สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงบาตรในโอกาส 106 ปีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อวันอังคารที่ 3 มกราคม 2566 เวลา 07.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร เนื่องในโอกาส 106 ปี คณะอักษรศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ผู้บริหารคณะอักษรศาสตร์ คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และร่วมบำเพ็ญกุศลในการนี้ด้วย
หลังจากเสด็จฯ ทรงบาตรแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ทอดพระเนตรต้นชงโค ต้นไม้ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ต้นไม้ทรงปลูกและสวนกาแฟ
คณะอักษรศาสตร์เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการจัดตั้งวันอักษรศาสตร์ขึ้น ตรงกับวันที่ 3 มกราคมของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ อันเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 ซึ่งตึกบัญชาการนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นตึกอักษรศาสตร์ 1 และใช้เป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์เรื่อยมา กระทั่งได้มีการบูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาจุฬาลงกรณ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยภาควิชา 11 ภาควิชา ทั้งยังมีศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์บริการทางวิชาการต่างๆ เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก หลักสูตรสำหรับบุคคลภายนอก รวมทั้งงานบริการสังคม เพื่อมุ่งพัฒนาวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ที่ลุ่มลึกและทันโลกทันสมัย โดยเฉพาะมนุษยศาสตร์ดิจิทัล สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมมีทัศนคติที่สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองโลก
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2516 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาประวัติศาสตร์ และระดับปริญญาโท สาขาวิชาบาลี-สันสกฤต










จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย