สเปรย์ฆ่าเชื้อโควิด สูตรถนอมมือ ไร้แอลกอฮอล์ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพจากจุฬาฯ

นักวิจัยจุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทดแทนสเปรย์แอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโควิดรวดเร็ว ถนอมผิว รับรองคุณภาพด้วยสิทธิบัตรระดับชาติ พร้อมได้รับคัดเลือกเป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ของที่ระลึกในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
การฉีดสเปรย์หรือทาเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมออาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ก็ต้องแลกกับมือแห้ง ยิ่งใช้สเปรย์แอลกอฮอล์บ่อย มือยิ่งแห้งและคัน นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมาเพื่อพัฒนานวัตกรรม “น้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรค Medical Antiseptic and Moisturizing Spray” ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 และแบคทีเรียได้ภายใน 1 นาที

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เราคิดค้นผลิตภัณฑ์นี้เพื่อใช้ทดแทนสเปรย์แอลกอฮอล์ โดยไม่มีผลข้างเคียง ไม่ระคายเคืองผิว และไม่ก่อให้เกิดไฟ ที่สำคัญ ต้นทุนน้ำยาถูกกว่าแอลกอฮอล์ด้วย” ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ กล่าว
ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรค Medical Antiseptic and Moisturizing Spray จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นของที่ระลึกในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ2564 (Thailand Research Expo 2021) ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ หัวหน้าหน่วยวิจัย Nanomedicine Research Unit และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ส่งต่อแนวคิดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทดแทนแอลกอฮอล์ให้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ กล่าวเสริมถึงที่มาของการวิจัยนี้ว่า “ในช่วงที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน แต่เมื่อใช้แอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ และบ่อยๆ ก็ทำให้ผิวแห้ง เกิดการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นประจำ จะพบปัญหาเยอะ เราจึงคิดว่าต้องมีน้ำยาฆ่าเชื้อสูตรที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์”

หัวหน้าหน่วยวิจัย Nanomedicine Research Unit และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Medical Antiseptic and Moisturizing Spray ทางเลือกใหม่ของสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค ถนอมผิว ใช้ได้ทั่วผิวกาย
ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เสียทีเดียว ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ กล่าว แต่เกิดจากการเลือกของที่มีอยู่แล้วมาบวกกันให้เกิดเป็นคุณสมบัติใหม่ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและราคาย่อมเยา
“เราใช้สารที่มีผนังเยื่อหุ้มเซลล์เป็นประจุบวกเพื่อให้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโควิด ซึ่งเป็นประจุลบให้แตกและตาย และยังได้เพิ่มสารประกอบบางอย่างลงไปในน้ำยาเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ของไวรัส ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการฆ่าเชื้อดีขึ้น” ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ อธิบาย และเสริมว่าสารประกอบต่างๆ ในผลิตภัณฑ์เป็นสารเคมีที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพต่างๆ ได้แก่ เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

คุณสมบัติเด่นอีกประการของผลิตภัณฑ์ นอกจากจะฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคแล้ว ยังถนอมผิวผู้ใช้ด้วย
“แอลกอฮอล์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวผู้ใช้และอาจก่อให้เกิดการติดไฟได้ เราจึงคิดค้นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสูตรน้ำแทน ซึ่งนอกจากจะไม่ระคายผิวแล้ว ยังไม่ระเหยง่ายเหมือนแอลกอฮอล์ด้วย เพราะฉะนั้น น้ำยาจึงสามารถติดอยู่บนผิวได้นาน นำไปพ่นกับหน้ากากอนามัยหรือเสื้อผ้าก็จะสามารถติดอยู่ได้ ทำให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าแอลกอฮอล์”
ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ ชี้จุดเด่นในการใช้นวัตกรรมชิ้นนี้ว่า “ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อมาในรูปแบสเปรย์ ใช้พ่นผิวกายและบริเวณอื่นๆ ที่ต้องการ ให้ความชุ่มชื้น และทำความสะอาดโดยไม่ต้องล้างน้ำออก สามารถพ่นซ้ำๆ ได้ทุก 4 ชั่วโมง แต่ให้หลีกเลี่ยงการพ่นบริเวณดวงตา เยื่อบุผิวช่องปากและจมูก และเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 2 ปี”


ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้จดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิบัตรระดับชาติเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เพื่อนำไปจัดจำหน่าย อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัยก็เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่สนใจนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cmic.chula


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย