Highlights

สวรรค์นักกิน “จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน” แหล่งรวม Thai Street Food สุดฮิป

Thai Street Food บรรทัดทอง

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปลุกพลัง Soft power ปั้นบรรทัดทอง-สามย่าน เป็นสวรรค์ Thai Street Food รวมความโดน-เด่น-ดังของร้านอาหารหลากหลาย เน้นสุขอนามัย คุณภาพและความอร่อย แถมอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก เชื่อดึงดูดผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติ


เมื่อก่อนอาหารริมทางเป็นอาหารที่หลายคนมองว่าไม่ถูกสุขอนามัย รับประทานเข้าไปอาจเสี่ยงท้องร่วงได้ รถเข็นและแผงลอยที่ตั้งระเกะระกะริมฟุตบาทก็กีดขวางการสัญจรของผู้คน แถมยังสร้างความสกปรกและทำลายทัศนียภาพของเมืองด้วย

ภาพจำเช่นนั้นเป็นอดีตไปแล้ว! ปัจจุบัน อาหารริมทางหรือ Street Food ของไทยกำลังได้รับความนิยมในระดับสากล จัดเป็นหนึ่งใน soft powerที่สร้างมูลค่าการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเปิดประสบการณ์และลิ้มลองอาหารเลิศรสและหลากหลาย จนกรุงเทพได้ชื่อว่าเป็น “มหานครแห่ง Street Food” หรือ “เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมทาง“

กรุงเทพมหานครมีย่านธุรกิจอาหารริมทางมากมาย ซึ่งหนึ่งในย่านที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ คือ จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน

“ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาบรรทัดทอง-สามย่านให้เป็นสวรรค์ของนักชิม รวมความอร่อยหลากหลาย ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแส

“นอกจากนักชิมจะได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศ Thai Street Food แบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่ายและมีจุดจอดรถสะดวก” รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวเน้นจุดเด่นของย่านอาหารริมทางแนวใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ

ถนน – จุดกำเนิดวัฒนธรรม Thai Street Food

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ย้อนเล่าความเป็นมาของวัฒนธรรม street food ของไทยว่า เกิดและเติบโตตามการเกิดขึ้นและตัดผ่านของถนน

“ในอดีตชาวสยามหรือคนไทยนิยมปลูกบ้านแบบมีอาณาบริเวณล้อมรอบ ตั้งเรือนอยู่ริมคลองและสัญจรทางน้ำเป็นหลัก การซื้อหาของกินของใช้ก็ซื้อจากเรือที่แล่นมาเทียบท่าน้ำหน้าเรือน จนสมัยรัชกาลที่ 5 อิทธิพลจากโลกตะวันตกที่เข้ามา ทำให้มีการสร้างถนน ถนนสายแรก ๆ ก็อย่างเช่น ถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร”

“เมื่อมีถนนก็มีการสร้างอาคารตึกแถวแบบตะวันตกตามแนวถนน เกิดเป็นย่านที่อยู่อาศัย และย่านการค้า ผู้คนก็เริ่มหันหน้าเข้าหาถนนและสัญจรทางบกมากขึ้น จึงเริ่มมี “หาบเร่และแผงลอยขายอาหาร” และเมื่อเมืองเจริญขึ้น ย่านที่อยู่อาศัยและการค้าขยายตัว มีถนนหลายสายมากขึ้น หาบเร่และแผงลอย หรืออาหารริมฟุตบาทก็ขยายตัวตามไปด้วย”

Street Food ตอบโจทย์วิถีคนเมือง

การตั้งร้านของหาบเร่แผงลอยริมถนนอาจทำลายทัศนียภาพของเมืองไปบ้าง แต่ก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างลงตัว รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าว

ประการแรก อาหารริมทางตอบโจทย์ความหลากหลายของอาหาร การตั้งร้านหรือแผงลอยมีลักษณะคล้ายศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่ม   

ประการที่สอง street food ตอบโจทย์เรื่องราคา ด้วยความที่ไม่มีค่าเช่าที่ หรือค่าเช่าราคาไม่แพง ทำให้แผงลอยหรือร้านอาหารริมทางเป็นที่พึ่งของกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ในมุมเศรษฐกิจมหภาค อาหารริมฟุตบาท ร้านอาหารริมทาง เป็นสีสันทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชาติด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณไว้ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารริมทางในปี 2566 จะสูงถึง 4.25 แสนล้านบาททีเดียว

อาหารริมทาง ต้นทุนเดิมย่านบรรทัดทอง-สามย่าน

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวถึงความพยายามของหลายฝ่ายในอดีต ที่เคยจะปั้นถนนสีลมให้เป็นถนนคนเดิน มีการลงทุน ออกแบบ สร้างกติกา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือที่คลองโอ่งอ่าง มีการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ นำสื่อไปทำข่าว แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เป็นดังที่ตั้งใจไว้นัก  

“การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ย่าน” ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย”

สำหรับจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพสูงด้วยหลายปัจจัยที่ลงตัว ประการแรก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง-สามย่านเป็นแหล่งรวม Thai Street Food

“ย่านบรรทัดทอง-สามย่านมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือ เป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิมและร้านอาหารที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช”

จากต้นทุนที่ดีดังกล่าว PMCU ได้ยกระดับทั้งพื้นที่ให้เป็นย่าน street food ยุคใหม่ เน้นให้ร้านอาหารต่าง ๆ ปรุงอาหารตามสุขลักษณะและมีการจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย สะดวกและปลอดภัย แตกต่างจากภาพลักษณ์อาหารริมทางแบบเดิม

นอกจากต้นทุนด้านผู้ประกอบการอาหารริมทางที่มีอยู่แล้ว สามย่าน-บรรทัดทอง ยังเป็นทำเลทองที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ

“เมื่อคุณมาชิมอาหารที่บรรทัดทอง-สามย่าน คุณจะสัมผัสถึงบรรยากาศที่คึกคักและพลังของคนหนุ่มสาว และอาจหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่น มีความสนุกสนานและมีชีวิตชีวาอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยบวกหลายประการ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าการเกิด “ย่าน” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะทำให้ย่านนี้เกิดความยั่งยืนก็ไม่ง่ายเช่นกัน “การจะทำให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เกิดความพึงพอใจนั้นไม่ง่าย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ไม่อาจทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยทีม รวมถึงการบริการจัดการในภาพใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน”

เสน่ห์ Thai Street Food จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน

อาหารริมทางจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยสร้างกระแสการรับรู้และความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ที่แวะเวียนมาตามอิทธิพลแบบปากต่อปากของทั้งเพื่อนและการรีวิวจากบล็อกเกอร์

“การรีวิวจากบล็อกเกอร์และผู้บริโภคที่มากินอาหารที่นี่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ย่านเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง คนมากินเยอะขึ้น ร้านอาหารก็มาเปิดเยอะมากขึ้นด้วย”

Street food บรรทัดทอง
อาหารริมทางจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ สรุปสีสันของ Thai Street Food จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน ดังนี้

  • ร้านอาหารมีหลักแหล่งประจำที่ และถูกสุขลักษณะ
  • สามารถเดินเท้าไปเลือกหาอาหารที่ชอบได้อย่างปลอดภัยบนฟุตบาท
  • เดินเลือกร้านอาหารได้สะดวก ตลอดทั้งถนนบรรทัดทองมีร้านอาหารยาวต่อเนื่อง
  • ทำเลที่ตั้งอยู่กลางเมือง เดินทางสะดวกด้วย MRT หรือ BTS ที่อยู่ไม่ไกล และมีรถขนส่งสาธารณะที่เข้าถึง ได้แก่ สาย  53, 67, 73
  • มีบริการลานจอดรถหลายจุด รองรับรถได้จำนวนมาก (ดูที่จอดรถและแผนผังร้าน คลิก)
  • สำหรับนิสิต จุฬาฯ สามารถใช้บริการรถปรับอากาศของจุฬาฯ สาย 2 และ 5 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือจะเรียกรถสามล้อไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน Muvmi ได้อีกด้วย

ปัจจุบัน Thai Street Food จุฬาฯ -บรรทัดทอง-สามย่านได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครผ่านไปผ่านมาแถวบรรทัดทองโดยเฉพาะในเวลาเย็น-ค่ำ จะเห็นผู้คนยืนต่อคิวรอตามร้านอาหารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกยังมีเหล่าไรเดอร์ที่จอดมอเตอร์ไซต์บนถนนเพื่อรอรับออเดอร์ให้ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ด้วย ซึ่งเริ่มเป็นปัญหากีดขวางการจราจร ทั้งนี้ รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็กำลังพยายามจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะนี้ให้เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย

ลายแทงความอร่อยสไตล์ Thai Street Food ย่านจุฬาฯ บรรทัดทอง สามย่าน

ความอร่อยสไตล์ street food ที่ย่านจุฬาฯ บรรทัดทอง สามย่าน มีให้ได้ลิ้มลองกัน 3 แนวด้วยกัน ได้แก่

  1. ร้านดังในตำนาน เป็นร้านอาหารดั้งเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ ขายกันตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก เช่น ร้านโจ๊กสามย่าน ร้านเจ๊แดง ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ  
  2. ร้านดังระดับมิชลินไกด์ เช่น ข้าวต้มปลากิมโป้ ร้านเอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา
  3. ร้านอร่อยตามกระแส เช่น ร้าน CQK Mala Hotpot ร้านหนึ่ง-นม-นัว ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน ร้านขนมไทยแม่เดือน

หมวดร้านดังในตำนาน

โจ๊กสามย่าน

โจ๊กสามย่านเป็นร้านโจ๊กในตำนานที่เปิดมากว่า 70 ปี เดิมชื่อ “ลี้เคียงไถ่” เปิดขายตั้งแต่มีการสร้างตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตึกแรก จนปัจจุบันนี้โจ๊กสามย่านขยายไปแล้วถึง 8 สาขา การันตีว่ารสชาติยังคงเดิมแบบต้นตำรับ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือกระบวนการทำ เนื้อหมูที่นำมาใช้เป็นเนื้อหมูเกรด A เนื้อโจ๊กเป็นเมล็ดกลม ๆ นุ่มพอดี

เมนูยอดนิยมคือ โจ๊กหมูรวมเครื่องใส่ไข่ สำหรับผู้ที่ต้องการลดการทานแป้ง ก็สามารถสั่งเมนู เกาเหลาพิเศษ (โจ๊กแห้งโคตรหมู) ได้  

ร้านเปิดทุกวัน เวลา 05.00-9.30 ,15.00-20.00 น.
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/jok.3yan
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/YWuQfsEmMpH6jUXX7

ร้านเจ๊แดง

ตำนานร้านเจ๊แดงเกิดขึ้นเมื่อปี 2533 จากรถเข็นคันเล็ก ๆ ขายที่ริมรั้วคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จนขยายเป็นร้านอาหาร และด้วยรสชาติความอร่อยที่ลูกค้าติดอกติดใจ จึงมีนักลงทุนเข้าร่วมทุนและขยายสาขามากถึง 30 สาขาในปัจจุบัน

เมนูยอดนิยมที่หลายคนมาก็ต้องสั่งคือ คอหมูย่างสูตรข้าวคั่ว หมูหมักกำลังดีที่จิ้มพร้อมน้ำจิ้มสูตรเด็ดจากทางร้าน หรือจะเป็นเมนู ยำไก่ทอด ข้าวโพดไข่เค็ม น้ำตกหมู ลาบปลาดุก

ร้านเปิดเวลา 10.30-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์ (ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขา)
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/dangsomtum
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/Rs63tWLEdWoTWRmeA (สาขาสามย่าน)

ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ

เมื่อเอ่ยถึงของหวานที่บรรทัดทอง ต้องไม่พลาดร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ ร้านของหวานเพื่อสุขภาพ เดิมทีร้านนี้ขายเพียงน้ำเต้าหู้ร้อน เต้าฮวยน้ำขิง แต่หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่จุฬาฯ ซอย 22 ทางร้านก็เพิ่มเมนูอื่น ๆ เข้ามามากมาย เช่น เฉาก๊วยนมสด น้ำเต้าหู้เย็นทรงเครื่อง บัวลอยน้ำขิงเครื่องรวม เป็นต้น

ร้านเปิดมากว่า 30 ปี และเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่มาระเบิดความดังขึ้นไปอีก เมื่อผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ลิซ่า (แบล็กพิงก์) มาทานของหวานที่ร้าน

เมนูยอดนิยมก็อย่างเช่น เฉาก๊วยนมสดภูเขาไฟ เฉาก๊วยชิ้นโตที่เหนียวหนึบ ทานพร้อมนมสดที่หวานมันพอดีคู่กับผงโรยไมโล และอีกเมนูคือ บัวลอยนมสดทับทิมกรอบ ทับทิมกรอบไม่แข็ง ทานคู่กับนมสด หอมมันกำลังดี

ร้านเปิดเวลา 15.00-23.30 น. ปิดวันอาทิตย์
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/profile.php?id=100067812128759
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/GhXMPmt54NRu8ohv8

หมวดร้านมิชลินไกด์การันตี 

ข้าวต้มปลากิมโป้

ข้าวต้มปลากิมโป้เป็นร้านข้าวต้มปลาที่เปิดมานานกว่า 70 ปี เอกลักษณ์ของร้าน คือ ปลาเก๋าสดตัวใหญ่แขวนเด่นที่หน้าร้าน การันตีรสชาติด้วยรางวัลระดับมิชลินไกด์ (2017-2023) ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสดและความหลากหลายของอาหารทะเล เรียกได้ว่ายกมากันทั้งทะเลเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปลาเก๋า ปลาจาระเม็ด ปลาเต๋าเต้ย ปลาหมอ กุ้ง หมึก หอย ทางร้านคัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ รวมถึงแกะก้างปลามาเป็นอย่างดี

เวลามาที่นี่ นักชิมมักนิยมสั่งเมนูข้าวต้ม ไม่ว่าจะเป็นข้ามต้มปลา กุ้ง หมึก หอย ข้าวต้มที่นี่เนื้อข้าวต้มนุ่มกำลังพอดี ไม่เละจนเกินไป สำหรับเมนูข้าวต้มยอดนิยม ได้แก่ ข้าวต้มปลาเก๋าแดง หนังปลาหนึบนุ่มเด้ง ไม่คาว ข้าวต้มปลาเต๋าเต้ย เนื้อปลานุ่ม ละมุนลิ้น เนื้อปลาชิ้นโต และทานควบคู่กับน้ำจิ้มสูตรเด็ดจากทางร้าน ข้าวต้มปลากะพงก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่นักชิมชอบสั่ง เนื้อปลาสดชิ้นโตเต็มปากเต็มคำ น้ำซุปหอม โรยกระเทียมเจียว ขึ้นฉ่ายหั่นฝอย ผงข่า บ๊ะเต็งเพิ่มความอร่อย เสิร์ฟคู่น้ำจิ้มเต้าเจี้ยวรสเด็ดของร้าน

ร้านเปิดเวลา 15.30-22.30 น. ทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/KimpoBanthatThong/?
ocale=th_TH  
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/AgikwafgA1oiYoHk9

เอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด-สาขาบรรทัดทอง

เอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด เป็นร้านสตรีทฟู้ดที่เปิดมานานกว่า 50 ปี เดิมชื่อร้าน ฮะเซ่งฮวด ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น เอลวิสสุกี้ สาขาแรกตั้งอยู่ซอยยศเสและได้เปิดสาขาใหม่ที่บรรทัดทอง จุดขายของร้านคือสุกี้ มีทั้งหมู ไก่ เนื้อ และทะเล

ร้านนี้ได้รับมิชลินไกด์ 6 ปีซ้อน (2018-2023) และเมนูมิชลินที่อยากแนะนำคือ สุกี้เนื้อ เนื้อนุ่มอร่อย ไม่เหนียว หรือใครไม่ทานเนื้อ ก็แนะนำ สุกี้แห้งทะเล ที่เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด ผัดสุกี้แบบมีไข่เคลือบทุกเส้น เส้นเหนียวนุ่ม หนุบหนับ กุ้งตัวโต ปลาหมึกสดเด้ง หมึกกรอบ สดใหม่ และอีกเมนูที่ไม่ควรพลาด คือ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ (สูตรต้นตำหรับเอลวิส) เนื้อไก่นุ่ม หอมกลิ่นคั่วกระทะอ่อน ๆ 

ส่วนคนที่ชอบอาหารซีฟู้ด ต้องลองหอยเชลล์สูตรทรงเครื่อง (เมนูแนะนำจากมิชลินไกด์ 2018 – 2021) ทานพร้อมกับน้ำจิ้มเผ็ดและหวาน บอกเลยลงตัวสุด ๆ และยังมีน้ำบ๊วยโซโหที่เข้มข้นครบรส เปรี้ยว หวาน เค็ม อร่อยสดชื่น

ร้านเปิดเวลา 15.30 – 00.00 น. ทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/profile.php?id=100064996654389   
เบอร์โทร : 081-994-5168
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/kNnq8SFT8wefq5KC6

ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา

ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา เดิมตั้งอยู่ที่ตลาดสวนหลวง ชื่อร้านนายใบ้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ล้งเล้ง และได้ย้ายร้านมาที่ถนนบรรทัดทอง ตรงข้ามอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

ร้านนี้เปิดมากว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลมิชลินไกด์ 6 ปีซ้อน (2018-2023) จุดเด่นอันโดดเด้งของร้านนี้ คือ ลูกชิ้นปลา ที่ไม่มีแป้งผสมและทำใหม่ ๆ สดๆ ทุกวัน เมนูที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งคือ บะหมี่เย็นตาโฟแห้งต้มยำ สูตรน้ำเย็นตาโฟต้มยำเป็นเอกลักษณ์ ถึงเครื่องถึงรส อร่อยโดยที่ไม่ต้องปรุงเพิ่ม เมื่อทานคู่กับหนังปลาดาบกรอบสูตรล้งเล้ง ยิ่งเพิ่มความ “อุมามิ” นอกจากนี้ เมนูของทานเล่นที่ไม่ควรพลาดคือเกี๊ยวทอดไส้หมู ที่กรอบนอก นุ่มในด้วยเนื้อหมูเน้น ๆ

ร้านเปิดเวลา 16.30 – 23.00 น. ทุกวัน จอดรถได้ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Longlengnoodle
เบอร์โทร : 095-759-4131
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/1JwcBmAwYrs3hJTLA

หมวดร้านอร่อยตามกระแส

CQK Mala Hotpot สามย่าน-บรรทัดทอง

CQK เป็นร้านหม้อไฟหม่าล่า สูตรต้นตำรับจากเมืองฉงชิ่ง มีหลายสาขาด้วยกัน แต่สาขาที่บรรทัดทองเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุด เป็นร้าน 3 ชั้น ภายในตกแต่งสไตล์จีนร่วมสมัย มีทั้งห้องส่วนตัว และห้อง VVIP (สำหรับ 20 ท่าน) ที่สามารถจัดปาร์ตี้และร้องคาราโอเกะได้ เหมาะสำหรับคนที่มาเป็นกลุ่มหรือครอบครัว

ความเด็ดของร้านนี้อยู่ที่น้ำซุป ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุปฟักทอง น้ำซุปกระดูกหมู น้ำซุปหม่าล่าเนื้อ เป็นต้น ส่วนบาร์น้ำจิ้ม ทางร้านก็มีป้ายเขียนวิธีการปรุงรสต่าง ๆ ให้เข้ากับน้ำซุปที่เลือกไว้หรือจะให้พนักงานตักให้ก็ได้

เมนูที่ไม่ควรพลาดคือ ลูกชิ้นกุ้ง เนื้อกุ้งมาเน้น ๆ เอ็นหอยเชลล์ตัวใหญ่ ๆ เมื่อนำมาจุ่มกับน้ำซุปหม่าล่าและจิ้มกับน้ำจิ้มสูตรทางร้านอร่อยเข้ากันลงตัวมาก ๆ  

สำหรับสายเนื้อ ทางร้านมีเนื้อวากิวญี่ปุ่น เมื่อจุ่มลงกับซุปหม่าล่าทิ้งไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วนำเข้าปาก เนื้อนุ่มละลายในปากกันเลยทีเดียว และที่ขาดไม่ได้คือไส้เป็ดพรีเมียม จุ่มกับน้ำซุปหม่าล่า บอกเลยว่าทานแล้วหยุดไม่ได้ ส่วนของทานเล่น ที่ใครมาก็ต้องสั่งก็คือหมั่นโถวทอด ต้องทานร้อน ๆ กรอบหอมอร่อย

ร้านเปิดเวลา 11.00-03.00 น. เปิดทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/ciqikoubkk/
เบอร์โทร : 097-750-7777
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/Jj3cMXaE2QQB3oLH6

ร้านหนึ่ง นม นัว

ร้านหนึ่ง นม นัว เป็นร้านขนมปังอบหั่นเต๋าเสียบไม้ ที่โด่งดังจากจังหวัดภูเก็ต จุดเริ่มต้นเกิดจากความชื่นชอบการทำขนมปังเป็นงานอดิเรกของเจ้าของร้าน นำไปสู่ไอเดียทดลองทำขนมปังและดิปแบบโฮมเมด

จากความสำเร็จที่ภูเก็ต เจ้าของร้านได้นำสูตรความอร่อยแบบโฮมเมดขึ้นมาที่กรุงเทพ โดยเปิดสาขาที่ 2 ที่บรรทัดทอง

เมนูเด็ดคือ ดิปลาวาไข่เค็มท๊อปด้วยไอศกรีมนมฮอกไกโด หรือใครอยากทานดิปที่หลากหลายก็สามารถสั่งเมนู โชคุปังอบกรอบ และเลือกดิปแกล้มกับขนมปัง ดิปมีให้เลือกหลายรส ได้แก่ ดิปสังขยาใบเตย ลาวาไข่เค็ม ฮอกไกโดครีมสด เมื่อทานพร้อมกับเครื่องดื่ม นมนัว ออริจินัล แล้ว บอกเลยอร่อยลงตัว หากใครสนเมนูของคาว ขอแนะนำ ขนมปังอบสาหร่ายห่อปูอัดไข่กุ้ง เป็นเมนูที่แปลกใหม่อร่อย ต้องลอง

ร้านเปิดเวลา 16.00-01.00 น. เปิดทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/profile.php?id=100090203659707&mibextid=LQQJ4d
เบอร์โทร : 092-093-9111
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/ZozMc4yqmBqAEYy6A

ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน

ชื่อร้านนี้ยาวพอ ๆ กับลูกค้าที่ต่อคิวรอรับความอร่อย ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน เดิมร้านนี้เป็นคาเฟ่ชื่อว่า Better Beam café มีเมนู ชาเย็น เป็นซิกเนเจอร์ หลังจากเปิดร้านได้ 2 ปี และขายเพียงเมนูชาเย็น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น BEAMS CHA จนในที่สุดก็ได้ปรับชื่อเป็นอย่างที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อสื่อสารเมนูเด็ดอย่างตรงไปตรงมาให้กลุ่มลูกค้า

ร้านนี้ตกแต่งคุมโทนด้วยสีส้ม มีความเป็นมินิมอล เมนูเด็ดที่ต้องลองคือ CHA YEN with baba หอมชาและรสชาติเข้มข้นหวานพอดี มีไข่มุกจิ๋วเป็นเอกลักษณ์เคี้ยวเพลิน

