รู้ลึกกับจุฬาฯ

กองทุน SSF เพื่อการสร้างวินัยการออม?

ในที่สุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการส่งเสริมการออมระยะยาว ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund หรือ SSF) ที่มาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2562 พร้อมกันนั้นก็ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้นอีกด้วย

กองทุน SSF ที่จะเริ่มเปิดขายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม ระยะยาว ผู้สนใจสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการลงทุน และสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ โดยลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประเภทอื่นๆ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

แต่สิทธิการลดหย่อนภาษีที่จะลดลงไปของการมีกองทุนรูปแบบใหม่ จากเดิม ถือ LTF และ RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 1 ล้านบาท แต่เมื่อเป็น SSF และ RMF แล้วลดหย่อนได้เพียง 5 แสน เท่ากับว่าลดหย่อนน้อยลงไปครึ่งหนึ่ง

“มีคนเข้าใจว่าการมี SSF จะทำให้หุ้นตกเพราะเงินจะหายตลาดหุ้นหมด แต่ความเป็นจริงแล้วกองทุน LTF ก็ยังอยู่ไม่ได้หายไป เพียงแต่หลังจากนี้เป็นต้นไป LTF จะไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ไม่ใช่ว่าพอ LTF หมดอายุ

คนจะแห่กันไปถอน อาจจะมีลดลงบ้างเพราะหันไปซื้อ SSF เงินก็ยังวนอยู่ในตลาดหุ้น การบอกว่าหุ้นตกอาจเป็นการพูดเกินจริงไปหน่อย” อาจารย์ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

อาจารย์รุ่งเกียรติ อธิบายว่า รูปแบบการออมแบบใหม่นี้ส่งผลให้ผู้ที่มีรายได้สูงได้รับสิทธิลดหย่อนลดน้อยลง เนื่องจากเป็นการปรับระดับโครงสร้างภาษีที่กำหนดเพดาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น

“ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากสิทธิลดหย่อนที่ลดลง คือกลุ่มคนรวยที่มีรายได้สูง เพราะมักใช้สิทธิเต็มที่ แต่ก็จะมีเพดาน ในทางตรงข้าม กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้ต่ำได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น เพราะกองทุน SSF และกองทุน RMF ที่ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ อนุญาตให้ลดหย่อนได้มากถึง 30% ของเงินได้พึงประเมินจากเดิมที่ได้เพียง 15% เท่านั้น” อาจารย์รุ่งเกียรติกล่าว

กระนั้นก็มีเสียงวิพากษ์ว่าการปรับปรุงกองทุนรูปแบบใหม่เป็นกลยุทธ์การบริหารเงินภาษีของรัฐบาลเพื่อลดภาระ เพราะกองทุนแบบเดิมได้ช่วยเหลือและกระตุ้นให้คนไทยออมเงินมากว่า 10 ปีแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งมองว่าเป็นมาตรการในการจูงใจให้คนไทยสะสมออมเงินด้วยตนเอง

“รัฐมองในมุมมองว่าที่ผ่านมาได้กระตุ้นให้คนไทยรู้จักออมเงินมานานแล้ว เลยสร้างเงื่อนไขใหม่ให้ดึงดูดใจน้อยลง โดยไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษีมาเป็นแรงจูงใจแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คำถามที่ตามมาก็คือคนไทยพร้อมที่จะตระหนักถึงการออมแล้วหรือยัง”

อาจารย์รุ่งเกียรติชี้ว่า กองทุน SSF คนอาจจะมีแรงจูงใจในการออมน้อยลง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเองก็มีนโยบายกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เกิดการใช้จ่าย ทำให้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยใช้จ่ายเกินตัว ติดหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินต่างๆ จนไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะออมจึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างความรู้เท่าทันทางการเงิน (Financial Literacy) ในสังคมไทย และความพยายามผ่านโครงการรณรงค์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้ทักษะทางการเงิน พยายามสร้างวินัยในการออมเงิน ไม่กู้หนี้ยืมสิน

“มีคำถามว่าถ้าเราเพิ่มความรู้ทางการเงินให้เพียงพอ คนไทยจะออมหรือไม่ ผมลองเอาไปถามกับนิสิตที่เรียนบัญชี อ่านงบการเงินเป็น พวกเขาก็ไม่ได้ออมทุกคน แสดงว่าควรจะมีกลไกอย่างอื่นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออม เลยเป็นที่มาของการพูดคุยกันถึงการใช้กฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องออมเงิน”

อาจารย์รุ่งเกียรติอธิบายว่า ในอนาคตควรจะต้องมีกฎหมายให้ออมเงินแก่ลูกจ้างทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้คนไทยออมเงินและมีเงินใช้เมื่อเกษียณอายุ

“ยังคุยกันอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ทุกวันนี้ เรามีร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) กำลังจะเสนอต่อ ครม. ซึ่งจะบังคับใช้การออมเฉพาะกับลูกจ้างในระบบ แต่ยังขาดส่วนลูกจ้างนอกระบบ เช่น เกษตรกร ฟรีแลนซ์ ซึ่งมีเพียงกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เท่านั้น และเป็นระบบสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ทำให้มีคนบางส่วนไม่ได้ออม ดังนั้นการมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนออมก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการทำให้คนไทยออมเงินได้” อาจารย์รุ่งเกียรติทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า