Highlights

ตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อในอาคารด้วยรังสีแกมมา ช่องทางธุรกิจ วิศวกรนิวเคลียร์และรังสี จุฬาฯ

xray ตรวจท่อตัน ท่อแตก

ศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี จุฬาฯ พัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบวัสดุอุดตัน ท่อภายในอาคาร ที่พักอาศัยและสำนักงาน โดยใช้รังสีแกมมา ก่อตั้งเป็นธุรกิจ Startup แห่งแรกในไทย ตรวจสอบแบบไม่ทำลาย พื้นผิวภายนอก ปลอดภัย และแม่นยำ


ปัญหาท่อตันพบได้บ่อยในครัวเรือน อาคารสำนักงานและที่พักอาศัย การตรวจสอบจุดตันของท่อ และสำรวจว่าวัสดุอะไรที่เข้าไปอุดตันท่อ เพื่อเลือกแนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงจุดนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความปวดหัวให้เจ้าของพื้นที่ไม่น้อย เพราะหลายครั้งการแก้ปัญหาท่อตันมาพร้อมกับการรื้อ ทุบ ทะลวง ทั้งท่อและพื้นผิวบริเวณใกล้เคียง

จะเป็นอย่างไร หากเรามีอุปกรณ์ที่สามารถเอกซ์เรย์ท่อเพื่อค้นหาจุดตันที่แม่นยำ รวมไปถึงตรวจสอบลักษณะของสิ่งที่เข้าไปอุดตันท่อ เราจะแก้ปัญหาท่อตันได้ง่าย รวดเร็ว และตรงจุดกว่าไหม

ในฐานะบัณฑิตวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณศุภณัฐ ลีละภมรกิจ เสนอแนวทางตรวจสอบท่อตันด้วยอุปกรณ์และการใช้รังสีแกมมา

คุณศุภณัฐ ลีละภมรกิจ นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรดิชั่น เทสติ้ง จำกัด
คุณศุภณัฐ ลีละภมรกิจ นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรดิชั่น เทสติ้ง จำกัด

“คนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า “รังสี” “นิวเคลียร์” ก็จะนึกถึงอันตราย แต่จริง ๆ แล้ว มันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน คือมีทั้งโทษและประโยชน์ อยู่ที่เราว่าจะหยิบเอาสิ่งไหนมาใช้ การเรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของรังสีอย่างแท้จริงว่าต้นกำเนิดรังสีแต่ละตัวมีพฤติกรรมอย่างไร เราจะควบคุมรังสีอย่างไรเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ และป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง”

คุณศุภณัฐตั้งใจจะปั้นธุรกิจ Startup มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จนเมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2567  คุณศุภณัฐก็ลงมือประกอบธุรกิจทันที โดยก่อตั้งบริษัทเรดิชั่น เทสติ้ง จำกัด บริษัทแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่รับตรวจสอบวัสดุอุดตันในระบบสุขาภิบาลและดับเพลิงสำหรับภาคครัวเรือนโดยใช้รังสีแกมมา

“ปัญหานี้มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่มีใครริเริ่มที่จะแก้ไข และธุรกิจนี้ยังไม่มีคู่แข่ง ถ้าไม่ทำ (ธุรกิจ) ผมจะเสียดายมาก เพราะเราเรียนมา มีความรู้ มีเครื่องมือ มีประสบการณ์ มีคนดูแลระบบ มีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำ – เหลือที่การตัดสินใจของเราที่จะเริ่มต้น แค่นั้นเลย! เมื่อทุกอย่างพร้อมอย่างนี้ ก็เลยลองเริ่มดูดีกว่า” คุณศุภณัฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรดิชั่น เทสติ้ง จำกัด กล่าว

การตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อสุขาภิบาลภายในอาคารเป็นไอเดียธุรกิจที่จุดประกายขึ้นในการเรียนวิชา “การตรวจสอบโดยไม่ทำลาย หรือ Non-Destructive Testing (NDT)”

“การตรวจสอบโดยไม่ทำลายใช้เป็นบทเรียนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น ตรวจสอบท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งแก๊ส หรือของเหลวต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตว่ามีอะไรรั่วซึมหรืออุดตันหรือไม่ จากการได้ลองศึกษาและได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีพบว่าภาคครัวเรือนก็มีปัญหาแบบเดียวกัน ผมเลยเกิดไอเดียมาประยุกต์ใช้กับระบบท่อในภาคครัวเรือน เพราะเป็นวิธีที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว และไม่ทำลายพื้นผิวภายนอกเพื่อหาวัสดุอุดตันภายใน” 

นอกจากความรู้ในห้องเรียนแล้ว คุณศุภณัฐยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการร่วมงาน Open House ของคณะวิศวกรรมศาสตร์

“สมัยเป็นนิสิต ผมเคยร่วมงาน Open House อยู่ในบูธตรวจสอบต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอุปกรณ์สแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมา โมเดลแรกเป็นโครงสร้างใหญ่และเสียบไว้กับโฟล์คลิฟท์ ทำให้ได้เห็นปัญหาและข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ทั้งการติดตั้งและการวัด เลยพยายามจดบันทึกว่าจะแก้ไขอะไรได้บ้าง พอได้ร่วมงานเป็น staff ในงาน Open House อีกครั้ง และได้เป็นคนติดตั้งอุปกรณ์ใช้งาน ยิ่งทำให้เราเห็นปัญหาของโมเดลที่สองที่ควรจะปรับแก้ไขเพิ่มเติม”

คุณศุภณัฐนำประสบการณ์และปัญหาต่าง ๆ จากการสังเกตและจดบันทึกไว้มาพัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบสิ่งอุดตันในตัวอาคารโดยใช้รังสีแกมมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ภาควิชานิวเคลียร์และรังสีและภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาช่วยออกให้คำแนะนำจนเป็นโมเดลที่ใช้ในบริษัทในปัจจุบัน

การทำงานของอุปกรณ์ตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อสุขาภิบาลใช้หลักการส่งผ่านรังสีแกมมา (Gamma Transmission) ซึ่งคุณศุภณัฐอธิบายให้เข้าใจง่ายว่าเหมือนกับการเอกซ์เรย์ปอด

“เมื่อมีการส่งรังสีผ่านร่างกาย แล้วแสดงเป็นภาพขาวดำบนฟิล์มเอกซ์เรย์ หากรังสีผ่านอวัยวะที่เป็นโพรงหรือปอด ภาพจะออกมามืด เพราะรังสีผ่านได้มาก แต่ถ้าเจอกระดูกซึ่งเป็นวัสดุหนาแน่นรังสีจะผ่านได้น้อย ทำให้ภาพส่วนนั้นสว่าง”

หลักการเดียวกันนี้นำมาใช้กับการตรวจสอบวัสดุในท่อว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่

“รังสีเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง ที่ทะลุผ่านวัสดุใดวัสดุหนึ่ง ถ้าท่อไม่ได้มีการอุดตัน ปริมาณรังสีที่ทะลุผ่านก็จะสามารถอ่านค่าได้มากถือเป็นค่าปกติ ถ้ามีวัสดุอุดตันอยู่หรือมีอะไรที่ขวางกั้นระหว่างต้นกำเนิดรังสีและหัววัดรังสี ค่ารังสีที่อ่านได้ก็จะลดลง หลักการพื้นฐานมีแค่นี้ ที่เหลือก็คือการจัดเตรียมอุปกรณ์การวัดรังสีให้เหมาะสมกับหน้างานมากขึ้น”

วัสดุอุดตันที่พบบ่อยที่สุดคือเศษปูน เศษหิน และเม็ดทราย
วัสดุอุดตันที่พบบ่อยที่สุดคือเศษปูน เศษหิน และเม็ดทราย

บริษัท เรดิชั่น เทสติ้ง พัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อสุขาภิบาลภายในอาคารประกอบด้วยเครื่องมือ 2 ชนิด คือ

1. เครื่องตรวจหาสิ่งอุดตัน ใช้สวมและรูดไปตามแนวท่อเพื่อหาสิ่งอุดตันในท่อ การแสดงผลเป็นสเกลสี (color scale) ไล่ระดับตั้งแต่สีเขียว สีเหลือง จนถึงสีแดง

  • สีเขียวเข้มจนถึงเขียวอ่อน หมายถึงไม่มีสิ่งอุดตันไม่จำเป็นต้องแก้ไข
  • สีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองเข้ม หมายถึงมีสิ่งอุดตันยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขแต่ให้ควรเฝ้าระวังไว้
  • สีส้มจนถึงสีแดง หมายถึงมีสิ่งอุดตันและจำเป็นต้องแก้ไข
เครื่องตรวจหาสิ่งอุดตัน ใช้สวมและรูดไปตามแนวท่อเพื่อหาสิ่งอุดตันในท่อ
เครื่องตรวจหาสิ่งอุดตัน ใช้สวมและรูดไปตามแนวท่อเพื่อหาสิ่งอุดตันในท่อ

2. เครื่องวัดระดับของสิ่งอุดตัน ตรวจสอบความสูงของสิ่งอุดตันในท่อ ระบุถึงความหนาแน่นของวัสดุอุดตันว่ าใกล้เคียงกับวัสดุใด เช่น ถ้ามีความหนาแน่นไม่มากอนุมานได้ว่าคือทราย ถ้าความหนาแน่นมากคือปูน ถ้าหนาแน่นน้อยมากอาจจะเป็นดินหรือใบไม้

เครื่องวัดระดับของสิ่งอุดตัน ตรวจสอบความสูงของสิ่งอุดตันใน
เครื่องวัดระดับของสิ่งอุดตัน ตรวจสอบความสูงของสิ่งอุดตันใน

คุณศุภณัฐกล่าวว่าการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบขึ้นอยู่กับหน้างาน แต่ละโครงการมีความหลากหลาย การวางตำแหน่งท่อขึ้นอยู่กับผู้รับเหมา 

“เราต้องออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่หน้างาน เรามีชิ้นส่วน (spare part) ไว้หนึ่งชุดอยู่แล้ว เมื่อเวลาไปตรวจสอบหน้างานแล้วพบว่าต้องใช้อุปกรณ์แบบใด เราก็จะเปลี่ยนคานยึดและเปลี่ยนข้อต่อก็สามารถใช้งานได้แล้ว”

อุปกรณ์ตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อสุขาภิบาลสามารถตรวจสอบได้เฉพาะท่อลอย สำหรับท่อหลังผนัง ใต้ฝ้าเพดาน ท่อในพื้นดิน คุณศุภณัฐและทีมบริษัทเรดิชั่น เทสติ้ง ได้พัฒนา endoscope – กล้องขนาดเล็กที่สามารถสอดเข้าไปในท่อได้เล็กที่สุดขนาด 1 นิ้วครึ่ง

“การทำงาน คือ สอดเข้าไปตามแนวท่อเพื่อตรวจสอบสิ่งอุดตัน ขณะนี้กล้องสามารถเข้าไปลึกที่สุดได้ 5 เมตร ทางบริษัทฯ กำลังพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถเข้าไปลึกที่สุดได้ 25 เมตรสำหรับการตรวจสอบท่อใต้ดินในอนาคต” 

การแสดงผลสิ่งอุดตันภายในท่อเป็น color scale ไล่ระดับตั้งแต่สีเขียว สีเหลือง จนถึงสีแดง
การแสดงผลสิ่งอุดตันภายในท่อเป็น color scale ไล่ระดับตั้งแต่สีเขียว สีเหลือง จนถึงสีแดง
การแสดงผลถึงถึงตำแหน่งที่อุดตันและชนิดของวัสดุอุดตัน
การแสดงผลถึงถึงตำแหน่งที่อุดตันและชนิดของวัสดุอุดตัน

