ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ณ วัดปทุมวนาราม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566     ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี ในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น.

 วัดปทุมวนาราม สร้างขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการเปลี่ยนท้องนาให้เป็นสระบัวสำหรับเป็นที่ประพาสในฤดูน้ำหลาก และโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งสำหรับเป็นที่ประทับแรม รวมทั้งพระอารามขึ้นในคราวเดียวกัน และได้พระราชทานวัดนี้แด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี โดยประกาศวิสุงคามสีมาสร้างวัดปทุมวนารามในปี 2400 สร้าง 4 ปีจึงแล้วเสร็จ จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุจากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาส และพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูปทุมธรรมธาดา ปัจจุบันวัดปทุมวนารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  มีเนื้อที่ 18 ไร่ 9 ตารางวา

 วัดปทุมวนารามมีปูชนียวัตถุสถานและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญในพระอาราม ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์สมัยพระบาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นผูกเป็นหม้อบูรณะฆฏะ มีดอกปทุมชาติผลิบาน ผูกประสานสลับลายเครือเถาและลายดอกพุดตานที่ทำเป็นกรอบประตูหน้าต่างลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลและเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกผสมผสานกับรูปแบการเขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณี ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธปฏิมา พระสายน์ หล่อด้วยสำริด พุทธลักษณะตามแบบพระพุทธปฏิมาสกุลล้านช้าง นับเป็นพระพุทธปฏิมาที่งดงามด้วยพุทธลักษณะแห่งยุคทองของสกุลช่างล้านช้างอย่างแท้จริง พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่กว่าพระอุโบสถ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดทรงมณฑป ประดับลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก บริเวณท้ายพระวิหารในส่วนของช่องประตูกลางก่อเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธปฏิมายืนปางห้ามญาติ หล่อด้วยสำริด ภายในพระวิหารประดิษฐานพระเสริม ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามเป็นพิเศษ หล่อด้วยโลหะสำริด เบื้องหน้าพระเสริมประดิษฐานพระแสน เป็นพระพุทธปฏิมาที่สำคัญอีกองค์หนึ่งซึ่งหล่อด้วยโลหะสำริด พุทธลักษณะตามแบบพระพุทธปฏิมาสกุลล้านช้างเช่นเดียวกับพระใส สันนิฐานว่าอัญเชิญมาคราวเดียวกัน

 วัดปทุมวนารามมีความสัมพันธ์อันดีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายด้าน อาทิ การประกอบกิจทางศาสนาในงานพิธีการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และการธำรงรักษาศิลปะและวัฒนธรรม เมื่อปี 2542 และปี 2545 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเงินจากการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานถวายเพื่อการบูรณะเรือนพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อปี 2550 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเงินจากการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานถวายเพื่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 2 หลัง ในเขตพุทธาวาส ณ บริเวณใกล้เรือนพระศรีมหาโพธิ์ ได้แก่ ศาลาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และศาลาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 84พรรษา และเมื่อปี 2554 และปี 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเงินจากการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานถวายเพื่อสร้างเสนาสนะเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญสมทบถวายเพื่อบูรณะเสนาสนะสงฆ์โดยเสด็จพระราชกุศล  ขอเชิญชาวจุฬาฯ และผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญถวายพระราชกุศลผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ชื่อบัญชี “กฐินพระราชทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เลขที่บัญชี 131-3-95521-0 หรือสแกน QR Code

QR Code ขอใบอนุโมทนาบัตร

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มภารกิจพิธีการและกิจการพิเศษ ศูนย์บริหารกลาง จุฬาฯ ชั้น 1 อาคารจามจุรี 2 โทร. 0-2218-0261, 0-2218-0184

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า