ข่าวสารจุฬาฯ

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” ฉลองครบรอบ 19 ปี

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 3 ปี (ปี 2547 -2549) สนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีต่อมา สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกฐานะห้องปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) ภายหลังมีการกำหนดให้วันที่ 13 สิงหาคม 2546 เป็นวันถือกำเนิด ศวฮ.

พันธกิจสำคัญที่ ศวฮ.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลคือวิจัย พัฒนาและบริการงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สังคม เศรษฐกิจและวิชาการของประเทศ พัฒนาบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ฮาลาลและสนับสนุน ร่วมมือสร้างเครือข่ายกับองค์กรศาสนาอิสลาม สถาบันวิชาการและหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ ด้วยปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์ฮาลาล สู่อัตลักษณ์ประเทศไทย ศวฮ.ได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยตลอดมา โดยเข้ารับรางวัลระดับนานาชาติจากนายกรัฐมนตรี สหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อปี 2549 และได้รับการยกย่องว่าคือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก

ศวฮ.เติบโตขึ้นเป็นระยะ มีการเปิดสำนักงานจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2552 และจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2555 พัฒนาห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ ISO9001 ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ สร้างนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมฮาลาลหลายชิ้น พัฒนาระบบการมาตรฐานฮาลาลภายใต้ชื่อ HAL-Q หรือ Halal Assurance, Liability-Quality System ต่อยอดจากงาน Halal-HACCP ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันอาหารเมื่อปี 2543 จัดวางระบบในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวน 774 แห่งทั่วประเทศ สร้างการยอมรับจนทำให้ผลงาน “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาละครบวงจร” ได้รับรางวัลนวัตกรรมบริการที่เป็นเลิศภาครัฐระดับดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เมื่อปี 2556 และได้รับรางวัลเดียวกันในระดับเดียวกันอีกครั้งเมื่อปี 2563 จากผลงาน “H numbers นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกกับการพัฒนาฐานข้อมูลบัญชีวัตถุดิบฮาลาล

เพื่อฉลองวาระครบรอบ 19 ปี ศวฮ. และงานสำคัญของ ศวฮ.คือการถ่ายทอดความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไทย ศวฮ.จึงร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺจัดสร้าง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” (The Halal Innovation Community Learning Center หรือ HICOLEC) บนพื้นที่ 4 ไร่ 1 งานของมูลนิธิ ณ ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นอาคารต่างๆ เพื่อพัฒนางานนวัตกรรมฮาลาล จัดทำศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชน รวมถึงโรงเรียนสอนคิด (Thinking school) สำหรับเด็กและเยาวชน

ในวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครนายก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชุมพล อบต.บึงศาล อบต.พระอาจารย์ แห่งอำเภอองครักษ์ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรม “เดิน-วิ่ง HALAL SCI FUN RUN 2022”ร่วมพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” พร้อมกับเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลันอย่างเป็นทางการ

“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาลจะใช้ศักยภาพของนักวิชาการ ศวฮ.ในการดำเนินงานร่วมกับชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาชุมชน นำทฤษฏีสู่การปฏิบัติ เน้นงานพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมและการเกษตรฮาลาล เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงร่วมกับมูลนิธิในการพัฒนาเยาวชนของชาติสร้างคนคุณภาพป้อนแก่สังคม ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของทั้ง ศวฮ.และมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ”  รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง ศวฮ.และประธานมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า