รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
4 ตุลาคม 2566
ข่าวเด่น, ความภูมิใจของจุฬาฯ
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตจุฬาฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจในชีวิตของบัณฑิตคณะต่างๆ ที่สานฝันทางการศึกษาจนประสบความสำเร็จ ช่วงเวลาในรั้วจามจุรีเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่น่าจดจำซึ่งบัณฑิตทุกคนจะระลึกถึงด้วยความประทับใจตลอดไป ส่วนหนึ่งของบัณฑิตจุฬาฯ ได้เผยถึงความรู้สึกที่ได้สำเร็จการศึกษาในปีนี้ พร้อมฝากข้อคิดในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตแก่นิสิตจุฬาฯ ที่กำลังศึกษาอยู่
นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ (ตั๊ก) นักแสดงและพิธีกร ดุษฎีบัณฑิตสาขานาฏศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า “เป็นความดีใจอย่างที่สุดที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและน่าประทับใจ รู้สึกซาบซึ้งใจในเพื่อนๆ ครูบาอาจารย์ ทำให้ได้เปิดมุมมองด้านที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การสำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ไม่ใช่ของผมคนเดียว แต่ครูที่ผมศรัทธาทั้งหลายท่านเป็นผู้ให้มา”
ปกติเป็นคนชอบออกสนามมากกว่าเรียนในห้องเรียน แต่เมื่อวันหนึ่งได้มาสัมผัสกับการเรียนปริญญาเอกที่จุฬาฯ จึงได้รู้ว่าการเรียนเป็นสิ่งจำเป็นกับเราและอยากนำความรู้ต่างๆ บันทึกไว้เป็นตำรา วิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัย สิ่งนี้ไม่ใช่การไขว่คว้าเพื่อตนเอง เป็นการฝากสิ่งดีๆ ไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป ในฐานะนักแสดงจะสร้างผลงานดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้เรียนมา หวังว่าจะสร้างประโยชน์กับประเทศชาติให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเรียนรู้ และเชื่อว่านาฏศิลป์ไทยจะสามารถผสมผสานกับยุคสมัยใหม่ได้ ส่วนทางด้านวิชาการก็ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้เท่าที่พอจะช่วยได้ นภัสรัญชน์ฝากข้อคิดสำหรับน้องๆ ว่า “ทุกคนอาจมีจุดที่ท้อแท้และมืดมองไม่เห็นอะไร มีคำพูดที่ครูผมสอนไว้ว่า ในความมืดคุณจะเห็นแสงสว่างเสมอ”
น.สพ.ดร.กิตติ ทรัพย์ชูกุล วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (สหสาขาวิชา) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ ประจำปี 2559 เผยความรู้สึกว่า ภูมิใจมากที่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากจุฬาฯ เป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกได้เข้ารับพระราชทานปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2531 ในฐานะสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านปศุสัตว์มาโดยตลอด การเข้ามาเรียนในสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (สหสาขาวิชา) สามารถนำมาปรับใช้จริงกับงานที่ทำอยู่ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันจุฬาฯ มีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก สอดคล้องไปกับยุคสมัย ทำให้นึกถึงเพลง “เกียรติภูมิจุฬาฯ” ในท่อนที่ว่า “ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ” สิ่งเหล่านี้ถูกส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้รู้สึกภูมิใจไปกับน้องๆ ทุกคน”
ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง (มิ้นต์) นักแสดง มหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมผู้ประกอบการ (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเรียนที่จุฬาฯ ได้มาเติมความรู้ใหม่ๆ และได้พลังงานดีๆ กลับไปทำงาน ซึ่งตนเองสนใจเรียนด้านการจัดการธุรกิจอยู่แล้ว จึงอยากเรียนต่อเพื่อต่อยอดธุรกิจในปัจจุบันและสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเรียนในหลักสูตรนี้ทำให้ได้รู้กระบวนการทำธุรกิจ เรียนรู้การจัดระบบให้ถูกต้อง ถูกที่ถูกทาง และเติมฐานด้านธุรกิจให้แน่นขึ้น โดยจะต้องแบ่งเวลาการเรียนไม่ให้กระทบกับการทำงาน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่มีเรียนจะไม่รับงานเลย
ชาลิดาได้ฝากคำแนะนำแก่นิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ว่า “ถ้าทุกคนมีความตั้งใจและมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะไม่มีคำว่ายากเกินไปสำหรับเรา ใครที่ยังไม่เจอเป้าหมายอาจจะลองหาจากสิ่งที่ชอบใกล้ๆ ตัว เป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ต่อยอดเป็นอาชีพสำหรับเราในอนาคตได้”
เสียงซอ เลิศรัตนชัย มหาบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย เผยว่า ตนจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถสำเร็จการศึกษาคว้าปริญญาใบที่ 2 มาได้ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในจุฬาฯ ตนทำหน้าที่นิสิตและนักกีฬาทีมชาติมาโดยตลอด ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และรับผิดชอบสูงมาก ต้องขอขอบคุณโครงการพัฒนากีฬาชาติ ที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้ามาศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตนเองในรั้วจุฬาฯ หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียนและแข่งกีฬาในนามนักกีฬาทีมชาติไทยไปด้วยพร้อมกัน แต่ถ้ามีความพยายามและทำด้วยใจรักและมีความสุขแล้วก็สามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กันได้
“ขอขอบคุณทุกๆ โอกาสที่คณาจารย์ทุกท่านมอบให้ ทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา จะจดจำช่วงเวลาดีๆ ที่มีทั้งเพื่อนและพี่น้องในจุฬาฯ เป็นความทรงจำที่มีค่าในช่วงชีวิตนิสิตจุฬาฯ อยากให้น้องๆ ที่ศึกษาในรั้วจุฬาฯ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นนิสิตจุฬาฯ ให้มากๆ เพราะนี่คือห้องเรียนชีวิตห้องใหญ่ที่จะคอยปลูกฝังบ่มเพาะให้เราได้เติบโตต่อไปในอนาคต และเมื่อมีโอกาสก็อย่าลืมที่จะตอบแทนสังคม และส่งต่อเรื่องราวดีๆ ไปยังรุ่นน้องต่อไป” เสียงซอกล่าว
รัฐพงศ์ ปิติชาญ (เอฟ) จากเวทีเพลงเพราะ (The Golden Song) มหาบัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยความรู้สึกว่า ดีใจมากที่สามารถเรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก ระหว่างที่เรียนก็ทำงานเป็นนักร้องและร่วมประกวดร้องเพลงในเวทีต่างๆ ไปด้วย รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้นำความรู้จากการเรียนด้านการร้องเพลงที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไปใช้ในการทำงานจริง หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จต้องจัดการบริหารเวลาให้ดีระหว่างการเรียนกับการทำงาน โดยใช้เวลาที่มีอยู่ทบทวนบทเรียนและตั้งใจทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายในทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้ ขอให้น้องๆ นิสิตจุฬาฯ ที่กำลังศึกษาอยู่และใกล้เรียนจบแล้วทำในสิ่งที่มุ่งหวังให้สำเร็จ อย่าล้มเลิกความตั้งใจมิฉะนั้นจะต้องไปเริ่มต้นใหม่ แม้จะเรียนจบปริญญาโทแล้วแต่เอฟยังคงไม่หยุดที่จะศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมโดยสนใจจะเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่จุฬาฯ เปิดสอน
ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ (แก้ว วง BNK 48) มหาบัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก กล่าวว่า ภูมิใจที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ เนื่องจากต้องเรียนและทำงานไปด้วย จึงต้องแบ่งเวลาและจัดการชีวิตให้ดี เธอตั้งใจจะเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อนำความรู้มาใช้ในงานด้านการสอนเปียโนซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมากที่สุด การเรียนในระดับปริญญาโทต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำเสนอความรู้ที่ได้ศึกษามา การเรียนให้ประสบความสำเร็จต้องมีสมาธิกับการเรียนและทำวิทยานิพนธ์โดยใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ช่วงเวลาที่เรียนในจุฬาฯ ประทับใจอาจารย์ที่คอยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ทำให้เรียนจบเป็นมหาบัณฑิต ทุกวันนี้บรรยากาศในจุฬาฯ ยังคงอบอุ่นเหมือนเมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ อยากให้น้องๆ นิสิตหมั่นหาความรู้และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด เพราะช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก
กิจจำนง จำนงกิจ (มันนี่) นักแสดง บัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 2 เผยว่า รู้สึกดีใจที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจุฬาฯ การเรียนที่ผ่านมานอกจากจะตั้งใจเรียนแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องความรับผิดชอบ แม้บางครั้งจะต้องขาดเรียนเพราะต้องทำงาน แต่ก็จะพยายามตามงานในภายหลัง รวมถึงอัปเดทเรื่องเรียนกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ รู้สึกขอบคุณและประทับอาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ที่คอยดูแลมาโดยตลอด ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเป็นนิสิตจุฬาฯ สิ่งที่อยากจะฝากกับน้องๆ นิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ ขอให้น้องๆ ค้นหาตัวเองให้เจอว่าเราชอบหรืออยากทำอะไร ในรั้วจุฬาฯ มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายที่น้องๆ สามารถเก็บมาเป็นประสบการณ์ ทำให้ได้ค้นพบงานหรืออาชีพที่ชอบ และจบออกไปทำในสิ่งนั้นในอนาคต
ณรงค์ชัย แสงอัคคี บัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งได้รับรางวัลนักศึกษารางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ เขตกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2565 กล่าวว่า การได้เป็น “บัณฑิตจุฬาฯ” เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในชีวิต ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับรางวัลในเงินทุนภูมิพล ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในรั้วจุฬาฯ มีความรู้สึกปลอดภัยทั้งหัวใจและร่างกาย จุฬาฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกด้านให้กับนิสิต ทำให้การมาเรียนแต่ละครั้งเหมือนมาบ้าน
“ผมรักจุฬาฯ มาก รวมถึง “เพื่อนนิสิต” และ “พี่นิสิต” คือ “มิ่งมิตร” ที่นำพาให้ผมเรียนจบได้อย่างสมภาคภูมิ เนื่องจากผมต้องทำงานไปด้วยจึงไม่สามารถเข้าเรียนได้อย่างเต็มที่ ผมได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ และรุ่นพี่คอยสนับสนุนในทุกด้าน ทำให้ผมสามารถเรียนได้ทัน นอกจากนี้การแบ่งเวลาและการจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน สำหรับน้องๆ นิสิตจุฬาฯ นอกจากการเรียนแล้วอยากให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจด้วย” ณรงค์ชัย กล่าว
พีรยา จึงธนสมบูรณ์ บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในรั้วจามจุรีแห่งนี้ หลักการเรียนให้ประสบความสำเร็จที่สำคัญคือเรื่องของการแบ่งเวลา พยายามตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด เวลาอ่านหนังสือทบทวนจะได้ไม่เหนื่อยมาก และอย่าทำให้การเรียนมารบกวนกิจกรรมที่อยากทำ
พีรยากล่าวว่าตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตเป็นนิสิตจุฬาฯ ขอขอบคุณอาจารย์ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ตลอดมา รวมทั้งให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน อยากให้นิสิตใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ ตั้งใจเรียนร่วมกับการทำกิจกรรมไปด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะตนเองให้พร้อมในทุกด้านก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพในอนาคต ช่วงชีวิตในจุฬาฯ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นหาตัวเองว่าสิ่งที่เรียนมานำไปใช้ในอนาคตได้อย่างไร เหมือนเป็นการมองอนาคตไปด้วยขณะเรียน
ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาวิชาภาษาไทย กล่าวว่า เป็นความรู้สึกภูมิใจที่สามารถทำความฝันในวัยเด็กในการศึกษาในรั้วจุฬาฯ ได้สำเร็จ ภูมิใจที่ตัวเองอดทนฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจุฬาฯ สมใจ จากนี้ไปจะให้เวลาตัวเองค้นหาเป้าหมายใหม่ที่ทำให้ไขว่คว้าตามความฝัน และเป็นเป้าหมายที่เราเลือกเอง
นอกจากมิตรภาพดีๆ ที่ได้จากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในคณะแล้ว ธนพงษ์ยังประทับใจคณาจารย์ ภาควิชาภาษาไทย ที่ไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ แต่ยังเป็น “ครู” ที่เมตตา เอาใจใส่ ให้คำปรึกษา และเป็นแรงบันดาลใจให้ค้นพบเป้าหมายของตัวเอง อยากให้น้องๆ นิสิตใช้ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าและเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ให้มากที่สุด
ธีรวุฒิ ริรัตนพงษ์ มหาบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชายุโรปศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ หนึ่งในบัณฑิตผู้พิการที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาฯ ในปีนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกประทับใจและภูมิใจที่ได้เรียนที่จุฬาฯ สถาบันอุดมศึกษาที่มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และมีคณาจารย์ บุคลากรที่มีคุณภาพ เหตุผลที่เรียนปริญญาโทสหสาขาวิชายุโรปศึกษา เนื่องจากมีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของทวีปยุโรป รวมทั้งต้องการต่อยอดความรู้ที่เรียนมาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ การเรียนให้ประสบความสำเร็จต้องมีความตั้งใจใฝ่รู้ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเลือกทำสารนิพนธ์ (IS) เรื่องวิวัฒนาการและลักษณะของความเคลื่อนไหวเพื่อผู้พิการในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สำหรับการใช้ชีวิตในจุฬาฯ ธีรวุฒิได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอารยสถาปัตย์ ขอขอบคุณจุฬาฯ ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวได้ใช้ Wheelchair ในการขึ้นลงรถ Shuttle Bus ทำให้การเดินทางไปเรียนมีความสะดวกยิ่งขึ้น ปัจจุบันธีรวุฒิเป็นอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติในสัญญาระยะสั้น 3 เดือนโดยไม่มีค่าตอบแทน ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานด้านเนื้อหาที่ประชาสัมพันธ์ทาง Facebook
อธิการบดีจุฬาฯ รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ในพิธีต้อนรับเรือเสว่ยหลง 2 เยือนประเทศไทย
นักวิจัยจุฬาฯ ตัวแทนไทยร่วมคณะสำรวจแอนตาร์กติกบนเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” จากจีน ตามรอยไมโครพลาสติก ถอดรหัสผลกระทบโลกร้อน สู่จิ๊กซอว์ความรู้เพื่อโลก
คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมนักจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในองค์กร
บริษัทจำลองจุฬาฯ 2025 เปิดโครงการฝึกงานนิสิตภาคฤดูร้อน ภายใต้ปณิธาน “ทำงานด้วยใจ คืนกำไรสู่สังคม”
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้