ร้านเปิดเวลา 08.00-22.30 น. เปิดทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/everyday.thai.teaa
ปักหมุด : https://maps.app.goo.gl/np3LdynPRwdCDxee7

ร้านขนมไทยแม่เดือน บรรทัดทอง

ร้านขนมไทยแม่เดือน ในอดีตเคยอยู่ที่สามชุก ตลาดร้อยปี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นร้านทำขนมไทยที่ใช้สูตรโบราณนานกว่า 50 ปี และขนมไทยภายในร้านมีมากกว่า 50 เมนู ทำด้วยตนเองทั้งหมด เริ่มต้นความอร่อยที่ 10 บาทเป็นต้นไป

เมนูซิกเนเจอร์คือ ขนมถ้วย ที่นึ่งสดใหม่ทุกวัน ทำจากน้ำตาลมะพร้าวแม่กลองและใช้กะทิคั้นสด 100% รสชาติหวานมัน กลมกล่อม ชั้นล่างของขนมถ้วยมีความหนึบ หอมอร่อย และอีกเมนูที่ยอดนิยมคือ ข้าวเหนียวมะม่วง เนื้อมะม่วงหั่นชิ้นเรียงสวย หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ข้าวเหนียวเป็นเม็ดนุ่ม ไม่อัดเป็นก้อน เมื่อทานทั้งคู่พร้อมน้ำกะทิที่คั้นสด รสชาติอร่อยลงตัว

ร้านเปิดเวลา 10.00 – 24.00 น. เปิดทุกวัน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Maeduenbkk/
ปักหมุก : https://maps.app.goo.gl/oGbeS1aiq95eWAbT7

ความอร่อยที่ต้องบอกต่อ

ธนกร วชิรเบ็ญจพงศ์

ธนกร วชิรเบ็ญจพงศ์ อายุ : 20 ปี อาชีพ : นิสิต สัญชาติ : ไทย 

“ผมเป็นนิสิตจุฬาฯ อยู่ไม่ไกลจากบรรทัดทอง เดินทางสะดวก ทั้งนั่งรถประจำทางของมหาวิทยาลัย สามล้อไฟฟ้า MuvMi หรือเดินเท้า ผมชอบบรรทัดทองเพราะเป็นแหล่งรวมร้านอาหารชื่อดัง ราคาสมเหตุสมผล ทำให้รู้สึกว่าอยากมากินอาหารที่นี่บ่อย ๆ

“ร้านโปรดของผมคือร้านสเต็กอาม่า ร้านนี้เป็นร้านแรก ๆ ที่ผมมาทานกับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัย เมนูที่ชอบคือ สเต็กถาดอาม่า ที่นี่ให้อาหารเยอะ ราคาย่อมเยา ถ้าถามถึงของหวาน ผมชอบเฉาก๊วยนมสด ที่ร้านบัวลอยปริญญา

มรกต จันทร์มณีเลิศ

มรกต จันทร์มณีเลิศ อายุ : 19 ปี อาชีพ : นิสิต สัญชาติ : ไทย

“ดิฉันมาที่บรรทัดทองค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นคนชอบเที่ยวและที่นี่มีของกินหลากหลายให้เลือก มาที่เดียวจบเลย ทั้งของคาวและของหวาน เสน่ห์ของบรรทัดทองอีกอย่างคือมีสวนสาธารณะ หลังจากทานข้าวเสร็จก็ไปเดินย่อยที่สวน ได้บรรยากาศดี ไม่วุ่นวายเท่าเยาวราช นิสิตมาเดินค่อนข้างเยอะ ทำให้รู้สึกปลอดภัย มากกว่าที่เยาวราช”

“เวลามาที่นี่ ดิฉันชอบแวะไปร้านเสน่ห์ลาบก้อย กินตำซั่วปูปลาร้าและคอหมูย่าง อร่อยมาก มักกลับมาทานซ้ำบ่อย ๆ ส่วนเมนูของหวานที่ชอบคือเต้าฮวยนมสดใส่แปะก๊วยที่ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ รสชาติอร่อย เครื่องแน่น เป็นร้านในตำนานที่ต้องแวะ”

รุ่งโรจน์ โรจนธรรมกุล
รุ่งโรจน์ โรจนธรรมกุล

รุ่งโรจน์ โรจนธรรมกุล อายุ : 24 ปี อาชีพ : Project Management Officer สัญชาติ : ไทย

“ผมชอบมาบรรทัดทอง ได้อ่านรีวิวจากหลายเพจแล้วเห็นว่าเป็นแหล่งรวมของกินย่านใหม่ที่น่าสนใจ ไม่แพ้เยาวราช ที่นี่มีทั้งของหวานของคาวครบในพื้นที่เดียว และมีร้านอาหารที่หลากหลายทั้งอาหารจีน เกาหลี ไทย ตลอดถนนทั้งสาย

“ผมชอบกินร้าน หนึ่ง นม นัว รู้สึกอเมซิ่งกับรสชาติของขนมปังกับนมที่อร่อยเข้ากันกับขนมปัง นอกจากนี้ ผมก็ชอบกินร้านเสน่ห์ลาบก้อย เคยลองกินก้อยแล้วเปิดโลกมาก ทำให้อยากกินอีกเรื่อย ๆ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย”

Lúu Chí Sanh
Lúu Chí Sanh

Lúu Chí Sanh อายุ : 28 ปี อาชีพ : Flight Attendant  สัญชาติ : เวียดนาม

“ผมมักมาเที่ยวเมืองไทยกับเพื่อน ๆ ปีละครั้ง และจะไม่พลาดที่จะมาเที่ยวที่บรรทัดทอง เพราะที่นี่เป็นย่านที่น่าสนใจ

“เมนูที่ผมชอบคือกุนเชียงทอดที่ร้านเจ๊โอว ซึ่งเป็นร้านในตำนานของย่านนี้ อาหารรสชาติดี แต่รอคิวนานไปหน่อย อีกร้านที่ผมชอบคือร้านน้ำเต้าหู้เจ๊วรรณ ผมเพิ่งเคยลองทานเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจ ด้วยความที่มากับเพื่อนที่รู้ใจทำให้รู้สึกประทับใจมากขึ้นไปอีก บรรยากาศที่นี่อบอุ่นมาก ปีหน้ามาอีกแน่นอน”

Cirelli Kelian
Cirelli Kelian

Cirelli Kelian อายุ : 23 ปี อาชีพ : Automation Engineer สัญชาติ : ฝรั่งเศส

“ผมมาเที่ยวประเทศไทย เพื่อนคนไทยแนะนำมาให้มาบรรทัดทอง ผมชอบทานเนื้อเลยทานได้เกือบทุกร้านที่มีเนื้อ ส่วนของหวานผมชอบกินบิงซูที่ร้านถิงถิง ซึ่งที่ฝรั่งเศสไม่มีเมนูบิงซู ไม่มีไข่มุก อีกทั้ง ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ผมจึงต้องการของหวานที่มีความสดชื่นและไม่หวานเกินไป ซึ่งร้านถิงถิง ตอบโจทย์เรื่องงนี้ อีกทั้งเป็นร้านห้องแอร์ด้วย”

Karen  Le Rox
Karen  Le Rox

Karen  Le Rox อายุ : 35 ปี อาชีพ : Administration สัญชาติ : นิวซีแลนด์

“ดิฉันมาที่บรรทัดทองเดือนละ 2-3 ครั้ง ที่นี่ “a nice vibe, great food, authentic, local” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาจากที่อื่นไม่ได้”

“ดิฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยว ที่ร้านเล็กใหญ่ก๋วยเตี๋ยวต้มยำโบราณ เพราะติดใจหมูสับที่ทางร้านให้เยอะมาก และเส้นก๋วยเตี๋ยวก็อร่อย” 

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า