รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
3 มีนาคม 2568
ผู้เขียน รัตนาวลี เกียรตินิยมศักดิ์
อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทย์ฯ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านพืชผลในระดับโมเลกุล จุฬาฯ คิดค้น Arto Sucrose-reduced Technology เปลี่ยนซูโครสในผลไม้เป็นพรีไบโอติก ชูการขายในรูปแบบ “เพียวเร” เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปประกอบอาหารต่อ หนุนเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน
ทุเรียน มะม่วง กล้วย ไอศกรีม เค้ก ของหวานเหล่านี้ แม้จะเป็นของโปรด แต่หลายคนก็จำต้องยั้งใจไว้เพราะกลัวน้ำตาลในเลือดจะขึ้นสูง ซึ่งจะตามมาด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน ไต หัวใจ ความดันโลหิตสูง
“เวลาถึงหน้าทุเรียน คุณหมอจะมาเตือนว่าผู้ป่วยอย่าทานทุเรียนเยอะเพราะมีน้ำตาลสูง ซึ่งก็จริงดังคำเตือนของคุณหมอ แต่ทุเรียนก็มีสารอาหารที่มีประโยชน์เหมือนกัน เพียงแต่น้ำตาลมาก เราจึงคิดว่าจะลดน้ำตาลในทุเรียนได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ทุเรียนเป็นผลไม้สุขภาพ” ศาสตราจารย์ ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นจากงานวิจัยทุเรียนและแนวคิดปฏิวัติความหวานในผลไม้ยอดนิยมของไทยเมื่อ 2565 ซึ่งต่อมา ได้ขยายไปสู่การคิดค้น Arto Sucrose-reduced Technology เทคโนโลยีการใช้เอนไซม์ (Enzyme) เปลี่ยนความหวานของน้ำตาลซูโครส (Sucrose) ในผลไม้รสหวานให้เป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) คงคุณค่าผลไม้ แต่ลดปริมาณน้ำตาลซูโครสลงได้ถึง 65 %
“ประเทศไทยปลูกไม้ผลเศรษฐกิจหลายชนิด บางครั้งก็เกิดปัญหาผลไม้ล้นตลาด เป็นที่มาของการแปรรูปผลไม้ ตัวผลไม้เองมีปริมาณน้ำตาลสูงอยู่แล้ว เมื่อนำมาแปรรูป ปริมาณน้ำตาลก็ยิ่งสูงขึ้น หรือดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลซูโครสซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ เราจึงอยากลดน้ำตาลที่มีอยู่ในเนื้อผลไม้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการรับประทานผลไม้” ศ. ดร.ศุภอรรจ เอ่ยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในชื่อแบรนด์ “Arto”
ศ. ดร.ศุภอรรจ อธิบายว่า Arto Sucrose-reduced Technology เป็นการใช้เทคโนโลยีเอนไซม์ โดยนำ Commercialized Enzyme มาผสมเป็นสูตรเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลซูโครสให้เป็นพรีไบโอติกส์ ซึ่งเป็นน้ำตาลอีกกลุ่มหนึ่ง “ผมเคยได้อ่านรายงานวิธีการใช้เอนไซม์เพื่อเปลี่ยนเป็นพรีไบโอติกอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีนักวิจัยคนใดใช้เทคโนโลยีนี้กับผลไม้ตากแห้งมาก่อน”
ศ. ดร.ศุภอรรจ จึงเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีนี้โดยใช้เอนไซม์สูตรเฉพาะนี้กับเพียวเรและผลไม้ตากแห้ง และดำเนินการแปรรูปเพียวเรที่เปลี่ยนน้ำตาลซูโครสเป็นพรีไบโอติกที่โรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี โดยใช้ผลไม้วัตถุดิบ เช่น มะม่วงจากวังน้ำบ่อ จังหวัดพิษณุโลก และกล้วยที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนจุกกะเฌอ จังหวัดฉะเชิงเทรา
“ชาวบ้านปลูกกล้วยหอม กล้วยน้ำว้าอยู่แล้ว บางช่วงกล้วยก็ราคาแพง บางช่วงราคาไม่แพงและมีผลผลิตเยอะ เราจึงนำเอาวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นกล้วยตาก เค้กกล้วยหอม และไอศกรีมที่ลดน้ำตาล”
ศ. ดร.ศุภอรรจ กล่าวว่าการแปรรูปอาหารโดยใช้ Arto Sucrose-reduced Technology ทำได้กับผลไม้ในรูปเพียวเรหรือผลไม้สดก็ได้
“สำหรับผลไม้ตากแห้ง เรามีเทคนิคเฉพาะในการใส่เอนไซม์ลงไปในผลไม้ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการที่เหมาะสมเอนไซม์ก็จะทำงานเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสให้เป็นพรีไบโอติก” ศ. ดร.ศุภอรรจ อธิบาย
ส่วนการทำ “เพียวเร” (Puree)“ เราจะนำเนื้อผลไม้ เช่น มะม่วง กล้วย มาปั่นให้อยู่ในรูปแบบของเหลว ใส่เอนไซม์เข้าไป แล้วนำไปผ่านกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพรีไบโอติก หลังจากนั้นนำเอาเพียวเรที่ได้ไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เช่น สมูตตี้มะม่วง เค้กกล้วยหอม และไอศกรีมบานาน่าช็อกโก”
ศ. ดร.ศุภอรรจ กล่าวว่าเทคโนโลยี Arto Sucrose-reduced Technology สามารถใช้ได้กับผลไม้อะไรก็ได้ที่มีรสหวาน มีปริมาณน้ำตาลซูโครสสูง เช่น ทุเรียน กล้วย สับปะรด เป็นต้น หรือพืชที่มีความหวาน เช่น น้ำตาลสด น้ำอ้อย โดยซูโครสในวัตถุดิบเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพรีไบโอติกได้
“ตอนนี้เราตั้งการลดน้ำตาลไว้ที่ 65% แต่ก็สามารถลดน้ำตาลได้อีกขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภค”
แล้วเมื่อลดความหวานลงจะทำลายรสชาติดั้งเดิมหรือเปล่า ศ. ดร.ศุภอรรจ ตอบว่า “แล้วแต่ชนิดของวัตถุดิบ สำหรับกล้วย ไม่ได้ทำให้รสชาติเดิมเปลี่ยนไป ส่วนสมูตตี้มะม่วง จะมีรสชาติจะคล้ายมะม่วงกวน ส่วนเอนไซม์และกระบวนการจะไปทำลายรสชาติดั้งเดิมหรือเปล่าขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าชอบหรือเปล่า บางคนชอบมะม่วงกวนอยู่แล้ว ก็จะรู้สึกว่าอร่อยดี”
ขณะนี้ผลิตภัณฑ์จาก Arto Sucrose-reduced Technologyมีทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ สมูตตี้มะม่วง (Refreshing Mango Smoothie), เค้กกล้วยหอมไร้แป้ง, ไอศกรีมเชอร์เบทช็อกโกบานานา (Energizing Choco Banana Sherbet) และกล้วยตาก (Nature’s Candy Sugar-Reduced Dried-Banana)
“ไอศกรีมเชอร์เบทช็อกโกบานาน่า เราเอากล้วยหอมที่ลดน้ำตาลมาแล้วทำเป็นรูปแบบของเชอร์เบท ผู้ที่ได้ลองบอกว่ามีกลิ่นกล้วยชัดเจนและมีรสชาติของโกโก้ที่ใส่เข้าไป ส่วนกล้วยตากลดน้ำตาลก็ได้รับเสียงตอบรับดีว่าหวานน้อยลงและมีเทกเจอร์ของความเป็นกล้วยด้วย” ศ. ดร.ศุภอรรจ เล่าถึงผลตอบรับจากผู้บริโภค
แม้ Arto จะมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แต่สิ่งที่ ศ. ดร.ศุภอรรจ ต้องการเน้นมากขึ้นคือการขายในรูปแบบ “เพียวเรลดน้ำตาล”
“เราพยายามหาผู้ที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ต้นน้ำคือเพียวเรลดน้ำตาลเอาไปใช้ บางทีลดน้ำตาลแล้วไม่รู้ว่าไปทำอะไรได้ เราก็เลยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Arto เช่น ไอศกรีม เค้กกล้วยหอม ตอนนี้เรามีการคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจเพียวเรลดน้ำตาล และอีกกลุ่มก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าอยากจะเอาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปขาย เขาอาจจะไปขายแบรนด์ของเราหรือจะนำไปขายในแบรนด์ใหม่ก็ได้เช่นกัน”
ผลิตภัณฑ์จาก Arto Sucrose-reduced Technology ไม่ว่าจะเป็นเพียวเรหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จจรูป จำหน่ายโดยบริษัท InnoPhytoTech ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางด้านชีวเคมีสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม นำเสนอเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคให้มีสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทเป็นหนึ่งในโครงการ Chula Spin-Off แหล่งรวมนักวิจัยจากจุฬาฯ ให้พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และช่วยเหลือกัน โดยมีเป้าหมายนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ศ. ดร.ศุภอรรจ ยังได้รับคำแนะนำจากทาง CU Innovation Hub ด้วย “เราปรึกษา CU I Hub ตั้งแต่ต้นซึ่งเขาก็จะแนะนำช่องทางการบริหารจัดการ ตอนแรกก็จะให้ความรู้ การอบรมทางธุรกิจ ช่องการหาทุนสนับสนุน มีอีเวนต์ให้ร่วมออกบูธ แนะนำให้ไปขอทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อไปทำการตลาด”
หลังจากที่ใช้เอนไซม์ในการเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสเป็นพรีไบโอติกแล้ว แผนงานต่อไปของ ศ. ดร.ศุภอรรจ คือการใช้เอนไซม์เปลี่ยนแป้งให้เป็นสารอาหารที่มูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับเทรนด์เพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้
“อาหารเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์แน่นอน ในยุโรปการบริโภคน้ำผลไม้ลดลงมากเพราะพบว่าผลไม้มีน้ำตาลสูง ไม่ได้เป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ผลไม้ก็มีสารต้านอนุมลอิสระสูงด้วยเช่นกัน เราจะสามารถลดน้ำตาลที่มีอยู่ในผลไม้ได้อย่างไร ในต่างประเทศกำลังพัฒนาอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อการบริโภคและมีคุณภาพมากขึ้น”
“เราต้องติดตามงานวิจัย มีการเช็คก่อนว่างานวิจัยในการเปลี่ยนแป้งให้เป็นสารที่มีประโยชน์มีผู้วิจัยอะไรไปบ้างแล้วนำมาพัฒนาต่อยอด โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ใช้ในอุตสาหกรรมด้วย ไม่เกิดปัญหาเมื่อขยายการผลิต วัตถุดิบต้องมีพอ เราต้องทำงานร่วมมือกับชุมชนที่เขามีวัตถุดิบ และกระบวนการของเราจะต้องอัพสเกลได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ”
“ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราขายของไม่เป็น งานวิจัยถึงจะดีแค่ไหนถ้าไม่มีผู้ใช้ประโยชน์มันก็หยุดอยู่แค่นั้น การที่จะนำเอาไปใช้ได้จริงหรือก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ นักวิจัยก็ต้องไปพบผู้คน พบชุมชน พบผู้บริโภค พบผู้ประกอบการ เพื่อเป็นไอเดียกลับมาพัฒนางานวิจัยต่อไป” ศ. ดร.ศุภอรรจ แสดงความคิดเห็นปิดท้าย เมื่อต้องการนำงานวิจัยไปสู่ตลาดผู้บริโภค
สำหรับตอนนี้ ถ้าใครอยากทานของหวานโดยไม่รู้สึกผิด ผลิตภัณฑ์จาก Arto Sucrose-reduced Technology ช่วยได้ และยังมีพรีไบโอติกส์เสริมสุขภาพให้แข็งแรงอีกด้วย ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อได้ที่โทร 09 8919 6263 และเว็บไซต์ https://www.innophytotech.com/
อ่านงานวิจัยเรื่อง Enzyme-assisted hydrolysis and microencapsulation for production of functional food with dietary fructooligosaccharides from Nam Dok Mai mango ได้ที่ https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0023643824002998
เอนไซม์ (Enzyme) คือ กลุ่มของโปรตีนที่มีความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ช่วยในการสังเคราะห์หรือสลายองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในเซลล์ ช่วยในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร เพื่อนำไปใช้ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ซูโครส (Sucrose) คือ น้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้ในพืช เช่น ผลไม้ ผัก และเมล็ดธัญพืช ซูโครสเป็นน้ำตาลที่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินในการดูดซึม ผู้เสี่ยงหรือป่วยด้วยโรคเบาหวานต้องหลีกเลี่ยง
พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ สารชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก สารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ (Probiotic) ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย กล่าวง่ายๆ คือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์ของโพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร โรคภูมิแพ้ โรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ และโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อใส่เอนไซม์ลงไปในผลไม้ที่มีรสหวาน หลังจากผ่านกระบวนการตามระยะเวลาที่กำหนด ก็จะเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมีเปลี่ยนซูโครสเป็นพรีไบโอติกส์ซึ่งเป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ทำให้ระบบของร่างกายดีขึ้น
อ้างอิงจาก
นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา “ปะการังสู้โลกร้อน” เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล
ปฏิบัติการ “ชี้โพรง” สแกนสุขภาพต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา
เปิดตัวตำราอาหาร “สุขภาพดี วิถีสำรับไทย” จับคู่เมนูเด็ด อร่อยคงเอกลักษณ์ ครบถ้วนโภชนาการ
จุฬาฯ แนะนำทุนสำหรับนิสิตปริญญาตรี สร้างโอกาสการศึกษาและคุณภาพชีวิต
AR จำลองกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง สื่อการสอนยุคดิจิทัลเพื่อนิสิตสัตวแพทย์
ศสอ. เดินหน้าภารกิจ End of Waste จุดจบ “ของเสียอันตราย” ตั้งแต่ครัวเรือน-โรงงาน
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้