ข่าวสารจุฬาฯ

จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทยตายมากกว่าเกิด “ไปเรื่อย ๆ”

ค่านิยมของสังคมไทยในปัจจุบันไม่นิยมการมีลูกและนิยมที่จะอยู่เป็นโสด คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกให้ความสำคัญกับการมีความพร้อมทางการงานและการเงินก่อนที่จะคิดเรื่องการแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว ทำให้อายุแรกสมรสของคู่สมรสมีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คู่สมรสมีโอกาสมีลูกได้น้อยลง บางคู่ก็ประสบปัญหามีลูกยากทำให้จบลงด้วยการไม่มีลูก นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกที่จะเป็นโสดเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตด้วยตนเองและเพื่อที่จะไม่ต้องมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่ง ค่านิยมเหล่านี้ทำให้ปี พ.ศ.2564 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการตายมากกว่าจำนวนการเกิดเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะมีบทความจำนวนมากที่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ แต่เท่าที่ผู้เขียนทราบ ยังไม่มีบทความไหนมองประเด็นนี้ไป “ยาว ๆ” และถามคำถามที่สำคัญมาก ๆ ที่เราทุกคนควรตระหนักว่าถ้าสังคมไทยมีจำนวนการตายมากกว่าจำนวนการเกิด และเป็นอัตราแบบนี้ “ไปเรื่อย ๆ” สังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต  

เพื่อตอบคำถามที่สำคัญนี้ ผู้เขียนได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า “การคาดประมาณประชากร” หรือ Population Projection ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่นักประชากรทั่วโลกใช้ โดยในบทความนี้ผู้เขียนใช้โปรแกรมคาดประมาณประชากรรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า “Spectrum” จากองค์กร Avenir Health ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจุดเด่นของโปรแกรมนี้คือ สามารถใช้ในการคาดประมาณในระยะยาว ๆ (100 ปีข้างหน้า) ได้อย่างสะดวก

และนักวิจัยสามารถปรับสมมติฐานต่าง ๆ ที่ต้องการได้มากกว่าโปรแกรมคาดประมาณประชากรรุ่นก่อน ๆ ซึ่งทำให้การคาดประมาณประชากรมีความแม่นยำมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้โปรแกรมนี้ได้รับความนิยมจากนักประชากรทั่วโลก

ในลำดับต่อไป ผู้เขียนจะต้องกำหนดสมมติฐานที่ใช้ในการคาดประมาณประชากร โดยในบทความนี้ (1) จะเป็นการคาดประมาณประชากรจากปี ค.ศ. 2023 ถึง 2083 (60 ปีข้างหน้า) โดยจำนวนประชากรและสัดส่วนประชากรปี ค.ศ. 2023 จะใช้จำนวนและสัดส่วนประชากรจริง (2) สมมุติฐานอายุคาดเฉลี่ยประชากรหญิงและชายจะใช้ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปี ค.ศ. 2023 – 2050) และ World Population Prospect 2022 (ปี ค.ศ. 2050 – 2083) และ (3) สมมุติฐานอัตราภาวะเจริญพันธุ์ (จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธ์อายุ 15-49) โดยปี ค.ศ. 2023 จะใช้ข้อมูลจริงที่ (เท่ากับ 1.16 คน) และจะปรับลดลงตามลำดับ โดยในปี ค.ศ. 2050 จะปรับลดลงเหลือ 0.7 (ใกล้เคียงกับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 2022 ที่เท่ากับ 0.78) และในปี ค.ศ. 2083 จะปรับลดลงเหลือ 0.5

จากการคาดประมาณประชากรข้างต้น ผู้เขียนพบว่า

(1) จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083

(2) จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ15 ถึง 64) จะลดลงจาก 46 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 เหลือเพียง 14 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 

(3) จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 เหลือเพียง 1 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 

(4) ประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปีค.ศ. 2023 ไปเป็น 18 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจากมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ 

ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรข้างต้นเป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก แม้ว่าสมมุติฐานอัตราภาวะเจริญพันธุ์ที่ผู้เขียนใช้ข้างต้นอาจจะดูเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นระดับที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะในปี ค.ศ. 2022 อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศเกาหลีใต้ได้ลดลงไปเหลือเพียง 0.78 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีอัตราภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และ ”เกิดขึ้นไปแล้ว” ในประเทศเกาหลีใต้

ผลกระทบจาก “คลื่นสึนามิทางประชากร” ลูกนี้ดูมีขนาดใหญ่มากอย่างมีนัยสำคัญและมีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการหายไปของแรงงานจำนวนมหาศาลที่สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอะไรก็ตามที่อาศัยแรงงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต (Labor Intensive) จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนโดยอาศัยรายได้จากกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศ (Domestic Mass Market) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค และโลจิสติกส์ จะได้รับผลกระทบมากเพราะไม่เหลือกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการลดค่าใช้จ่ายจากการผลิตปริมาณมาก (No More Economies of Scale) อีกต่อไป สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่อาศัยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชน เช่น โรงเรียน สวนสนุก และสินค้าอุปโภคบริโภคของเด็กก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะฐานลูกค้าที่เป็นเด็กจะลดลงถึงร้อยละ 90 เลยที่เดียว และสุดท้ายหากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ และธุรกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการแย่ลงอย่างมาก แล้วภาครัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีมาจากที่ไหน ผู้เขียนเชื่อว่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบจากการที่สังคมไทยมีจำนวนการตายมากกว่ามีจำนวนการเกิด “ไปเรื่อย ๆ” ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า Depopulation หรือการลดลงของประชากร โดยในบทความฉบับถัดไป ผู้เขียนจะรวบรวมงานวิจัยที่พูดถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์ Depopulation ที่หลายคนน่าจะคาดไม่ถึง

ดังนั้นการที่สังคมไทยไม่นิยมการมีลูกเป็นปัญหาระดับชาติที่สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ เศรษฐกิจของประเทศ ความอยู่รอดของภาคธรุกิจ ความเป็นอยู่ของคนในชาติ หรือแม้แต่ความมั่นคงระดับประเทศ (เราจะไปเกณฑ์ทหารมาจากไหน)

ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องเร่งหาวิธีในการทำให้คนไทยมีลูกมากขึ้น แม้ว่านักวิชาการหลายคนมักจะเชื่อว่าการเพิ่มอัตราภาวะเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่มีทางทำได้ด้วยซ้ำ) แต่ในอดีตที่ผ่านมามีกรณีศึกษาของประเทศสวีเดนในช่วงปี ค.ศ. 1960 ถึง 1990 ที่อัตราภาวะเจริญพันธุ์สามารถเพิ่มขึ้นจาก 1.65 มาเป็น 1.92 โดยรัฐบาลประเทศสวีเดนในช่วงนั่นมีนโยบายด้านสวัสดิการที่ครอบคลุมด้านครอบครัวและเด็กที่เอื้อต่อการมีบุตรมาก เริ่มตั้งแต่สิทธิ์ในการลาคลอดโดยที่นายจ้างห้ามไล่ออกจากงาน เพิ่มระยะเวลาที่สามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้รวมกันระหว่างพ่อและแม่ที่สูงถึง 12 เดือนในขณะที่ค่าตอบแทนลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของเงินเดือน เพิ่มระยะเวลาลาเพื่อดูแลลูกที่ป่วยเป็น 90 วัน และเพิ่มเงินสนันสนุนการมีบุตรที่สูงถึง 7,885 SEK (Swedish Krona) ต่อปี ต่อบุตร 1 คน (ประมาณ  40,000 บาทในช่วงนั้น) ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าการที่สังคมไทยไม่นิยมการมีลูกไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องไกลตัว หรือการทำให้คนไทยมีลูกมากขึ้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ อีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า เด็กที่เกิดวันนี้หรือคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ก็มีโอกาสสูงที่ต้องเผชิญกับคลื่นสึนามิทางประชากรที่ได้กล่าวไปข้างต้น

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านที่เห็นว่าปรากฏการณ์ Depopulation ข้างต้นเป็นเรื่องที่สำคัญ สามารถเข้าร่วมงานเสวนาในหัวข้อ “Unlocking the Power of Demographic Disruptions” ที่จะร่วมกันหาทางออกในการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางประชากรครั้งใหญ่ของประเทศ ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 16.00 เป็นต้นไป (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/UWx6k8c9X5G3tUp17 หรือ

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า