รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 เมษายน 2564
ผู้เขียน ชาติสยาม หม่อมแก้ว
นักวิจัยจุฬาฯ พบ “รูติน” สารสกัดจากเปลือกส้มฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ อยู่ในช่วงพัฒนาเป็นยา ชี้งานวิจัยยายังจำเป็นคู่กับการวิจัยวัคซีน แนะคนไทยปรับมุมมองสมุนไพรเพื่อสร้างมูลค่า
ทั่วโลกเร่งรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ทุกวิถีทาง ทั้งการวิจัยวัคซีนและคิดค้นยารักษาหรือต้านเชื้อไวรัส สมุนไพรหลายชนิดถูกเอ่ยถึงสรรพคุณทางยาที่อาจเป็นทางเลือกและทางออกในการยับยั้งโรคระบาด จุฬาฯ ในฐานะผู้นำการศึกษาวิจัยสมุนไพรเพื่อค้นหาสารเคมีที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 จึงได้จัดเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 3 เรื่อง “นวัตกรรมยาสมุนไพรรักษา โควิด-19” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย อ.ดร.กิตติคุณ วังกานนท์ และ ผศ. ดร. ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร. พญ. ศิวะพร บุณยทรัพยากร อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมอัพเดทความคืบหน้าของงานวิจัยและการศึกษาพืชสมุนไพรไทยเพื่อใช้ผลิตเป็นยาแผนปัจจุบัน
โปรตีเอส (Protease) เป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนตัวแรกๆ ในไวรัสโคโรนา 2019 ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนสนใจศึกษา ตามด้วยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทย ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นที่แรกและที่เดียวที่ศึกษาโครงสร้างโปรตีเอสของเชื้อโควิด-19 ที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้ในระดับโมเลกุล
“กลุ่มวิจัยของเราศึกษาเชื้อโควิดถึงระดับโมเลกุล เราเอาผลึกโปรตีเอสส่งไปยิงเอ๊กซเรย์จนเห็นหน้าตาของมัน รู้ว่า “ตัว” (อนุมานเหมือนปากหรือฟันของเชื้อโรค) ที่ไปย่อยโปรตีนของไวรัสเพื่อให้โปรตีนของไวรัสไปทำหน้าที่ต่าง ๆ กันได้มีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะใช้โครงสร้างทางเคมีใดไปอุดมันได้” อ.ดร.กิตติคุณ อธิบาย
“ทำไมต้องทำวิจัยกับโปรตีเอส? ก็เพราะโปรตีเอสนี่แหละจำเป็นต่อวงจรชีวิตของไวรัส เป็นตัวที่เข้าไปย่อยโปรตีนอื่นๆ ที่ไวรัสสร้างขึ้นให้อยู่ในรูปที่ทำงานได้ นอกจากนี้ โปรตีเอสยังเป็นตัวที่ไม่ค่อยเปลี่ยนตำแหน่งในโครงสร้างของไวรัส แม้เชื้อจะกลายพันธุ์ก็ตาม”
ทีมวิจัยของจุฬาฯ ได้ศึกษาสารเคมีในสมุนไพรกว่า 300 ชนิด ทั้งจากสารสกัดและจากแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ และพบว่าสมุนไพรหลายชนิดมีสารกลุ่มสารฟลาโวนอยด์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งโปรตีเอสในเชื้อโควิดได้
“เมื่อทดสอบจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วว่าสารตัวนั้นๆ น่าจะยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ ก็จะเป็นขั้นตอนของการดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารนั้นๆ สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นสารตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้มีความจำเพาะในการออกฤทธิ์ในการจับตัวและยับยั้ง “โปรตีเอส”
“จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับเชื้อไวรัสหรือโปรตีเอสในหลอดทดลอง พร้อมๆ กับการใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย การทำงานของเราจะวนลูปทดสอบซ้ำๆ อยู่อย่างนี้ จนกว่าเราจะได้สารที่เราคิดว่าดีมากหรือน่าสนใจมากจริงๆ จึงจะนำไปสู่ขั้นการทดลองในสัตว์และคน” อ.ดร.กิตติคุณ กล่าว
รูติน (Rutin) เป็นสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ชนิดหนึ่ง มีสมบัติเด่นในการต้านอนุมูลอิสระ การอักเสบ เชื้อไวรัส และเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นสารสกัดที่นักวิจัยหลายกลุ่มในต่างประเทศให้ความสนใจ นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดว่าน่าจะสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
“รูตินอยู่ภายในพืชเกือบทุกชนิด ไม่เฉพาะในผิวเปลือกของพืชตระกูลส้ม เพียงแต่ในเปลือกส้มพบสารรูตินในปริมาณที่สูง อีกชนิดที่มีสมบัติเช่นเดียวกับสารรูตินคือไบคาเลอิน (Baicalein)พบมากในเปลือกต้นเพกาซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรินทร ชวศิริ จากภาควิชาเคมี ได้ดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารทั้งสองชนิดให้แตกต่างไปจากองค์ประกอบของสารตามธรรมชาติก่อนนำไปทดสอบ” อ.ดร.กิตติคุณ กล่าวต่อ
กลุ่มวิจัยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นกลุ่มแรกที่สามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพของรูตินว่าได้ผลจริงในการต้านไวรัสโควิด-19ในหลอดทดลอง และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าว
บทเรียนจากภัยเชื้อโรคระบาดในอดีตบอกมนุษย์ว่า ลำพังเพียงการพึ่งวัคซีนไม่อาจรับมือกับขนาดและระยะเวลาของการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของการระบาดของเชื้อไวรัสแต่ละชนิดไม่เท่ากัน อย่างอีโบล่า แม้ระบาดในวงแคบแต่ก็รุนแรงถึงตาย ขณะที่หวัด หวัดใหญ่ โคโรนาไวรัส ระบาดหนักเป็นวงกว้างในระยะแรก ระยะต่อไปอีกหลายปีก็จะเริ่มลดความรุนแรงลงตามธรรมชาติและกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด เพราะฉะนั้น การเริ่มค้นหายารักษาควบคู่การฉีดวัคซีนจึงเป็นภารกิจสำคัญ
“เราจะฝากความหวังกับวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ เราไม่รู้เลยว่าวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อในระยะยาวได้หรือไม่ หรือต้องผลิตใหม่ทุกปี วัคซีนไข้หวัดที่เราฉีดกันทุกปีก็ต้านไวรัสได้เพียง 3-4 สายพันธุ์ที่ทางสาธารณสุขเลือกมาแล้วว่าน่าจะระบาดในปีนี้ ปีหน้าก็อาจเป็นตัวอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลิตยารักษาโรคด้วย” อ.ดร.กิตติคุณ ย้ำความสำคัญของการเร่งวิจัยและผลิตยา
ต้นทุนจากประสบการณ์ความรู้เดิมคราวเชื้อไวรัสซาร์สและเมอร์สแพร่ระบาดเมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้การผลิตวัคซีนโควิด-19 รวดเร็วขึ้นมาก แต่การผลิตยาเพื่อรักษาจะต่างออกไป จำเป็นต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว
“การพัฒนายาเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานมาก และเราก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์แน่นอน อย่าลืมว่าที่นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้เร็วก็เพราะความรู้เดิมเกี่ยวกับไวรัสเมอร์สและซาร์สก่อนหน้านี้ รวมทั้งจุดเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์ของไวรัส หรือแม้แต่ในอนาคตหากเกิดเชื้อไวรัสตัวใหม่ระบาด เราก็จะไม่เริ่มต้นจากศูนย์ ในส่วนของยาก็เช่นเดียวกัน ในอดีตเราพัฒนายาต้านไวรัสเอชไอวีได้เร็วเพราะเรามีการศึกษายาในกลุ่มใกล้เคียงกันสำหรับไวรัสชนิดอื่นอยู่แล้ว” อ.ดร.กิตติคุณ กล่าว
ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรหลายชนิด ตำรับยาไทยที่กล่าวถึงสรรพคุณพืชสมุนไพรมากมาย คนไทยมีชีวิตคุ้นเคยกับการใช้ยาสมุนไพรหลายตัว เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาวและดำ ว่านชักมดลูก เป็นต้น แต่ขาดการต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญาให้เป็นยาแผนปัจจุบัน
“ในมุมมองของผม ชนิดของสมุนไพรไม่ได้สำคัญมากไปกว่าสารเคมีที่อยู่ภายใน ยาแผนปัจจุบันกับยาสมุนไพรนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย เพราะมันก็คือสารเคมีที่เข้าไปทำจับกับโปรตีน ดีเอ็นเอ หรือเซลล์ของเราเหมือนกัน”
อ.ดร.กิตติคุณ อธิบายว่า สมุนไพรโดยทั่วไปมีสารประกอบหลายชนิด บางชนิดอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียง (side effect) กับร่างกาย หรือมีความเป็นพิษได้ แต่การวิจัยสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยาเป็นเรื่องที่ต่างออกไป นักวิจัยจะดึงเอาสารที่ออกอฤทธิ์เฉพาะ แล้วตัดสารประกอบอื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไป แล้วดัดแปลงโครงสร้างมันให้ดีที่สุดจนกระทั่งเป็นยา
“หากมองในมุมของเศรษฐกิจ การป่นสมุนไพรไปอัดใส่แคปซูล มันคือการวนเวียนขายแต่ของราคาถูกซ้ำๆ แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศอื่นก็ไม่ต้องมาพึ่งของแบบนี้จากเรา ในขณะที่ต่างประเทศ เมื่อค้นพบสารเคมีสำคัญในพืชสมุนไพรก็จะต่อยอดเป็นยาแผนปัจจุบันที่ระบุสรรพคุณ ความเป็นพิษ ขนาดและวิธีการใช้ชัดเจน แล้วย้อนกลับมาขายคนไทยในราคาแพง นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องข้ามผ่านให้ได้ เราอาจต้องมองอีกมุมด้วยว่าทำไมเราไม่ใช้คำว่า “สมุนไพรฝรั่ง” กับยาแผนปัจจุบันหลายตัว ” อ.ดร.กิตติคุณ กล่าวทิ้งท้าย
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้