การตรวจสอบวัสดุอุดตันท่อสุขาภิบาลภายในอาคารโดยใช้รังสีแกมมามีความแม่นยำสูงสุด คุณศุภณัฐกล่าว “หลังจากที่ได้ลงพื้นที่หน้างานจริง เราสามารถบอกตำแหน่งที่ชัดเจนถึงระดับเซนติเมตรได้เลยว่าช่วงตรงนี้มีวัสดุอุดตัน เลยได้รับความพึงพอใจจากทางลูกค้าว่าระบุตำแหน่งที่แม่นยำและสามารถบอกวัสดุที่อุดตันได้จริง ๆ ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกที่จะใช้วิธีแก้ไขตามวัสดุที่อุดตันนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม”

แม้จะมีประสิทธิภาพและความแม่นยำ แต่สิ่งที่หลายคนยังกังวลใจ คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งในเรื่องนี้ คุณศุภณัฐให้ความมั่นใจ คือ

  1. ที่มาของรังสี “รังสีที่เรานำมาใช้เป็นรังสีแกมมาจากต้นกำเนิดรังสีอะเมริเซียม 241 เป็นหลัก ตัวรังสีได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาควิชาฯ ซึ่งเรามีเอกสารการขอยืมก่อนจะนำมาใช้งานแล้ว”
  2. เทคนิค “เทคนิคของเรามีความปลอดภัยจริง วิธีการ คือ เราจะตรวจสอบรังสีในสิ่งแวดล้อมหน้างานแต่ละจุดก่อนปฏิบัติงานว่ามีค่าปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่เท่าไร พอปฏิบัติงานเสร็จแล้วก็จะตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบว่าค่ารังสีก่อนและหลังตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันแสดงว่าอุปกรณ์ไม่ได้ทิ้งสิ่งตกค้างทางรังสีที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย”
การวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมก่อนและหลังการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย
การวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมก่อนและหลังการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย

แม้จะออกมาตั้งบริษัทแล้ว แต่คุณศุภณัฐก็มักจะปรึกษาและขอคำแนะนำจากอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีอยู่เสมอ

“เวลาลงทำงานหน้างานและเจออุปสรรคทางเทคนิค ผมกลับไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์และได้คำตอบกลับมาเสมอ อาจารย์ทางภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีช่วยเหลือเรื่องปัญหาทางเทคนิคได้มาก ลักษณะงานบางครั้งก็เกินขอบเขตที่เรียนไป อาจารย์จะแนะนำได้ว่าถ้าหน้างานเป็นแบบนี้ ลองใช้เครื่องมือแบบไหนถึงจะเหมาะสม เราเลยต้องประสานงานกับอาจารย์ภาควิชานิวเคลียร์และรังสีอยู่เรื่อย ๆ”

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่อติดกับเพดานเราจะตรวจสอบด้วยรังสีอย่างไร จากเดิมที่เรียนมาตลอด คือ หัววัดกับรังสีจำเป็นต้องทำมุมอย่างน้อย 180 องศาคือต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามถึงจะตรวจสอบได้ แต่อาจารย์ก็ให้เทคนิคว่าถ้าเราไม่สามารถตรวจได้เพราะติดเพดาน เราก็ลองฉายรังสีเป็นมุมเยื้องดู จากมุม 180 เป็น 130 องศา 120 องศา หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือ 90 องศา เป็นการยิงรังสีแบบเฉียด ๆ ผ่าน ๆ แล้วมาทดลองดูว่าพอที่จะแสดงผลการอุดตันได้หรือเปล่า ปรากฏว่าหลังจากที่ทดลองก็แสดงผลการอุดตันได้จริง เราก็เลยได้นำมาปรับใช้กับหน้างานได้”

ทั้งหลักการส่งผ่านรังสีแกมมาและการออกแบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การตรวจสอบท่ออุดตันในอาคาร แต่ยังสามารถใช้กับงานอื่น ๆ ได้  เช่น การตรวจสอบโพรงในต้นไม้ และการตรวจสอบความแข็งแรงของเสาทางสถาปัตยกรรม บริษัท เรดิชั่น เทสติ้ง จึงรับงานตรวจสอบโพรงต้นไม้และตรวจความแข็งแรงของเสาด้วย

คุณศุภณัฐกล่าวว่าเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบโพรงต้นไม้เป็นเครื่องมือที่พัฒนาต่อยอดจากโมเดลที่เคยเห็นในภาควิชาเมี่อครั้งยังเป็นนิสิต

“การตรวจสอบต้นไม้ใช้เทคนิคการส่งผ่านรังสีเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามีการออกแบบอุปกรณ์ให้สะดวกรวดเร็วและง่ายต่อการทำงานมากยิ่งขึ้น โมเดลที่ภาควิชา ใช้คนมาเซตอัพตัวเครื่องก่อนที่จะตรวจและตรวจหลายระดับความสูง สำหรับเครื่องมือของเราสามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้ทั้งหมด จากตรวจต้นไม้ 1 ต้นเฉลี่ยต้องตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง เราพยายามปรับอุปกรณ์ให้สามารถตรวจแล้วเสร็จประมาณ 10 นาที”

“โมเดลที่เราพัฒนาขึ้นจะมีลักษณะคล้ายรถกระเช้าเข้าไปเสียบกับต้นไม้ สแกน 2 แกนได้ภายในครั้งเดียว ไม่จำเป็นต้องสแกนด้านในด้านหนึ่งแล้วหมุนอุปกรณ์ แล้วสามารถยกและเปลี่ยนระดับสแกนได้เลย อุปกรณ์กำลังอยู่ในการพัฒนาและจะเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปีนี้” 

นอกจากนี้ยังมีการบริการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเสาว่ามีความหนาแน่นพอที่จะรับน้ำหนักหลังคาหรือเปล่า การตรวจสอบเป็นการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย ผลงานที่ผ่านมาคือตรวจสอบเสาในโบสถ์เก่าแก่อายุ 400 ปี ที่จังหวัดเพชรบุรี

“ตัวโบสถ์ใช้เสาไม้ทั้งต้น มีการบูรณะแล้วทำหลังคาเป็นปูนจึงทำให้เสาไม้ไม่สามารถรับน้ำหนักหลังคาปูนได้ เรามีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตัวเสาว่าต้นไหนยังแข็งแรงอยู่ เสาต้นไหนที่สูญเสียความสามารถในการรับน้ำหนักไปแล้วเพื่อที่จะตัดเสาต้นนั้นแล้วเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบอื่น เราทำงานประสานงานกับผู้รับเหมาที่ถูกว่าจ้างด้วยกรมศิลปากร เพื่อที่จะอนุรักษ์โบสถ์เก่าไว้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตรวจอย่างละเอียด”

ตัวอย่างของเสาโครงสร้างที่มีโพรงอยู่ภายใน
ตัวอย่างของเสาโครงสร้างที่มีโพรงอยู่ภายใน

อุตสาหกรรมรังสีนิวเคลียร์และรังสีในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนักในปัจจุบัน แตกต่างจากในต่างประเทศที่มีการใช้งานมากในหลายอุตสาหกรรม ด้วยความที่ในไทยขาดผู้เชี่ยวชาญ ขาดกำลัง ขาดคนที่จะมาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนี้อยู่

“ถ้าเราเชี่ยวชาญมากพอ มีความรู้ มีทักษะ มีไอเดีย ก็เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตก่อนคนอื่น”

ในฐานะผู้ประกอบการ “เมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด” คุณศุภณัฐกล่าวว่าในอนาคต บริษัทเรดิชั่น เทสติ้ง จะไม่เพียงใช้รังสีแกมมาตรวจสอบวัสดุอุดตันในท่อภายในอาคาร แต่ยังมุ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือการวัดและตรวจสอบจุดอุดตันและโพรงด้วยรังสีแกมมาในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนทุกรูปแบบ

ติดต่อสอบถามบริษัทเรดิชั่น เทสติ้ง จำกัด ได้ที่โทร. 096-661-9899 หรือ https://www.radiation-testing.com/

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า