ข่าวสารจุฬาฯ

จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทยตายมากกว่าเกิด “ไปเรื่อย ๆ” ตอนที่ 2

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2566  สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ได้นำเสนอบทความเรี่อง “จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทยตายมากกว่าเกิดไปเรื่อยๆ https://www.chula.ac.th/news/124866/  โดยบทความเริ่มจากการคาดประมาณประชากร (Population Projection) โดยใช้โปรแกรมคาดประมาณประชากรรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า “Spectrum” จากองค์กร Avenir Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถใช้ในการคาดประมาณในระยะยาวได้อย่างสะดวกและแม่นยำมากขึ้นโดยสมมุติฐานอ้างอิงข้อมูล World Population Prospects 2022  ยกเว้นข้อมูลอัตราเจริญพันธุ์รวม (ปี ค.ศ. 2021 เท่ากับ 1.16 ตามข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข) และกำหนดจำนวนประชากรเริ่มต้นจำแนกตามอายุเท่ากับจำนวนประชากรจริง โดยจำนวนประชากรรวมปี ค.ศ. 2023 เท่ากับ 66.05 ล้านคน พบว่า

1) จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083

2) จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 เหลือเพียง 14 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083

3) จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 เหลือเพียง 1 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083

4) ประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 เป็น 18 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2083 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจากมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

จากข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรข้างต้น รวมถึงผลกระทบจากการที่สังคมไทยมีจำนวนการตายมากกว่ามีจำนวนการเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ Depopulation หรือที่เรียกว่าการลดลงของประชากร สาเหตุหลักของการเกิดสังคมไร้บุตรหลานนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรในจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งสามารถเห็นได้จากการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ ผลกระทบจากคลื่นสึนามิทางประชากรมีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต (Labor Intensive) ธุรกิจที่อาศัยรายได้จากกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศ (Domestic Mass Market) รวมถึงธุรกิจสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น โรงเรียน สวนสนุก และสินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก ดังนั้นผลกระทบโดยตรงจากธุรกิจเหล่านั้นจะส่งผลลบทำให้ภาครัฐเก็บภาษีได้น้อยลง รวมถึงการเกณฑ์ทหารได้ตามเป้าหมายก็จะน้อยลงไปด้วย   

สำหรับประเทศไทย หลายภาคส่วนได้เริ่มตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” เนื่องจากเกรงว่า “อัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ของไทยที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก อ้างอิงสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นับจากเดือน มกราคม – ธันวาคม 2564 มีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน ในขณะที่ปี 2563  ยังมีการเกิดมากกว่าการตายอยู่ถึง 85,930 คน สาเหตุหลักของการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์นั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม อาทิ การมีงานทำของสตรีที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้น อายุแรกสมรสของคู่สมรสที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การที่สตรีไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงกว่าในอดีต ตามด้วยแนวโน้มของการเป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ประเด็นที่สำคัญที่ต้องแก้ไขคือการปรับทัศนคติว่าการมีบุตรไม่ใช่เรื่องของแต่ละครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคมโดยรวมด้วย เนื่องจากบุตรของแต่ละครอบครัวจะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของสังคมต่อไปในอนาคต และทุนมนุษย์นี้จะกลายเป็นทุนทางสังคมและเป็นฐานพลังทางเศรษฐกิจที่จะรองรับสัดส่วนประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับเนื้อหาบทความตอนสอง จะเน้นผลการคาดประมาณประชากรถึงปี 2593 และพิจารณาการคาดประมาณแนวโน้มประชากรไทยเป็นสามแนวโน้ม คือ 1. ภาวะเจริญพันธุ์ที่มีการแปรผันปานกลาง (Medium Variant)      2. ภาวะเจริญพันธุ์ที่มีแปรผันสูง (High Variant) และ 3. ภาวะเจริญพันธุ์ที่มีแปรผันต่ำ (Low Variant) ซึ่งมีข้อมูลดังนี้

1.แปรผันปานกลาง (Medium Variant)  แนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ช่วงปี 2538-2558 ใช้ค่าจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปี 2558-2563 จนถึงช่วงปี 2593-2598 ตั้งค่าภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.16 จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2564

2.แปรผันสูง (High Variant) ปรับแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ให้ลดลงกว่าแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์สำหรับการแปรผันปานกลาง โดยในช่วงปี 2558-2563 พบว่าค่าภาวะเจริญพันธุ์มีความใกล้เคียงกับข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2562 ที่พบอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.29 และลดลงเหลือ 1.16 ในปี 2564 โดยช่วงปี 2568-2573 จะตั้งค่าลดลงเหลือ 1.1  และตั้งค่าลดลงเหลือ 0.9, .85, 0.8 และ 0.75 ช่วงปี 2573-2578, 2578-2583, 2583-2588 และช่วงปี 2588-2593 ตามลำดับ

3.แปรผันต่ำ (Low Variant) โดยภาวะเจริญพันธุ์ใน 4 ช่วงปีแรกถูกตั้งค่าเหมือนกลุ่มแปรผันปานกลาง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปี 2558-2563 จนถึงช่วงปี 2593-2598 ตั้งค่าภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.6 โดยเป็นระดับภาวะเจริญพันธุ์เดียวกับประเทศสวีเดน

สำหรับการตั้งสมมุติฐานอายุคาดเฉลี่ย การศึกษานี้ใช้ข้อสมมุติเพื่อใช้ในการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย ปี 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง) (สศช., 2562ข) เป็นฐาน กล่าวคืออายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเพิ่มจาก 67.90 (ชาย) และ 74.10 (หญิง) ในช่วงปี 2548-2553) เป็น 76.75 (ชาย) และ 83.15 (หญิง) ในช่วงปี 2583-2588)

จากสมมุติฐานข้างต้น สำหรับสมมุติฐานการแปรผันสูงที่ภาวะเจริญพันธุ์ลงลงอย่างต่อเนื่อง ประชากรวัย 0-14 ลงลงเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบประชากรปี 2568 กับปี 2538 (ลดลงร้อยละ 48.74) และลดลงกว่าครึ่งเมื่อเปรียบเทียบประชากรปี 2593 กับปี 2568 (ลดลงร้อยละ 61.23) อย่างไรก็ตาม      หากประเทศไทยสามารถคงระดับภาวะเจริญพันธุ์จากสถิติสาธารณสุขปี 2564 ที่ 1.16 ไปถึงช่วงปีสุดท้ายของการคาดประมาณประชากร ซึ่งเป็นสมมุติฐานการแปรผันกลาง การลดลงของประชากรในช่วงเวลาเดียวกันจะน้อยกว่าการลดลงของสมมุติฐานการแปรผันสูง อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถเพิ่มระดับภาวะเจริญพันธุ์ไปอยู่ที่ 1.6 โดยเป็นระดับภาวะเจริญพันธุ์เดียวกับประเทศสวีเดน การลดลงของประชากรในช่วงเวลาเดียวกันจะยิ่งน้อยกว่าการลดลงของสมมุติฐานการแปรผันสูง

            เมื่อพิจารณาอัตราส่วนพึ่งพิง {Dependency ratio: อัตราส่วนของประชากรที่อยู่ในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงานต่อประชากรในวัยแรงงาน) โดยมีข้อสมมุติว่าประชากรในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงานที่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) และกลุ่มประชากรสูงอายุ(อายุ 60 ปีขึ้นไป) อัตราส่วนพึ่งพิงสำหรับสมมุติฐานการแปรผันสูง dependency ratio เพิ่มจากร้อยละ 55.28 ในปี 2538 เป็นร้อยละ 93.10 ในปี 2593 กล่าวคือในทุก 100 คนทำงาน มีคนไม่ได้ทำงาน 55.28 คน และเพิ่มเป็น 93.097 คน ในปี 2593 หรือแรงงาน 1.81 คนดูแลเด็กและผู้สูงวัย 1 คน (100/55.28 เท่ากับ 1.81) และลดลงเหลือแรงงาน 1.07 คนดูแลเด็กและผู้สูงวัย 1 คน (อัตราส่วนพึ่งพิง 1:1 ดังกล่าวจะส่งผลอย่างยิ่งต่อกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนชราภาพ ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถเพิ่มระดับภาวะเจริญพันธุ์ไปอยู่ที่ 1.6 โดยเป็นระดับภาวะเจริญพันธุ์เดียวกับประเทศสวีเดน การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนพึ่งพิง (Dependency ratio) ในช่วงเวลาเดียวกันจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสมมุติฐานการแปรผันสูง มีข้อสังเกตว่าหากประเทศใดมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น ผู้วิจัยมักดูแนวโน้มการลดลงของอัตราส่วนสนับสนุน (Support ratio) มากกว่าการดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนพึ่งพิง ข้อมูลจากตารางข้างต้นพบว่าในกลุ่มสมมุติฐานการแปรผันสูง อัตราส่วนสนับสนุนมีแนวโน้มลดลง จาก 8.47:1 ในปี ค.ศ. 1995 เหลือ 3.27:1 และ 1.23:1 ในปี ค.ศ. 2025 และ ค.ศ. 2050 ตามลำดับ โดยตัวเลขอัตราส่วนสนับสนุนดังกล่าวจะลดลงช้ากว่าในกลุ่มสมมุติฐานการแปรผันกลาง และลดลงช้าสุดในกลุ่มสมมุติฐานการแปรผันต่ำ กล่าวคือลดลงเหลือ 3.46:1 และ 1.64 ต่อ 1ในปี ค.ศ. 2025 และ ค.ศ. 2050 ตามลำดับ

