รู้ลึกกับจุฬาฯ
เมืองหลวงไทย ย้ายดีไหม

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย จากจาการ์ตาสู่นครแห่งใหม่ บริเวณจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ในเกาะบอร์เนียว โดยมีแผนการการสร้างเมืองหลวงใหม่ในปี 2564 และจะเริ่มทำการย้ายในช่วงปี 2566-2567
โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แถลงข่าว เมื่อวันที 26 สิงหาคม ว่า กรุงจาการ์ตามีความแออัดหนาแน่น และยังเผชิญปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินทรุดตัว และแผ่นดินไหว และรับภาระหนักเกินไปในฐานะศูนย์กลางการปกครอง ธุรกิจ การเงิน การค้า การบริการ ขณะที่ตำแหน่งเมืองหลวงแห่งใหม่มีความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติน้อยที่สุด
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในอดีตมีหลายๆ ประเทศเลือกย้ายเมืองหลวงเนื่องด้วยเหตุผลต่างกัน ทั้งเหตุผลด้านการเมือง การปกครอง รวมถึงเหตุผลด้านความมั่นคง ทั้งกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐอเมริกากรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล ฯลฯ
การย้ายเมืองหลวงเป็นการตอบสนองวัตถุประสงค์ ของนโยบายยุทธศาสตร์การสร้างชาติรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้นำประเทศมองเห็นว่าจะได้อะไรกับการย้ายเมืองที่เป็นศูนย์กลางการปกครองนั้นๆ ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ใช้ต้นทุนสูงในการสร้างพื้นที่ใหม่ และทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม
“ส่วนใหญ่คือการย้ายกิจการภาครัฐ เป็นการกระจายความเจริญที่ห่างออกไป แต่ก็มีคำถามว่าจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ เพราะรัฐย้าย เอกชนไม่ย้ายก็มี เช่นเมียนมาร์ ซึ่งเพิ่งย้ายไปไม่ถึง 20 ปี เอกชนก็ยังอยู่ย่างกุ้งเหมือนเดิม ความแออัดก็ยังเท่าเดิม มีคนบอกด้วยว่าที่เนปิดอว์ สร้างถนน 10 เลน แต่มีรถวิ่ง 10 คันก็มี ต้องมองในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไรต่อ”
สำหรับประเทศไทย เคยมีแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือแม้แต่ยุคต่อๆ มาที่มีการนำเสนอว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก น่าจะเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศไทยได้ แต่ท้ายที่สุดแนวคิดการย้ายเมืองหลวงของไทยก็ไม่สำเร็จ
“ผมคิดว่าการย้ายเมืองหลวงคือการทุ่มทุนมหาศาล และเป็นการตัดสินใจที่ต้องเด็ดขาดมาก ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีผู้นำไทยคนไหนน่าจะยอมเด็ดขาดขนาดนั้น เพราะพอกางงบประมาณออกมาแล้วเป็นภาระ ทางการคลังของรัฐบาลอย่างหนัก เห็นตัวเลขก็กลัวกันแล้ว” อย่างไรก็ตาม ปัญหากรุงเทพมหานครมีความแออัด รถติด น้ำท่วม ก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์อภิวัฒน์ชี้ว่าการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาความแออัดของเมือง แต่ควรเน้นไปที่การกระจายความพัฒนาไปสู่เมืองอื่นๆ เช่น การเพิ่มทางเลือกให้แก่เมืองระดับรองลงมา เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ฯลฯ เพื่อสร้างทางเลือกในพื้นที่ให้คนไม่มากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ และเป็นการลดภาระการลงทุนการพัฒนาเฉพาะกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว
“มีเมืองหลายเมืองแบ่งเมืองเศรษฐกิจกับเมืองราชการ เช่น ออสเตรเลียก็แบ่งแคนเบอร์รากับซิดนีย์ อเมริกาก็แบ่งวอชิงตัน ดีซี กับนิวยอร์ก แต่ลอนดอนกับปารีสก็ไม่ได้แยกระบบราชการกับระบบเศรษฐกิจกัน ผมเองก็มองว่าไทยเราไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึงขั้นต้องแยกเมืองใหม่อีกเมืองให้เป็นราชการ”
อาจารย์อภิวัฒน์ย้ำว่าการย้ายเมืองหลวงไม่น่าจะใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาด้านผังเมืองที่ทำให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินทรุดตัว ก็สามารถใช้วิธีการทางวิศวกรรมและการใช้ประโยชน์จากที่ดินแก้ปัญหาได้ หากมีการวางแผนที่ดีพอ
“ผังเมืองเราแย่ และก็มีปัญหาอย่างที่เห็น แต่มันก็ยังพอมีความหวัง ยังแก้ไขได้ คนพูดเรื่องรถติดมานานมากแล้ว แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราก็มีรถไฟฟ้า มีรถไฟใต้ดิน เรียกได้ว่าก็มีทางเลือกมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการพัฒนาระบบรถเมล์ ระบบขนส่งมวลชน ทางเท้า ไม่ถึงกับแย่จนต้องย้ายเมืองหลวง”
นอกจากนี้ การที่เมืองมีความกระจุกตัวยังเอื้อต่อการเป็นเมืองใหญ่ เพราะจะมีพลังของการกระจุกตัว ทำให้มีความประหยัดต่อต้นทุนต่างๆ เช่น ความประหยัดต่อค่าขนส่ง การเดินทาง การจ้างงาน รวมถึง องค์ความรู้ต่างๆ (Economies of agglomeration) และเป็นแรงขับเคลื่อนต่อการเกิดระบบเศรษฐกิจยุค 4.0 ซึ่งหากมีการย้ายเมืองหลวงใหม่และต้องเริ่มต้นจากศูนย์เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจที่มีการใช้นวัตกรรม จะเกิดขึ้นได้ยากในเมืองหลวงแห่งใหม่
“อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นที่ที่มีเสน่ห์ และยังพัฒนาต่อไปได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มกับกรุงเทพฯ อย่างเดียว เพราะเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเราก็ยังทุ่มได้ ส่วนปัญหาของกรุงเทพฯ ผังเมืองแม้จะแย่ แต่ก็ยังมีความหวังว่าทำอะไรได้บ้าง แม้ในเชิงกายภาพจะไม่ได้ แต่เปลี่ยนระบบการบริหารการจัดการได้ ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด” อาจารย์อภิวัฒน์กล่าวสรุป

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย