Highlights

แพทย์จุฬาฯ ร่วมมือกรมแพทย์แผนไทย วิจัยพิสูจน์ “ยาขมิ้นชันองค์การเภสัชกรรม” รักษาโรคกระเพาะอาหารได้เทียบเท่ายาลดกรดแผนปัจจุบัน

แพทย์จุฬาฯ-ร่วมมือกรมแพทย์แผนไทย-วิจัยพิสูจน์ยาขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะอาหาร

แพทย์จุฬาฯ ร่วมกับกรมแพทย์แผนไทย และแพทย์ระบบทางเดินอาหารจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศ วิจัยพิสูจน์ ยาขมิ้นชันไทยช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้เทียบเท่ายาลดกรด เตรียมต่อยอดงานวิจัย หนุนขมิ้นชันไทยสู่ตลาดโลก


หลายคนอาจจะเคยมีอาการท้องอืด ปวดแน่น มวนท้อง แสบอกจากโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในปัจจุบัน อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องนั่งโต๊ะอยู่กับที่ทั้งวัน และผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นเวลาและทานอาหารรสจัด

แนวทางในการรักษา นอกจากจะเป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว คนที่เป็นโรคกระเพาะก็จะต้องรับประทานยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการด้วย ซึ่งต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งหันไปหาสมุนไพรไทยอย่าง “ยาขมิ้นชัน” แทนยาลดกรดแผนปัจจุบัน แต่คำถามสำคัญคือ “ขมิ้นชันจะทดแทนยาลดกรดในการรักษาโรคกระเพาะได้หรือ? ใช้อย่างไร? หรือต้องใช้ผสมผสานกัน? มีผลข้างเคียงหรือเปล่า”

รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน Center of Excellence in Preventive & Integrative Medicine (CE-PIM) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน Center of Excellence in Preventive & Integrative Medicine (CE-PIM)

ดังนั้น เพื่อไขข้อสงสัยเหล่านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์บูรณาการเชิงป้องกัน Center of Excellence in Preventive & Integrative Medicine (CE-PIM) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงออกแบบงานวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแคปซูลขมิ้นชันไทย เมื่อเทียบกับยาลดกรดแผนปัจจุบัน โดยร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ทีมนักวิจัยที่เป็นแพทย์ระบบทางเดินอาหารจากโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในประเทศ และองค์การเภสัชกรรมที่สนับสนุนแคปซูลขมิ้นชันสำหรับใช้ในงานวิจัย

ขมิ้นชันมีสรรพคุณช่วยเรื่องลม ปัญหาจุกเสียด แน่นท้อง เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลวิจัยที่พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าขมิ้นชันมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ มีเพียงงานวิจัยที่ทำเทียบกับยาหลอกที่ไม่ออกฤทธิ์เท่านั้น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่หยิบเอาขมิ้นชันมาทำวิจัยเทียบกับยาลดกรดของฝรั่ง” รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ อธิบายความเป็นมาในการออกแบบงานวิจัย

ยาขมิ้นชันไทยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เทียบเท่ายาลดกรดแผนปัจจุบัน

รศ.ดร.กฤษณ์ เริ่มการศึกษาวิจัยทางคลินิกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 จนถึงเดือนเมษายน 2563 โดยมีอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร (ระยะเริ่มต้น) และผ่านการตรวจแล้วว่าไม่ติดเชื้อเอชไพโลไร เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งสิ้น 151 ราย ทั้งนี้ งานวิจัยแบ่งอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่รับประทานขมิ้นชัน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งทาน 4 เวลา) เพียงอย่างเดียว 2) กลุ่มที่รับประทานยาลดกรด Omeprazole ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับยาหลอก และ 3) กลุ่มที่รับประทาน ทั้งขมิ้นชันขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และยา Omeprazole 20 มิลลิกรัมต่อวัน

การวัดผลการรักษาด้วย Severity of Dyspepsia Assessment (SODA) ที่ 28 วัน และ 56 วัน พบว่า อาสาสมัครทั้งสามกลุ่มมีอาการต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งวันที่ 28 และวันที่ 56

Comparative changes in Severity of Dyspepsia Assessment (SODA) pain scores in the curcumin plus omeprazole (C+O), curcumin alone (C) and omeprazole alone (O) groups.
กราฟแสดงการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของคะแนนความเจ็บปวดในการประเมินความรุนแรงของอาการโรคกระเพาะอาหาร (SODA) ในกลุ่มที่ได้รับยาขมิ้นชันกับ Omeprazole (C+O), กลุ่มที่ได้รับยาขมิ้นชันเท่านั้น (C) และกลุ่มที่ได้รับ Omeprazole เท่านั้น (O)

ผลการวิจัยสรุปได้ว่ายาขมิ้นชันขององค์การเภสัชกรรมและยาลดกรด Omeprazole ให้ผลในการรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ไม่แตกต่างกัน และการใช้ยาทั้งสองอย่างร่วมกัน ไม่ได้มีประโยชน์ในการรักษาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด”

ผลการรักษาอาจจะทัดเทียมกัน แต่ผลข้างเคียงนั้น ยาขมิ้นชันไทยมีน้อยกว่า รศ.ดร.กฤษณ์ กล่าว

เรายังไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการรับประทานขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากคนไข้ที่่ได้รับยาลดกรด Omeprazole ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือกรดในกระเพาะอาหารลดลง ทำให้แบคทีเรียไม่ดีเดินทางไปถึงลำไส้ และทำให้การดูดซึมสารอาหารบางอย่างผิดปกติไป”

ผลพิสูจน์ “ยาขมิ้นชัน” ขององค์การเภสัชกรรม นอกจากจะเห็นประโยชน์ในทางการรักษาที่ทัดเทียมแต่ผลข้างเคียงที่น้อยกว่าแล้ว รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวถึงข้อดีอื่น ๆ ของยาขมิ้นชันว่า “ยาขมิ้นชันราคาถูกกว่ายาฝรั่ง หาซื้อได้ง่าย ทานยาขมิ้นชันตัวเดียวสามารถรักษาได้หลายอาการ และปริมาณยาที่ทานแต่ละครั้งก็ไม่สูงเกินไป ในขณะที่เมื่อทานยาฝรั่ง (แผนปัจจุบัน) อาจต้องทานยาหลายตัว รักษาแยกอาการ เช่น ยาลดกรด ยาลดแก๊ส เป็นต้น”

ยาขมิ้นชัน ไม่เท่ากับ สารสกัดขมิ้น Curcuminoids

รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวย้ำว่างานวิจัยนี้พิสูจน์และรับรองผลเฉพาะยาขมิ้นชันที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ไม่ได้รับรองขมิ้นชันแบรนด์อื่น ๆ ที่มีวางขายในตลาด นอกจากนี้ รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ ยังชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง “ยาขมิ้นชัน” และ “สารสกัดขมิ้นชัน” ที่หลายคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่

ยาขมิ้นชันขององค์การเภสัชกรรม

“สารสกัดขมิ้น” (Curcuminoids) อย่างที่มีการวิจัยและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ออกฤทธิ์ช่วยลดปวด ฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ ไม่ใช่ตัวเดียวกันกับ “ยาขมิ้นชัน” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Turmeric หรือ Curcumin) เพราะยาขมิ้นชันที่ใช้ในงานวิจัยนี้เป็นขมิ้นชันของไทย ไม่ใช่สารสกัด แต่เป็นขมิ้นชันที่มาจากการตากแห้งและบดผง ซึ่งมีทั้งสาร Curcuminoids และสารตัวอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil)”

ชูยาขมิ้นไทย ThaiCureMin รักษาโรคกระเพาะอาหาร

ด้วยผลพิสูจน์จากการวิจัย รศ.ดร.กฤษณ์ กล่าวว่าจุฬาฯ จับมือกับองค์การเภสัชกรรม เตรียมผลักดัน “ยาขมิ้นชัน” ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ ออกสู่ตลาดโลกภายใต้ชื่อแบรนด์ ThaiCureMin

“ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว และล่าสุดยังได้รับการยกย่องจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยให้เป็นหนึ่งในสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal champion) ขมิ้นชันมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ขนาดตลาดระดับโลกกว่าหมื่นล้านบาท และมีความพร้อมในการพัฒนาส่งเสริมแหล่งปลูก สร้างมาตรฐานการปลูกและการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า”

ในอนาคต รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ วางแผนจะหาเกษตรกรและแหล่งปลูกขมิ้นแบบออแกนิกที่สามารถตรวจสอบที่มาได้ชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

สำหรับการวิจัยขมิ้นชันไทยในเฟสต่อไป รศ.ดร.นพ.กฤษณ์ กล่าวว่าทีมวิจัยจะตรวจวัดน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันว่ามีสารอะไรบ้างและในปริมาณเท่าใด โดยจะร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พระนครเหนือ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะจับมือกับ George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำวิจัยแบบเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งตรวจจุลินทรีย์ในอุจจาระ เพื่อศึกษาว่าขมิ้นชันจัดเป็นพรีไบโอติกส์ (prebiotics) หรือไม่

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่
Kongkam P, Khongkha W, Lopimpisuth C, et al (2023) Curcumin and proton pump inhibitors for functional dyspepsia: a randomised, double blind controlled trial. BMJ Evidence-Based Medicine 2023;28:399-406. https://ebm.bmj.com/content/28/6/399

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า