สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดนิทรรศการ “ร่วมรากแรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” มุ่งยกระดับเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลก

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดนิทรรศการ “ร่วมรากแรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” Immersive Songkran Experience เพื่อเป็นต้นแบบและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการจัดเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยในรูปแบบที่สร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดความเชื่อมโยงด้านพหุวัฒนธรรมในภูมิภาคเพื่อนำเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ณ ลานด้านหน้ามิวเซียมสยาม ภายในงานมีการเสวนา การแสดงทางวัฒนธรรม Workshop ละครหุ่น อาหารเทศกาลสงกรานต์


สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถาบันไทยศึกษา และสถาบันวิจัยสังคม ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและขับเคลื่อนเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาล ระดับโลกเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย” โดยจัดกิจกรรมนำเสนอผลผลิตงานวิจัยในรูปแบบนิทรรศการ “ร่วมรากแรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน 2568 ณ มิวเซียมสยาม เพื่อเป็นต้นแบบและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการจัดเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยในรูปแบบที่สร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดความเชื่อมโยงด้านพหุวัฒนธรรมในภูมิภาคเพื่อนำเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หัวหน้าโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลกเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย กล่าวถึง โครงการนี้ว่ามีเป้าหมายสำคัญในการมุ่งยกระดับเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลก โดยการสังเคราะห์ข้อมูลผ่านกระบวนการ Design Thinking เริ่มด้วยการค้นคว้าหาจุดร่วมแนวคิดเรื่องเทศกาลสงกรานต์แต่ละพื้นที่ว่าส่งผ่านมาจากไหน เลือกรับชุดความคิดใด และนำมาปรับใช้อย่างไรให้เข้ากับท้องถิ่นตน ซึ่งสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของสงกรานต์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมถึงยังได้ถอดบทเรียนการจัดเทศกาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย และเพื่อสะท้อนข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม นำมาสู่การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องสงกรานต์ในมุมมองที่แผ่ขยายออกไป และร่วมพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่แสดงสัญญะสงกรานต์รูปแบบใหม่ด้วยหลักคิดสำคัญคือ Inclusiveness for All ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวทางวัฒนธรรม แต่มองไปถึงการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้าประจำวันให้เป็นสินค้าประจำเทศกาล

รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รักษาการรองผู้อำนวยการ บพข. กล่าวถึงความสำคัญของนิทรรศการ “ร่วมราก แรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” ว่าเป็นต้นแบบที่น่าสนใจในการเผยแพร่องค์รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการจัดเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยในรูปแบบสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านกระบวนร่วมพัฒนาสัญญะที่มีแต่เดิมให้มีเอกลักษณ์ยึดโยงกับเทศกาลสงกรานต์อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงหยิบยกจุดร่วมทางวัฒนธรรมที่จะต่อยอดความเชื่อมโยงด้านพหุวัฒนธรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลกอย่างแท้จริง


จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย