ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนก่อนสูญพันธุ์สร้างสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเล

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ “ปะการังอ่อน” ที่มีความสวยงามและมีจำนวนลดลง โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ช่วย ขยายพันธุ์ปะการังอ่อนให้คืนสู่ธรรมชาติ สร้างความสมดุลในระบบนิเวศ

ปะการังอ่อน หรือ Soft Coral ถือเป็นปะการังที่มีความสวยงามและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ความแปรปรวนของภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการคุกคามจากมนุษย์ด้วยกิจกรรมต่าง ส่งผลให้จำนวนชนิดและความสมบูรณ์ของปะการังอ่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

ปะการัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือปะการังแข็ง ซึ่งมีโครงสร้างหินปูนและมีปะการังเติบโตขึ้นมา อีกประเภทหนึ่งคือปะการังอ่อน ซึ่งไม่มีโครงสร้างหินปูน ทั้งปะการังอ่อนและปะการังแข็งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เมื่อปะการังทั้งสองประเภทเจริญเติบโตจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ทำให้ทะเลเกิดความสมบูรณ์และความหลากหลาย เป็นแหล่งของนักดำน้ำดูปะการัง รวมทั้งมีความสำคัญต่อการประมงพื้นบ้าน

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์และเลี้ยงปะการังอ่อนด้วยระบบการทำฟาร์มบนบกและในทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมโทรมในประเทศไทย รวมทั้งมุ่งหวังพัฒนาให้เป็นสัตว์ทะเลเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่สำหรับธุรกิจปลาตู้น้ำทะเลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ปะการังอ่อนยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย มีรายงานว่าปะการังอ่อนบางชนิดเมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้สารบางชนิดที่ยังยั้งเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยขั้นต่อยอดโดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เกี่ยวกับองค์ประกอบทางชีวเคมีในปะการังอ่อนทั้งสามชนิดคือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ

ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ

ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการค้าและการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทย มีที่มาจากการที่ปะการังอ่อนทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย ห้ามเก็บจากทะเล ห้ามซื้อขาย และห้ามมีไว้ครอบครอง ความสวยงามของปะการังอ่อนส่งผลต่อความต้องการของธุรกิจปลาตู้น้ำทะเลสวยงามและบ่อเลี้ยงสัตว์ทะเล ทำให้มีการลักลอบเก็บปะการังอ่อนจากทะเล รวมทั้งมีการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้จากงานวิจัยยังพบว่าแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีประชากรปะการังอ่อนทุกชนิดน้อยมากทั้งในแง่ความหลากหลายและความหนาแน่น

”ปัจจุบันจำนวนของปะการังอ่อนลดลงในทุกพื้นที่ หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มที่ปะการังอ่อน      จะสูญพันธุ์ก็ใกล้เข้ามาทุกที หากเราสามารถเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนได้จะช่วยให้มีพันธุ์ปะการังอ่อนและขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้” ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำปะการังอ่อนที่พบที่เกาะ  สีชังมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้  ขณะนี้ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน 3 ชนิด คือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ  ทั้งนี้ การเพาะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ได้นำพ่อแม่พันธุ์ปะการังอ่อนจากทะเลมาเพาะเลี้ยงในบ่อและกระตุ้นให้มีการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อนำมาผสมพันธุ์ จากนั้นเพาะเลี้ยงอนุบาลจนเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพบว่าปะการังอ่อนทั้งสามชนิดเจริญเติบโตได้ดี

สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศหรือการแตกหน่อ  ผศ.ดร.นิลนาจเผยว่า ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคพิเศษในการตัดเนื้อเยื่อจากพ่อแม่พันธุ์ชิ้นเล็กที่สุดเพียง 0.5 – 1 ซม. และนำชิ้นเนื้อมาเลี้ยงในบ่อ เป็นการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มบนบก โดยมีการควบคุมปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งพบว่าชิ้นเนื้อปะการังดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 ซม. ภายใน 1 ปี  ทั้งนี้ ปะการังอ่อนจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปะการังแข็ง เนื่องจากไม่ต้องสร้างโครงสร้างหินปูนภายใน ถือเป็นความสำเร็จของทีมวิจัยที่พัฒนาเทคนิคการตัดชิ้นเนื้อปะการังอ่อนมาเพาะเลี้ยงต่อได้โดยที่พ่อแม่พันธุ์ไม่ตาย ที่สำคัญคือเมื่อชิ้นเนื้อของปะการังอ่อนในพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกตัดไปเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่     ก็สามารถตัดเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้อีก

 “จากปัญหาโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาว ปะการังอ่อนจะมีสาหร่ายตัวหนึ่งที่อยู่ในเนื้อเยื่อซึ่งสามารถสังเคราะห์แสงได้ อาหารหรือพลังงานทั้งหมดประมาณ 80% ของปะการังอ่อนได้จาก   การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายตัวนี้ ดังนั้นถ้าเราขยายพันธุ์หรือฟื้นฟูปการังอ่อนในทะเลให้มีจำนวนมาก จะมีส่วนช่วยเรื่องของโลกร้อน สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำและในอากาศได้” ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว

ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวย้ำว่างานวิจัยทางด้านปะการังอ่อนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในหลายศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน  ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชังโดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการทำฟาร์มต้นแบบการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนแบบการทำฟาร์มบนบก พร้อมทั้งเปิดโอกาสแก่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขยายพันธุ์ปะการังอ่อน ที่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรีอีกด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า