Highlights

ศิลปะที่มองไม่เห็นของเด็กตาบอด แม้โลกมืดก็เข้าถึงสุนทรียะในชีวิตได้


นิสิตปริญญาโท ครุศาสตร์ จุฬาฯ เสนอแนวทางศิลปะและกิจกรรมศิลปะสนุกๆ 4 แบบ เพื่อสร้างประสบการณ์สุนทรียะสำหรับเด็กประถมศึกษาที่บกพร่องทางการเห็นและตาบอดสนิท


เพราะความงามอยู่ที่ใจ สายตาและการเห็นจึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการเข้าถึงความหมายของศิลปะและสนุทรียะของเด็กตาบอดสนิทและเด็กที่การเห็นเลือนราง เด็กๆ ในโลกมืดก็สามารถสร้างสรรค์และเป็นศิลปินได้แม้จะมองไม่เห็น

นางสาวจิราพร พนมสวย

นี่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่นำทางให้นางสาวจิราพร พนมสวย นิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษากิจกรรมด้านศิลปะในโรงเรียนเด็กตาบอดและนำเสนอผลงานวิจัย “กิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างประสบการณ์สุนทรียะสำหรับเด็กประถมศึกษาที่บกพร่องทางการเห็น” เพื่อให้แนวทางกับครูและผู้ปกครองในการส่งเสริมมุมมองด้านศิลปะให้เด็กพิการทางสายตาที่มีระดับการมองเห็นเลือนรางไปจนถึงตาบอดสนิท

“เด็กตาบอดมีศักยภาพในตัวเองมาก การมองไม่เห็นไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาพัฒนาชีวิตของน้องเลย เขาสามารถใช้ชีวิตหรือแม้แต่เข้าใจงานศิลปะได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องปรับรูปแบบหรือวิธีการให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเขา” นางสาวจิราพร กล่าว

“ในงานวิจัยนี้เราเน้นพัฒนาประสบการณ์ศิลปะและสุนทรียะสำหรับกลุ่มเด็กตาบอด ซึ่งแม้เขาจะมองไม่เห็น แต่เขายังใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่ยังมี อย่างเช่น การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่นเพื่อรับรู้และสร้างสรรค์ศิลปะได้” จิราพรหวังว่าผลงานวิจัยจะช่วยน้องๆ กลุ่มเด็กตาบอด

ศิลปะแบบ ‘MATA’

มีการศึกษาวิจัยมากมายที่ชี้ว่าศิลปะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็ก แต่จากการสัมภาษณ์ผู้สอนกลุ่มเด็กบกพร่องทางสายตาในโรงเรียนสอนเด็กตาบอด นางสาวจิราพรพบว่าในชั้นเรียนของเด็กตาบอดดูจะไม่เน้นประสบการณ์ศิลปะและสุนทรียภาพ เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจในการนำหลักศิลปะ ‘MATA’ มาออกแบบกิจกรรมที่จะกระตุ้นสุนทรียะของเด็กตาบอดไปพร้อมกับการเรียนรู้

หลักของศิลปะ ‘MATA’ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ประกอบด้วย 4 แนวทาง อันเป็นที่มาของตัวย่อ MATA ได้แก่

  1. Multiple Sensories พหุประสาทสัมผัส เน้นการกระตุ้นประสาทสัมผัสโดยใช้การสัมผัส การฟังเสียง การดมกลิ่นในกรณีที่เด็กมีระดับการมองเห็นเลือนราง
  2. Aesthetical Teaching วิธีการสอนเชิงสุนทรียะสำหรับช่วงวัย 6-12 ปี เน้นความสนุกสนาน เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่องานศิลปะหรือสิ่งที่อยู่ในกิจกรรม การสอนเรื่องความเหมือนจริงโดยการพาไปสัมผัสสถานที่จริง รับประสบการณ์ตรงผ่านการทำจริงหรือเปรียบเทียบกับของจริง สอนเรื่องเทคนิคของศิลปินที่จะสอดแทรกเข้าไปในในความเป็นศิลปะ 
  3. Tactile Media การเลือกใช้สื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่มีพื้นผิวเป็นกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่นๆ โดยการใช้อุปกรณ์ที่สามารถสัมผัสได้ เช่น ดินน้ำมัน หรือสื่อภาพนูนที่มีความนูนขึ้นมาให้เด็กสามารถสัมผัสได้หรือใช้ดนตรีในการกระตุ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีอุปกรณ์รวมกันไม่เกิน 10 ชิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสับสนเนื่องจากอุปกรณ์มีมากเกินไป
  4. Assessment การวัดและประเมินผล ประเมินผลจากการสังเกต สอบถามเด็กขณะทำกิจกรรมตลอดเวลา

4 แนวกิจกรรมศิลปะแสนสนุก

จากหลักศิลปะ MATA 4 ประการข้างต้น นาวสาวจิราพรได้ออกแบบเป็นกิจกรรมศิลปะสนุกๆ  4 กิจกรรม ที่ผู้สอนสามารถนำไปใช้กับเด็กๆ ได้

  1. ละเลงศิลปะบนผนังถ้ำ เป็นการพาเด็กๆ ย้อนเวลาไปสนุกกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนผนังถ้ำ โดยจำลองบทบาทสมมุติให้เด็กๆ ลอดใต้ผนังถ้ำ ซึ่งอาจใช้โต๊ะเรียนวางต่อกันให้เด็กลอดเป็นการจำลองความแคบของถ้ำ ปลายทางที่เป็นผนังถ้ำจำลองใช้กระดาษขยำให้มีความขรุขระคล้ายถ้ำจริง เพื่อให้เด็กใช้ประสาทสัมผัส พร้อมฟังเสียงครูบรรยายตลอดกิจกรรม และสอดแทรกการเล่าเรื่องว่าศิลปินสมัยนั้นใช้เทคนิคอะไรในการสร้างผลงาน จากนั้นก็ให้เด็กๆ ใช้มือของตัวเองเป็นแม่พิมพ์ ฝึกการดีดสี จุ่มสี ทาสีรอบฝ่ามือ ซึ่งเด็กที่ตาบอดสนิทและตาบอดเลือนรางจะช่วยเหลือกันระหว่างทำกิจกรรมเป็นผลงานกลุ่ม ปิดท้ายด้วยการล้อมวงเล่าเรื่องราวของถ้ำที่ได้สร้างสรรค์ร่วมกัน
  2. นิทานใบไม้ เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยการพาเด็กๆ ไปสวนธรรมชาติ สำรวจใบไม้ กิ่งไม้ เก็บมาสร้างสรรค์เป็นตัวละครนิทานใบไม้ ให้เด็กอธิบายคาเรคเตอร์ กล่าวถึงลักษณะนิสัยของตัวละคร แลกเปลี่ยนกันสัมผัสและชื่นชมความงามผลงานของตนเองและของเพื่อน นำมาร้อยเรียงเป็นนิทานเรื่องเดียวกัน กระตุ้นการรับฟัง การมีส่วนร่วม และการยอมรับในสังคม
  3. เขียนเส้นเล่นอารมณ์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เทคนิคการใช้เส้น ทั้งเส้นตรง เส้นหยัก เส้นโค้ง ฯลฯ ใช้สื่อภาพนูนโดยการใช้เส้นแปะลงบนกระดาษและอธิบายลักษณะเส้นต่างๆ ว่าให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างไร จากนั้นให้นักเรียนฟังดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้อง เพื่อให้เขาแสดงความรู้สึกออกมาโดยการเขียนเส้น ซึ่งอุปกรณ์ไม่จำกัดว่าจะเป็นสีเทียน สีไม้ หรืออุปกรณ์สำหรับคนตาบอด เช่น เซ็ตอุปกรณ์เล่นเส้น กระดาน มุ้งลวด อุปกรณ์อื่นๆ ที่เด็กสามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระ ที่มีพื้นผิวหลากหลายให้เด็กได้สัมผัส
  4. สร้างสรรค์ใบหน้าสไตล์ปิกัสโซ เป็นการพาเด็กๆ ไปรู้จักกับศิลปินระดับโลกในลัทธิคิวบิสม์ (Cubism Art)โดยแปลงเป็นสื่อภาพนูน เช่น การปั้นด้วยดินน้ำมันสร้างความนูนขึ้นมา และให้สัมผัสส่วนที่แตกต่างกันบนใบหน้า โดยอธิบายว่าส่วนจมูกลักษณะเป็นอย่างไรซึ่งผลงานของปิกัสโซจะโดดเด่นในเรื่องของการตัดทอนและมีรูปทรงเป็นเรขาคณิต เป็นเหลี่ยม เป็นวงกลม เด็กๆ สามารถสัมผัสและเทียบเคียงกับใบหน้าตัวเอง สอนปั้นอวัยวะทีละชิ้นไปพร้อมกัน โดยที่เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องปั้นเหมือนคุณครู สามารถสร้างสรรค์ได้โดยเป็นสไตล์ของตัวเอง แลกเปลี่ยนกันสัมผัสและนำเสนอผลงาน

ชุดอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ศิลปะสำหรับเด็กตาบอด

จิราพร กล่าวว่าในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะของเด็กตาบอดและสายตาเลือนรางก็ต้องทำผ่านหน้าจอเหมือนกับเด็กสายตาปกติเช่นกัน จึงต้องมีการลดทอนอุปกรณ์การเรียนรู้ จากเดิมที่คุณครูเคยเตรียมอุปกรณ์สำหรับการปั้นหรือทำกิจกรรมศิลปะต่างๆ  กลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ง่ายภายในบ้าน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และต้องขอรับความร่วมมือจากผู้ปกครองในการเป็นครูพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเด็กๆ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้

เรื่องนี้ทำให้จิราพรนึกถึงแผนการต่อยอดกิจกรรมศิลปะเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และสนุกได้ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่บ้าน

“ในอนาคต เราอาจจะพัฒนาเซตกิจกรรม เช่น อุปกรณ์สำหรับการปั้นดินน้ำมัน อุปกรณ์พื้นผิวต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางศิลปะ ทักษะทางอารมณ์ให้เด็กๆ เข้าถึงศักยภาพของเขาอย่างสมวัยเราควรสนับสนุนความสามารถของเด็ก มากกว่าปล่อยให้เลือนรางไปพร้อมกับสายตาของเขา” จิราพร กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า