ข่าวสารจุฬาฯ

ความภูมิใจของบัณฑิตจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ที่ผ่านพ้นไป เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของบัณฑิต  จากรั้วจามจุรีซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจเต็มร้อยจนประสบความสำเร็จทางการศึกษาในวันนี้ พร้อมนำวิชาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ไปสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างเต็มภาคภูมิ บัณฑิตจุฬาฯ จากคณะต่างๆ ได้เผยถึงประสบการณ์ความประทับใจจากการใช้ชีวิตในจุฬาฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลามีค่าที่บัณฑิตทุกคนจะจดจำตลอดไป

อภิสิทธิ์ รุ่งเรืองศิริโชค บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 บัณฑิตแพทยศาสตร์ดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 กล่าวว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาฯ ในภาวะ COVID-19 ที่ผ่านมามีการรณรงค์มาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น ใส่หน้ากากอนามัย มีจุดล้างมือหลายจุด ช่วยให้บัณฑิตมั่นใจในความปลอดภัย จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความหลากหลายของแต่ละคณะ ซึ่งเปิดกว้างให้ได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆ ชาวจุฬาฯ จากคณะต่างๆ ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนให้ทันสมัย ทำให้ผู้เรียนมั่นใจ หลังจากนี้จะใช้ทุน 1 ปีที่สถาบันบำราศนราดูร จากนั้นจะเรียนสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อีก 3 ปี อนาคตจะกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่จุฬาฯ สำหรับนิสิตรุ่นน้องขอให้ใช้เวลาในมหาวิทยาลัยให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด และจดจำชีวิตในมหาวิทยาลัยซึ่งจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป

ศิฑา กาญจนอลงกรณ์ (พอร์ช) บัณฑิตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นำเชียร์จุฬาฯ รุ่นที่ 71 และผู้อัญเชิญฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 73 กล่าวว่า การใช้ชีวิต 6 ปีในรั้วจุฬาฯ ได้เรียนรู้และเติบโตยิ่งขึ้น ได้เห็นข้อบกพร่องของตัวเองที่พร้อมแก้ไข และได้ประสบการณ์มากมาย ทำให้มีมุมมองความคิดที่กว้างขึ้น รู้สึกประทับใจเพื่อนๆ ในคณะที่ทุกคนช่วยเหลือกันในเรื่องการเรียน สำหรับการรับปริญญาในปีนี้ซึ่งจุฬาฯ ได้รณรงค์ในเรื่องต่างๆ เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยจาก COVID-19 ทุกคนต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแบบ New Normal ปัจจุบันได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการทำงานที่คลินิกทันตกรรม สำหรับน้องๆ นิสิตรุ่นต่อไปขอให้ใช้ชีวิตในการเรียนอย่างมีความสุขและไม่เครียด ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แข็งแรงไปพร้อมกัน

ลภัส งามเชวง (เติร์ด) ศิลปินวง Trinity บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า สิ่งแรกที่ประทับใจในการเรียนที่จุฬาฯ คือเพื่อนที่ดีที่คอยสนับสนุน ถามไถ่และช่วยเหลืออยู่เสมอ นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้วยังได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลาให้เหมาะสมโดยเน้นเรื่องเรียนเป็นหลัก และไม่รับงานที่ตรงกับเวลาเรียน การทำงานในวงการบันเทิง ได้เห็นแค่เบื้องหน้า เมื่อได้มาเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ช่วยให้รู้ถึงการทำงานเบื้องหลัง และนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้มากขึ้น วางแผนในอนาคตจะทำงานในวงการบันเทิงต่อไป ฝากถึงน้องๆ ที่เรียนอยู่ว่าชีวิตการเรียน 4 ปี อาจดูเหมือนยาว แต่จริงๆ แล้วมันสั้นมาก อยากให้ทุกคนใช้เวลาให้เต็มที่และมีความสุขมากที่สุด

พีรดา วีรังศบุตร บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เผยว่ารู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ เคล็ดลับการเรียนให้ประสบความสำเร็จจะเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด ทบทวนสิ่งที่เรียนมาและหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ช่วงเวลา 6 ปีในคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งวิชาความรู้ในคณะและต่างคณะ รวมถึงวิชาศึกษาทั่วไป ได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ อบจ. ได้รู้จักผู้คนมากมาย ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหา ทำให้ได้ฝึกคิดและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพื่อเตรียมตัวสู่การทำงานจริง

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทนนิส) นักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทย บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่จบการศึกษาพร้อมเพื่อนๆ เพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่างไปพร้อมกัน เวลาเรียนต้องซ้อมกีฬาหนัก พยายามไม่ให้เครียดและทำทั้งสองอย่างให้ดีที่สุด โดยเพื่อนๆ ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเรียนโดยช่วยทบทวนความรู้วิชาต่างๆ ให้ตลอด คิดว่าเราได้มิตรภาพที่ยิ่งใหญ่มาก แม้จะจบไปแล้วแต่ความเป็นพี่เป็นน้องของชาวจุฬาฯ ยังคงอยู่ เมื่อได้พบกันยิ่งทำให้ได้รู้จักกันมากกว่าเดิม อยากจะแนะนำน้องๆ ว่าจุฬาฯ มีโครงการพัฒนากีฬาชาติ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้ามาเรียนในคณะต่างๆ โดยมีอาจารย์และรุ่นพี่ในโครงการฯ คอยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือดูแลกันตลอด ส่วนในปีหน้าจะขอโฟกัสที่การแข่งขันเทควันโดในกีฬาโอลิมปิกซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้

ชลธิชา ศรีษะโคตร บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ หญิงคนแรก กล่าวถึงวันรับปริญญาในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาว่า จุฬาฯ จัดพิธีการได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง มีการเตรียมการในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี 4 ปีในการใช้ชีวิตนิสิตจุฬาฯ ได้รู้จักเพื่อน ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ยังมีอีกหลายๆ อย่างทีอยากทำแต่ก็ไม่ได้ทำ จึงอยากฝากไปถึงน้องๆ ว่า ขอให้นิสิตใช้เวลาในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า เพราะเวลาผ่านไปเร็วมาก ส่วนอนาคตหลังจากเรียนจบจะเริ่มต้นการทำงานในเดือนพฤศจิกายนนี้

ภิสา สวนศรี (ซาย KPN) มหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย เผยว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่จัดงานรับปริญญาในสถานการณ์ COVID-19 ทำให้จุฬาฯ ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ทุกคนปลอดภัย จุฬาฯ สามารถจัดงานรับปริญญาแบบ New Normal ซึ่งเป็นตัวอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้

“ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไร และได้ทำในสิ่งที่เราชอบ จะทำให้เราทำสิ่งนั้นได้ดี” คือคติประจำใจของซาย ครอบครัวของเธอเป็นคณะลิเก ด้วยความชื่นชอบและสนใจด้านนี้จึงมุ่งมั่นเรียนในสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่องการนำอัตลักษณ์ของคณะลิเกมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ยังคงอยู่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชุมชนพื้นบ้านและสังคม ไม่อยากให้วัฒนธรรมเป็นแค่การอนุรักษ์ แต่อยากให้วัฒนธรรมเติบโตไปพร้อมๆ กับวัยรุ่นยุคใหม่ ให้ทุกคนภูมิใจในสิ่งที่เรามี และต่อยอดพัฒนาในอนาคตให้ดำรงอยู่ต่อไป

อภิรดี จริยารังสีโรจน์ ดุษฎีบัณฑิตคณะครุศาสตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคล สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า ตนรักและผูกพันกับจุฬาฯ มากเพราะเรียนที่นี่มาตั้งแต่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จนถึงปริญญาเอก รวมถึงยังได้ทำงานที่จุฬาฯ อีกด้วย หลักในการเรียนในระดับปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่น ตั้งใจอดทน และทุ่มเทอย่างมาก เพราะการเรียนและทำงานไปด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ยากและเหนื่อยมาก การเรียนสมัยนี้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถพัฒนาหาความรู้ได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการอะไรแล้วเดินตามความฝันที่เราอยากจะเป็น

วรวรรณ ปิ่นรัตนากร มหาบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในบัณฑิตจุฬาฯ ที่แต่งกายข้ามเพศเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกประทับใจและขอบคุณจุฬาฯ ที่อนุญาตให้สามารถแต่งกายข้ามเพศเข้ารับปริญญาได้ รู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ได้ใส่ชุดครุยจุฬาฯ ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ที่จุฬาฯ ได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ให้คำปรึกษาที่ดีมาก ทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเข้าใจในทุกเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะทางจิตใจ ปัจจุบันแม้สังคมจะข้ามผ่านให้การยอมรับในเรื่องของสิทธิเสรีภาพความหลากหลายทางเพศมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเหลือจุดเล็กๆ บางจุดที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพอยู่บ้าง เช่น การที่ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ โดยส่วนตัวพยายามวางตัวให้เหมาะสมเท่าที่ทำได้

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า