Highlights

จุฬาฯ จับมือ The Ocean Cleanup ใช้กล้องและ AI วิเคราะห์ปริมาณและเส้นทางขยะในแหล่งน้ำ หวังวางแนวทางจัดการขยะก่อนออกทะเล

จุฬาฯ จับมือ The Ocean Cleanup ใช้กล้องและ AI วิเคราะห์ปริมาณและเส้นทางขยะในแหล่งน้ำ

จุฬาฯ ร่วมมือ The Ocean Cleanup และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนำร่องใช้เทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพและ AI วิเคราะห์ปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลักดันนโยบายการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาคพื้นดินและในแหล่งน้ำ


หากคุณคิดว่าขยะที่คุณทิ้งในวันนี้ จะหายไปจากชีวิตตลอดกาล คุณอาจต้องคิดใหม่

“จากการตรวจสอบฉลากของขยะพลาสติกที่พบบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เราพบขยะที่มีอายุย้อนไปถึง 10 ปี!” ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ เผยข้อค้นพบจากโครงการวิจัยกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ที่นักวิจัยจุฬาฯ ใช้กล้องและเทคโนโลยี AI ดักและติดตามขยะในแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2567

“ปัจจุบัน ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ของโลก ด้านการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางทะเลในระดับสูง” ศ. ดร.สุชนากล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์

ที่ผ่านมา หลายองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ได้พยายามรณรงค์สร้างจิตสำนึก ออกแนวนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดและกำจัดขยะทั้งในภาคพื้นดินและในน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดขยะในทะเล โครงการนำร่องล่าสุดก็เช่นกัน โครงการวิจัยกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ” เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ สถานทูตประเทศเนเธอร์แลนด์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงานของ The Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีเป้าหมายในการสำรวจปริมาณขยะในมหาสมุทรทั้ง 5 แห่งของโลก โดยทีมงานในโครงการฯ ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักออกแบบ และอาสาสมัคร ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการปัญหาขยะในทะเล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคาดการณ์ปริมาณขยะทะเล โดยรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนและสัดส่วนของการจัดการขยะรายจังหวัดในพื้นที่่ติดชายฝั่่งทะเลจำนวน 23 จังหวัด ผลการประเมินในปี 2565 พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นรวม 11.60 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็น “ขยะพลาสติก” ราว 302,389 ตัน (หรือ 0.30 ล้านตัน) ซึ่งร้อยละ 10 -15 ของขยะพลาสติกเหล่านี้้มีโอกาสตกค้างบริเวณชายหาดและถูกพัดพาลงทะเล กลายเป็น “ขยะทะเล” ราว 30,239-45,358 ตัน หรือประมาณ 0.03-0.45 ล้านตัน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึก ช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล โดยจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญ ระบบนิเวศชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน 21 จังหวัดชายฝั่ง แบบมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และอื่น ๆ แต่ขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกก็ยังคง “ลอยนวล” อยู่ในแหล่งน้ำและท้องทะเล ซึ่งหากไม่จัดการปัญหาขยะในแหล่งน้ำ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ เสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ทั้งการประมงและท่องเที่ยว และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในระยะยาว

ศ. ดร.สุชนากล่าวว่าในโครงการวิจัยกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ รับหน้าที่ศึกษาและเก็บข้อมูลปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเล และศึกษาประสิทธิภาพของเรือเก็บขยะระบบอัตโนมัติแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ในการลดขยะก่อนที่จะออกสู่มหาสมุทร

“ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ติดตั้งกล้องตรวจจับขยะบริเวณสะพานสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานอรุณอมรินทร์ และสะพานภูมิพล ซึ่งเป็นจุดที่ขยะจากต้นน้ำจะไหลผ่าน กล้องเหล่านี้จะบันทึกภาพทุก 15 นาที เพื่อให้สามารถติดตามปริมาณขยะได้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการสังเกตด้วยตาเปล่า” ศ. ดร.สุชนาอธิบายการเก็บภาพและวิเคราะห์ข้อมูลขยะ

“จากนั้น AI ของ The Ocean Cleanup จะช่วยประมวลผลภาพถ่าย วิเคราะห์ปริมาณและประเภทของขยะที่ลอยผ่านใต้สะพาน พร้อมทั้งติดตามเส้นทางการเคลื่อนที่ของขยะ และประเมินประสิทธิภาพของเครื่องดักขยะว่าดักขยะได้มากน้อยเพียงใด”

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องตรวจจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา

ศ. ดร.สุชนาเผยผลการศึกษาเบื้องต้นว่า “ขยะพลาสติก” ยังคงเป็นขยะหลักที่พบในแม่น้ำเจ้าพระยา และการใช้เครื่องดักขยะพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลลงทะเลได้อย่างมีนัยสำคัญ

“เรือดักขยะสามารถเก็บขยะได้สูงถึง 6-7 ตัน โดยมีข้อจำกัดที่ปริมาตรของขยะมากกว่าน้ำหนัก ปกติแล้วเรือจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในการเก็บจนเต็ม ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก หลังจากนั้น ขยะที่รวบรวมได้จะถูกนำไปคัดแยกและกำจัดอย่างถูกต้องตามขั้นตอน”

ปริมาณการเก็บขยะดังกล่าวนับว่าช่วยลดปริมาณขยะในแหล่งน้ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปีแรกของการดำเนินโครงการ เรือดักขยะสามารถรวบรวมขยะได้มากถึง 185 ตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่ง ศ. ดร.สุชนาหวังและเชื่อมั่นว่าหากผลการวิเคราะห์การดักและติดตามขยะเสร็จสมบูรณ์ น่าจะได้แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะได้เพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้นข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ด้วย AI จะถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินโครงการต่อเนื่องไปอีก 3 ปี

ผลการศึกษานี้จะเป็น “ฐานข้อมูลสำคัญ” ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาแผนจัดการขยะในแม่น้ำเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยให้เราสามารถวางนโยบายการจัดการขยะที่แม่นยำและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เช่น ระบุจุดที่มีการทิ้งขยะมากเพื่อนำไปวางแผนป้องกัน พัฒนานโยบายหรือมาตรการลดการทิ้งขยะลงน้ำ หรือส่งเสริมการจัดการขยะต้นทางในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว” ศ. ดร.สุชนากล่าวและเสริมว่า “การใช้เทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพและ AI จะช่วยให้เราระบุจุดที่ยังต้องการการจัดการขยะ ไม่ว่าจะมีเครื่องดักขยะหรือไม่ และยังช่วยประเมินประสิทธิภาพของโครงการจัดการขยะที่มีอยู่ของภาครัฐและเอกชนได้อีกด้วย”

สุดท้ายแล้ว “ปัญหาขยะ” ไม่มีพรมแดน ทุกภาคส่วนจึงต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไข

“การแก้ปัญหาขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ความร่วมมือจากต่างชาติที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นภาพว่าขยะที่เราคิดว่าอยู่เพียงในประเทศ อาจถูกพัดพาออกสู่ทะเลและกระทบต่อประเทศอื่น ดังนั้น การจัดการขยะจึงไม่ใช่เพียงปัญหาระดับชาติ แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน” ศ. ดร.สุชนา กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า