รู้ลึกกับจุฬาฯ

ความคิดสร้างสรรค์ บันเทิงสารสนเทศในวิกฤตโควิด

เนื้อเพลง “สงกรานต์ 2020”

ปีนี้ไม่มีสงกรานต์
หนุ่มสาวอยู่บ้าน ตีพุงสุขใจจุงเบย
ตื่นเช้าเปิดดูเฟซบุ๊กเช็กข่าว
กดแอปสั่งข้าว วันนี้กินไรดีเอย
อาบน้ำแต่งตัว แต่งตัวสวยสะ
จะไปไหนเหรอจ๊ะ อ๊ะ ห้ามออกไปไหนเอย
ตอนบ่ายเราเริงลีลา
แปะมาสก์ซ่อนหน้า สวยให้บ้าไปเลย
อยู่บ้งอยู่บ้าน ล้างมงล้างมือกันแล้ว
โควิดจะแคล้ว เราไม่ติดกันเอย (ซ้ำ)

“เพลงสงกรานต์ 2020” ในปีนี้ที่ไม่มีสงกรานต์ จาก เบน ชลาทิศ ตันติวุฒิ ที่จะชวนเราฉลองเทศกาลปีใหม่อย่างปลอดภัย ในบ้าน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เป็นรูปแบบหนึ่งในการสื่อสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดจากไวรัสโคโรน่า 2019 โดยผ่านสื่อบันเทิงและกลศิลป์ ดังจะเห็นได้จากศิลปินนักร้องหลายท่าน เช่น ศุ บุญเลี้ยง แต่งเพลง “นักรบเสื้อกาวน์” และ ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ มอบเพลง “หัวใจสีขาว” ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์สู้วิกฤติโควิด-19 และเจ้าพ่อ R&B บอย โกสิยพงษ์ แต่งเพลง “จะไม่ทิ้งกัน” ถ่ายทอดโดยนักร้องดัง 8 คน

ดังที่ปรากฏตามการรายงานข่าวในสถานการณ์สาธารณภัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้สาธารณชนรับรู้ จะพบว่ามีระดับความลึกซึ้งและรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่สถิติตัวเลข ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ความเห็นทางการแพทย์ สาธารณสุข อินโฟกราฟิกต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ทุกวัย จึงมีความพยายามที่จะปรับข้อมูลเชิงลึกให้ย่อยง่าย รูปแบบบันเทิงสารสนเทศ (Infotainment) เช่น การ์ตูน การแต่งคำกลอนรวมไปถึงการแต่งเพลง หรือทำคลิปสั้น

“การนำสารสนเทศมาผสมผสานผ่านสื่อบันเทิง นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ข้อมูล ความรู้ สิ่งที่ควรปฏิบัติไปในเนื้อหาบันเทิง เช่น ความคล้องจองกันของคำในท่อนต่างๆ ช่วยให้ชวนจดจำได้ไว เป็นการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าข้อมูลย่อยที่ปรับมาในรูปแบบบันเทิงแล้วนี้ ไม่ใช่แหล่งข้อมูลหลักที่ใช้อ้างอิงความถูกต้องตามหลักการแพทย์ได้” อาจารย์ ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ประเด็นที่น่าสนใจคือในห้วงวิกฤตนี้ คือมีเนื้อหาบันเทิงสารสนเทศที่ผุดขึ้นมากมาย ซึ่งแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ อาทิ การคิดคำศัพท์ใหม่ เช่นคำว่า Covidiot (Covid+idiot) เพื่อหมายถึงคนที่ไม่สนใจคำเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองและสุขภาพของประชาชนอื่นๆ รวมถึงการใช้การ์ตูนเสียดสี แต่งเพลงล้อเลียน นำเพลงมาดัดแปลง โดยหยิบวัตถุดิบใกล้ตัวมาผสมผสานและปรุงแต่งเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้สร้างงาน

ตัวอย่างการนำเพลงมาใช้ให้เกิดทั้งสาระและบันเทิง เช่น การร้องเพลง “Happy Birthday” ขณะล้างมือให้เกิน 20 วินาทีเพื่อที่จะแน่ใจว่าจะกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับศิลปินไทย เช่น ว่าน จักกริช สงฆ์เจริญ โปรดิวเซอร์และศิลปินวง Details คิดโปรเจค 20 Sec Safe Song ชวนศิลปินไทยมาทำเพลงความยาว 20+ วินาทีเพื่อความเพลิดเพลินขณะล้างมือ เว็บ Sanook.com เสนอเพลงที่มีความยาวท่อนฮุคระหว่าง 20-30 วินาที มาแทนความรู้สึกของคนที่ต้องกักตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากรับเชื้อไวรัสโคโรนา อาทิ ใจเย็น ของ Pancake, ภาวนา ของวง Meyou, ระยะปลอดภัย ของว่าน ธนกฤต, ห่างกันสักพัก ของหวาย ถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างง่าย

“เราพยายามหาทางออก หลีกหนีจากความเคร่งเครียดในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แม้ว่าจะทำไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราสามารถจัดการกับปัญหาด้วยรอยยิ้ม ด้วยความสุขจากบันเทิงสารสนเทศ ก็อาจจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นได้ แล้วช่วยให้เราจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้” อาจารย์ ดร. อลงกรณ์ กล่าว

ในต่างประเทศก็นำหลักการบันเทิงสารสนเทศมาใช้ในการจัดการปัญหา เช่น อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ ดัดแปลงเพลง Do-Re-Mi จากภาพยนตร์สุดคลาสสิกอย่าง The Sound of Music เพื่อสอนวิธีการป้องกันตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 จนได้รับยอดวิวมากกว่า 7 ล้านครั้งทั่วโลก รวมถึงศิลปินตลกชาวญี่ปุ่น “พิโกะทาโร่” เจ้าของเพลงเด็กแนว PPAP (Pen Pineapple Apple Pen) ที่โด่งดังเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์เมื่อปี 2559 ได้แต่งเนื้อหาสำหรับเพลง PPAP-2020 หรือ Pray for People And Peace เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนล้างมือ

“เราเห็นการดัดแปลงเพลงดังจะโดยศิลปินเอง หรือคนทั่วไปเพื่อปลดปล่อยความเครียด เช่น เพลง Vogue ของ Madonna หรือ Hello ของ Adele ที่แสดงความกังวลระหว่างช่วงกักตัวที่บ้าน และเสียดสีแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล หรือเพลง Bohemian Rhapsody ของ Queen ที่เปลี่ยนเนื้อร้องว่า แม่จ๋า ผมเพิ่งฆ่าผู้ชายคนหนึ่ง เพราะผมไม่ยอมอยู่บ้าน เดินติดกับเขา แล้วเขาตายแล้ว ซึ่งนอกจากสะท้อนอารมณ์ขันและการรณรงค์เรื่องการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แล้วยังสะท้อนความคิดสร้างสรรค์อันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ด้วย”

อาจารย์ ดร.อลงกรณ์ เสริมว่า “ความคิดสร้างสรรค์” มองได้หลายแบบ เช่น เป็นความคิดริเริ่ม ความคิดใหม่เกิดขึ้นครั้งแรก วิธีการที่ไม่ซ้ำใครตามที่มาของคำว่า Create ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล เมื่อพระผู้เป็นเจ้าสร้างสรรค์โลกจากความว่างเปล่า ไม่เคยมีมาก่อน แต่ต่อมาเราสามารถใช้แรงบันดาลใจจากวิธีการและแนวคิดที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างสิ่งใหม่เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครก็ได้ เรียกว่า Copy and Develop เช่น การเรียนรู้งานศิลปะจากครูต้นแบบ และนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นของตัวเอง การประพันธ์ดนตรี ต่างก็ขยายของสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ริเริ่มใหม่โดยไม่มีต้นทุนใดเลย เป็นต้น

นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์อาจจะมีลักษณะผสมผสานระหว่างของเก่ากับของใหม่ (Mix and Match) และรื้อเพื่อประกอบสร้างใหม่ เช่น การนำนิทานโบราณมาเล่าใหม่ ปรับเปลี่ยน ดัดแปลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เช่น กรณี Disney เปลี่ยนตัวร้ายอย่าง Maleficent ใน Sleeping Beauty และราชินีน้ำแข็ง The Snow Queen ให้เป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

“แต่เดิมเรามักจะเน้นว่าความคิดสร้างสรรค์ คือการใช้จินตนาการหรือความคิดริเริ่มในการสร้างผลงาน แต่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่านิยามเปลี่ยนไป ความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เป็นวิธีการสร้างสิ่งที่แตกต่างจากเดิม มีคุณค่าหรือความหมายใหม่เพิ่มเติมจากเดิม หรือเป็นผลงานใหม่จากวิธีการคิด หรือเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น การนำสื่อดิจิทัลและแอปพลิเคชั่นต่างๆ มารังสรรค์งานศิลปะและสื่อบันเทิงได้ เช่น โปรแกรม TikTok ที่สร้างกระแสให้วงซุปเปอร์วาเลนไทน์อีกครั้งและรวมถึงคลิปสั้นจากดารานักแสดงต่างๆ เพื่อช่วยรณรงค์ต้านภัยโควิด

อาจารย์ ดร.อลงกรณ์ เห็นว่า เทคโนโลยียุคดิจิทัลช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกปิดกั้นในภาวะวิกฤต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน คณะละครดรีมบอกซ์ (Dreambox) นำเสนอละครเฉพาะกิจ ชมฟรีทางออนไลน์ในรูปแบบ Tele Theatre เรื่อง “ทึนทึก ตอนทางไกล” นำแสดงโดยนักแสดงชั้นนำของเมืองไทย อาทิ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ, ธิติมา สังขพิทักษ์, ผอูน จันทรศิริ, วสันต์ อุตตมะโยธิน และ พล ตัณฑเสถียร

ละครขนาดสั้น 20 นาทีครั้งนี้เป็นงานทดลองจากผู้รังสรรค์งานและผู้เขียนบท ดารกา วงศ์ศิริ ซึ่งกล่าวบนเฟซบุ๊กว่า “เพื่อไม่ทำให้อาชีพที่รักของเราสูญสลายไปในระหว่างเวลาอันไม่แน่ไม่นอนนี้”  โดยกระบวนการทำงานก็เป็นทางออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่การซ้อมไปถึงการกำกับจากทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom ในระหว่างที่แสดงกัน ทีมงานมีเพียงนักแสดง ผู้กำกับ โพรดิวเซอร์ และผู้ช่วยโพรดิวเซอร์ ที่ต่างคนต่างทำงานจากบ้านของตัวเอง

“เป็นปรากฏการณ์ท้าทายวงการละครไทย เพราะรื้อวิธีคิดที่มองว่าละครเวทีจะต้องอาศัยเทคนิคการนำเสนอต่างๆที่สร้างมนต์วิเศษบนเวที โดยกลับมาเริ่มต้นกันที่บทขนาดสั้นที่ต้องคำนึงถึงการนำเสนอผ่านสื่อดิจิทัล นักแสดงมากฝีมือแต่ไม่เคยแสดงแบบนี้มาก่อน ถือเป็นความแหวกแนวแบบหนึ่ง” อาจารย์ ดร.อลงกรณ์ กล่าวชม

อย่างไรก็ตาม คนมักจะสงสัยว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์มาจากพรสวรรค์ หรือเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ดังนั้นหลายคนมักจะใช้เวลานั่งรอและรอให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นกับพวกเขา มากกว่าที่จะลงมือคิด ลงมือทำ ลงมือศึกษา

“ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ฉลาดมีไอคิวสูงจะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่จะเห็นได้ว่าคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบกระตุ้นความคิด มักจะมีความคิดแปลกๆ แตกต่างจากคนอื่น บางครั้งนักประดิษฐ์และศิลปินต่างๆก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังทำอะไร แต่พวกเขามีความกระตือรือร้น สงสัยใคร่รู้ ก็มักจะมีความคิดใหม่ๆ ซึ่งทำให้ผู้คนงุนงง”

“ในหลายครั้ง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหา เป็นผลจากการพยายามหาทางออกในเวลาที่มีอุปสรรค การใช้สื่อบันเทิงสารสนเทศอย่างชาญฉลาดจะช่วยให้ประโยชน์ แถมสาระเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพกายและสุขภายใจจากไวรัสโควิดได้ด้วย”

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า