ข่าวสารจุฬาฯ

สังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’: สิ่งนี้เป็นโอกาสหรือวิกฤตต่อความยั่งยืน

“ความผกผันทางประชากร” (Demographic Disruption) คือปรากฏการณ์ที่โครงสร้างประชากรซึ่งเราเคยคุ้นชินมาเป็นระยะเวลานาน กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนและสัดส่วนประชากรสูงวัย การลดลงของอัตราการเกิด และการหดตัวของจำนวนประชากร (หรือการที่สังคม ‘ตายมากกว่าเกิด’) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากในอนาคตอันใกล้ และในหลากหลายมิติต่อประชากรของประเทศแทบจะทุกประเทศในโลกใบนี้ก็ว่าได้

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลคาดการณ์จำนวนประชากรในบทความเรื่อง “จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’ ไปเรื่อย ๆ” พบว่า ภายในปี ค.ศ. 2083 ประชากรในประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยในจำนวนนี้จะมีเพียง 14 ล้านคนที่เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 – 64 ปี) จากปัจจุบันที่มีประชากรวัยแรงงานอยู่ถึง 46 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นเราจะพบว่า ประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน โดยจากสัดส่วนนี้จะเห็นว่า ในปี ค.ศ. 2083 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี มุมมองหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยนึกถึงก็คือ คำถามที่ว่า ความผกผันทางประชากรจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความยั่งยืน? ในมิติหนึ่ง บางคนอาจมองว่าการลดลงของจำนวนประชากรเป็นสิ่งที่ดีต่อความยั่งยืน เพราะจะช่วยลดแรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันอาจนำไปสู่สมดุลใหม่ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์โลกในระยะยาว แต่อีกมุมหนึ่ง การลดลงของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลครั้งใหญ่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในการผลิต การขาดผู้บริโภคที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การขาดกำลังพลที่จำเป็นต่อการปกป้องประเทศ ด้วยเหตุนี้ ความผกผันทางประชากรจึงอาจไม่ใช่เพียงโอกาสในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นปัจจัยที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อ “ความยั่งยืน” ในมิติต่าง ๆ ของการพัฒนา บทความนี้จึงมีเป้าหมายในการนำเสนอแนวคิดและการวิเคราะห์ผลกระทบของความผกผันทางประชากรต่อความยั่งยืน ในบริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย

งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของ Marcin Pawel Jarzebski และคณะ (2021) ซึ่ง Jarzebski นั้นเป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความยั่งยืนในระดับเมืองและระดับโลก จะถูกใช้นำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ผลกระทบของความผกผันทางประชากรที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อความยั่งยืน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาผลกระทบของสองปรากฏการณ์ ได้แก่ 1. การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และ 2. การลดลงของจำนวนประชากรต่อ 25 เป้าหมายย่อย (Targets) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในแต่ละเป้าหมายย่อย นักวิจัยจะนำเสนอเหตุผลอย่างเป็นระบบว่า การเปลี่ยนแปลงทางประชากรทั้งสองประการจะ 1. เป็นโอกาส หรือ 2. เป็นอุปสรรค หรือ 3. อาจเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่อเป้าหมายย่อย (ซึ่งจะไม่ถูกพูดถึงในบทความนี้)

สำหรับเป้าหมายย่อย (Target) ที่จะได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสองปรากฏการณ์ได้แก่ การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Target 2.4), การเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด (Target 6.1), การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (Target 12.2), การลดขยะอาหาร (Target 12.3), และการลดของเสียผ่านการใช้ซ้ำ (Target 12.5) การยุติการทำประมงเกินขนาด (Target 14.4) และ การอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด (Target 15.1) ซึ่งสาเหตุหลักที่เป้าหมายเหล่านี้ได้รับผลดี เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันในการใช้ทรัพยากร ซึ่งในอดีตถูกใช้อย่างเข้มข้นในช่วงที่ประชากรมีจำนวนมาก และมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมาก สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่า เป้าหมายย่อยที่จะมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อประเทศไทย ได้แก่ การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การทำประมงที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลกด้าน การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าประมง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ การอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด ยังมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกรายได้หลักที่สำคัญของประเทศ

สำหรับเป้าหมายย่อย (Target) ที่จะได้รับผลเสียจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสองปรากฏการณ์ได้แก่ การขจัดความยากจนขั้นรุนแรง (Target 1.1), การลดสัดส่วนประชากรยากจน (Target 1.2), การจัดระบบคุ้มครองทางสังคม (Target 1.3), การเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานอย่างเท่าเทียม (Target 1.4), การอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุกรรมพืชและสัตว์ (Target 2.5), การลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (Target 3.4), การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Target 3.8), การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Target 8.1), การเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Target 8.2), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Target 9.1), การส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน (Target 9.2), การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ (Target 11.2), การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัยและเท่าเทียม (Target 11.7), การเสริมสร้างความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ (Target 13.1) โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ ประเทศจะขาดทรัพยากรในการลงทุนและพัฒนา เมื่อจำนวนประชากรโดยรวมลดลง และสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลง สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่าเป้าหมายย่อยที่น่ากังวลเป็นพิเศษ ได้แก่ การขจัดความยากจน (ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่นอกระบบแรงงานและพึ่งพารายได้จากรัฐ), การลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ, และ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต สาเหตุหลักคือ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาแรก ๆ ของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสูงสุด และเข้าสู่สถานะดังกล่าวในอัตราที่รวดเร็วมาก ดังนั้น ความพร้อมในการรับมือและปรับตัว ทั้งในระดับรัฐ ระดับครอบครัว และระดับบุคคล จึงยังอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันวางแนวทางสู่สังคมที่มีการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม โดยเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การลดการบริโภคเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพ ในด้านรายได้ควรส่งเสริมการมีงานทำที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้สูงวัย เพื่อสร้างบทบาทใหม่และถ่ายทอดทุนทางสังคมข้ามรุ่น พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและสังคม เช่น หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ AI ด้านสุขภาพ และศูนย์ดูแลร่วมระหว่างเด็กและผู้สูงวัย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนในสังคมสูงวัย กล่าวโดยสรุป ความผกผันทางประชากรเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สังคมไทยต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวในทุกระดับ ตั้งแต่ภาครัฐ ครอบครัว ไปจนถึงตัวบุคคล จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้บริบทของสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึงอย่างรวดเร็ว นโยบายแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศในระยะยาว


[1] ฐานเศรษฐกิจ. (พ.ศ. 2566). จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’ ไปเรื่อย ๆ. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/health/570758

[2] Jarzebski, M.P., Elmqvist, T., Gasparatos, A. et al. Ageing and population shrinking implications for sustainability in the urban century. npj Urban Sustain 1, 17 (2021). https://doi.org/10.1038/s42949-021-00023-z

ผู้เขียน  คณาจารย์ศศินทร์

– ศาสตราจารย์ ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ อดีตศาสตราจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาฯและสถาบัน

  บัณฑิตฯ ศศินทร์

– รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์

– รองศาสตราจารย์ ดร. ภัทเรก ศรโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์

– รองศาสตราจารย์ ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานวิจัยด้านบรรษัทภิบาลและ  

  การเงินเชิงพฤติกรรม สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์

– ศาสตราจารย์ ดร. พัชราวลัย วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ อดีตศาสตราจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาฯ

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า