            ผลกระทบจาก “คลื่นสึนามิทางประชากร” ข้างต้นมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศ จากการหายไปของแรงงานจำนวนมหาศาลที่สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอะไร      ก็ตามที่อาศัยแรงงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต (Labor Intensive) จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนโดยอาศัยรายได้จากกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศ (Domestic Mass Market) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร สินค้าอุปโภคบริโภค และโลจิสติกส์ จะได้รับผลกระทบมากเพราะไม่เหลือกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการลดค่าใช้จ่ายจากการผลิตปริมาณมาก (No More Economies of Scale) อีกต่อไป สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่อาศัยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชนก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะฐานลูกค้าที่เป็นเด็กจะลดลงถึงร้อยละ 90 เลยทีเดียว และสุดท้ายหากประชากรและคนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะมีผลประกอบการแย่ลงอย่างมาก

            ผู้เขียนบทความได้ตั้งค่าภาวะเจริญพันธุ์ในกลุ่มสมมุติฐานการแปรผันต่ำอยู่ที่ 1.6 โดยเป็นระดับภาวะเจริญพันธุ์เดียวกับประเทศสวีเดน แม้ว่านักวิชาการหลายคนมักจะเชื่อว่าการเพิ่มอัตราภาวะเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่มีทางทำได้ด้วยซ้ำ) แต่ในอดีตที่ผ่านมามีกรณีศึกษาของประเทศสวีเดน ที่อัตราภาวะเจริญพันธุ์สามารถเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลประเทศสวีเดนในช่วงนั้นมีนโยบายด้านสวัสดิการที่ครอบคลุมด้านครอบครัวและเด็กที่เอื้อต่อการมีบุตรมาก เริ่มตั้งแต่สิทธิ์ในการลาคลอดโดยที่นายจ้างห้ามไล่ออกจากงาน เพิ่มระยะเวลาที่สามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้รวมกันระหว่างพ่อและแม่ที่สูงถึง 12 เดือนในขณะที่ค่าตอบแทนลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของเงินเดือน เพิ่มระยะเวลาลาเพื่อดูแลบุตรที่ป่วยเป็น 90 วัน และเพิ่มเงินสนันสนุนการมีบุตรที่สูงถึง 7,885 SEK (Swedish Krona) ต่อปี ต่อบุตร 1 คน (ประมาณ  40,000 บาทในช่วงนั้น) แนวนโยบายข้างต้นมีส่วนทำให้ระดับภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้น

นโยบายเสริมการเพิ่มอัตราภาวะเจริญพันธุ์ตามแนวทางข้างต้น แนวทางการปันผลทางประชากรระยะที่ 2, และ 3

แนวคิดที่ 1: การปันผลทางประชากร

การปันผลทางประชากรระยะที่ 2 อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการสั่งสมความมั่งคั่งต่อหัว จากผลิตภาพของกำลังแรงงานตั้งแต่ในช่วงที่มีการปันผลทางประชากรระยะที่ 1 ส่วนการปันผลทางประชากรระยะที่ 3 เป็นแนวคิดที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งพัฒนาขึ้นมาจากทุนทางเศรษฐกิจและสังคมจากผู้สูงวัย โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ให้ประชากรมีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศได้ด้วยสาเหตุ 3 ประการ

ประการแรก มีอาชีพจำนวนไม่น้อยที่ผู้ประกอบอาชีพจะมีทักษะเพิ่มขึ้นตามอายุ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น อาชีพที่เน้นทักษะด้านการสื่อสาร อาทิ ครู อาจารย์ นักขาย นักกฎหมาย และผู้จัดการ ดังนั้นถ้าผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเหล่านี้อยู่แล้วจะสามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ต่อไปได้

ประการที่สอง บางอาชีพที่เน้นการใช้ร่างกาย ความจำ หรือ ความรวดเร็วในการทำงาน อาชีพเหล่านี้ทักษะจะลดลงตามอายุ แต่เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technologies) เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีการควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกล หรือเทคโนโลยีโลกเสมือน (Virtual Reality) สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ และทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่ทักษะอาจเคยลดลงตามอายุ มีทักษะที่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมก็เป็นได้

ประการที่สาม ผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ และมีเวลา จึงสามารถมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทางสังคมด้วยการเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการต่างๆ ในด้านที่ผู้สูงวัยแต่ละคนมีประสบการณ์และมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสอนหรือโครงการฝึกอบรมต่างๆ

แนวคิดที่ 2 การ “สะกิดใจ” ให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี (Nudging for Heathy Aging)

งานวิจัยจำนวนมากในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) พบว่าการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย เพราะคนส่วนมากติดกับดักหรืออุปสรรคทางความคิด (Cognitive Biases) วิธีการทางเลือกคือการใช้การ “สะกิดใจ” (Nudging) ที่เป็นแนวคิดที่ถูกบุกเบิกโดย ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เทลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2017 มาปรับใช้

ตัวอย่างที่ 1 สะกิดใจให้คนสั่งอาหารเวลาหิวน้อยลง เพราะมักจะสั่งเยอะและไม่ดีต่อสุขภาพ) ภาครัฐ ร่วมมือกับแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารชั้นนำที่คนใช้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ให้คูปองส่วนลดหรือคะแนนสะสมในกรณีที่ผู้ใช้สั่งอาหารล่วงหน้า หรือสั่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นการสะกิดใจ อาจเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าและคุ้มค่าต่อประเทศในอนาคต

ตัวอย่างที่ 2 Healthy & Wealthy Tomorrow (เพราะถ้าให้เริ่มตั้งแต่วันนี้ คนมักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง) ให้ประโยชน์ทางภาษีแก่องค์กรที่ลงทุนในโครงการ “ออมสุขภาพ และออมเงิน” ให้แก่พนักงานโดยพนักงานที่เข้าร่วมและมีพฤติกรรมทางสุขภาพ และพฤติกรรมการออมที่ดีขึ้นในอนาคต (เช่น ตรวจสุขภาพตามกำหนด ปรับพฤติกรรมตามเป้าหมาย และมีตัวชี้วัดทางสุขภาพตามเป้าหมาย) สามารถได้รับรางวัล

งานวิจัยของ Djundeva et. al. (2018) ได้ศึกษาในประเทศจีนและพบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีสุขภาพที่แย่กว่าผู้สูงอายุที่มีลูก และมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ที่ต่ำกว่า สำหรับในประเทศไทย งานวิจัยในด้านนี้ที่ยังมีค่อนข้างน้อย แต่ก็พบผลกระทบเชิงลบสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรเช่นกัน โดยงานวิจัยของ Quashie และ Pothisiri (2018) พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรจะมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าและมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง

Married men are healthier than everyone else. Here’s why they get the best end of the deal.

BYLIBBY RICHARDS, MELISSA FRANKS, ROSIE SHROUT AND THE CONVERSATION

https://fortune.com/2023/01/13/why-are-married-men-healthier-on-average-women-gender-research/#

คนโสดใช้จ่ายมากกว่าทั้งในด้านการทานอาหารนอกบ้าน  การเดินทาง และการท่องเที่ยว และความบันเทิง ส่วนคนมีครอบครัว จะใช้จ่ายมากกว่าในด้านสุขภาพ โดยในส่วนของการใช้จ่ายด้านอาหารนั้น คนโสดใช้จ่ายมากกว่าประมาณ 12% เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์ออกไปทานอาหารนอกบ้านมากกว่า ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายจ่ายด้านอาหารทั้งหมด ขณะที่คนมีครอบครัวใช้จ่ายเพื่อการทานข้าวนอกบ้านเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

(ที่มา: https://www.naewna.com/local/669263)

มีคำถามที่น่าสนใจว่า ระหว่างคนโสดกับคนมีครอบครัวใครมีความสุขมากกว่ากัน? ซึ่งจากผลการศึกษาของศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics พบว่า คนมีครอบครัวระบุว่ามีความสุขถึงร้อยละ 60 มากกว่าคนโสดซึ่งมีเพียงร้อยละ 45

จากข้อมูลจากภาพก่อนหน้านี้ เราจะสะกิดใจให้ Gen Millennials (หรือ Gen-Y หรือ Gen ME) และ Gen Z หรือ Nexter ที่มีแนวโน้มจะเป็นโสด หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก ให้ Healthy & Wealthy ใกล้เคียงกับคนที่ไม่โสด หรือครอบครัวที่มีลูก ได้อย่างไร

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า