโดนใจคนทุกวัย กิจกรรมเพื่อระดมทุนบริจาคให้กับทุนจุฬาสงเคราะห์ และทุนอาหารกลางวัน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ สามารถร่วมบริจาคได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่าน 5 ช่องทาง ดังนี้

(1) สแกน QR Code เข้าสู่เว็บบริจาค www.chula-alumni.com/donation
(2) App CHAM
(3) LINE OA “CHULA ALUMNI” เลือกเมนู “บริจาค”
(4) K Plus ที่ฟีเจอร์ K Plus Market และ TTB ให้เข้าไปที่ “ปันบุญ”
(5) บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 038-4-62388-9 ชื่อบัญชี “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
สำหรับกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ภาคเช้า มีพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต ภาคค่ำ สนจ.จัดงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 : The Charity Gala Night” ณ ศาลาพระเกี้ยว มีคอนเสิร์ตการกุศลโดยนักร้องและศิลปินนิสิตเก่าจุฬาฯ ชื่อดัง นำโดย รัดเกล้า อามระดิษ วสุ แสงสิงแก้ว รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ กิตตินันท์ ชินสำราญ น้ำฝน ภักดี รัฐพงศ์ ปิติชาญ ติดตามรับชม Live สดได้ทาง FB page : MONO29, Chulalongkorn University และ Chula Alumni”


ในส่วนของการบริจาคเลือดกับกิจกรรม “ผนึกกำลัง CU-DSR : จุฬาฯ ชวนเติม “เลือดใหม่” ช่วยคนไทยไม่ขาดเลือด” น.ส.ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงภาวะการขาดแคลนเลือดว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้เลือดประมาณวันละ 7,000 – 9,000 ยูนิต แต่สามารถจ่ายโลหิตเฉลี่ยได้เพียงวันละ 3,000 ยูนิต โดยผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้จะอยู่ในช่วงอายุ 18 – 70 ปี ในแต่ละปีกลุ่มผู้สูงอายุที่นิยมบริจาคเลือดลดน้อยลงไป ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมบริจาคเลือด ทำให้ทุกวันนี้ สภากาชาดไทยต้องประสบกับสภาวะการขาดแคลนเลือดอย่างหนัก จึงหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมบริจาคเลือด เป็นการได้บุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่

ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานกิจกรรม CU-DSR กล่าวเสริมว่า สนจ. มีเครือข่ายนิสิตจุฬาฯ อยู่ทั่วทุกมุมโลก และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีการรับบริจาคและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเสมอ โดยที่ผ่านมา สนจ. ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้เป็น สนจ. 4D โดย D ตัวที่ 4 นั่นคือ DSR : Digital Social Responsibility กิจกรรมเพื่อสังคมแบบออนไลน์ให้รองรับกับทุกสถานการณ์ และที่ผ่านมา ได้นำเงินบริจาคส่วนหนึ่งมาจัดซื้อ Tablet ให้กับนิสิต เพื่อเข้าร่วมในกิจกรรม สนจ. แบ่งเป็น 8 ด้านตามความสนใจ ได้แก่ Startups, Esport, Chula the master, Media Content, Music Charity, ICT Support, กล่องรอดตาย และ CU Blood โดยปรัชญาในการทำกิจกรรมยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือการปรับกิจกรรมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยนำหลักคิด Digital Platform มาใช้ในการสื่อสาร

น.ส.ภัทรพร เลิศศิริโรจน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในฐานะประธานโครงการ CU Blood เชิญชวนให้มาร่วมกันบริจาคเลือด โดยปีนี้เราตั้งเป้าเชิญชวนคนรุ่นใหม่ ช่วยกันเติมเลือดใหม่ โดยจะสื่อสารผ่าน Line OA “เลือดใหม่” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย สามารถบริจาคเลือดที่ไหนก็ได้ที่รับบริจาคใกล้บ้าน เพียงแจ้งรหัสที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ก็ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้แล้ว และทุกครั้งที่บริจาคเลือด ยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากองค์กรพันธมิตรของ สนจ.เพิ่มขึ้นอีกด้วย และเมื่อใกล้ถึงวันบริจาคเลือด Line OA เลือดใหม่ จะช่วยเตือนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้พลาดโอกาส ในการทำดีอีกด้วย
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมดสำหรับกิจกรรมในงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 ได้ทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และสามารถร่วมบริจาคกันได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่าน 5 ช่องทางข้างต้น

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย