Highlights

ลอตเตอรี่: ความหวังและการเลื่อนชั้นทางสังคม


“คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” คำกล่าวนี้เรียกเสียงหัวเราะที่ดูจะซ่อนทั้งความหวังและความจริงอันขมขื่น อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนทำความเข้าใจเหตุที่คนไทยจำนวนมากฝากความหวังไว้ที่หวยและลอตเตอรี่ พร้อมวิเคราะห์ความนิยมซื้อลอตเตอรี่ว่าเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำ การเลื่อนชั้นทางสังคม และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างไร


วันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน ดูจะเป็นวันแห่งความหวังของคนไทยหลายล้านชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง แม้โอกาสที่จะถูกรางวัลใหญ่ เช่น รางวัลที่ 1 จะมีเพียง 1 ในล้าน หรือ 0.0001% และความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งก็มีอยู่แค่เพียง 1.41% เท่านั้น แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังคงซื้อลอตเตอรี่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ด้วยความหวังว่า “งวดนี้ โชคอาจจะเข้าข้างเรา”  ได้เลื่อนชั้นเป็นเศรษฐี มีอันจะกินกับเขาเสียที

Assistant Professor Dr. Thanee Chaiwat
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลายคนอาจมองว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของนักเสี่ยงโชค ที่ไม่พึ่งพาความสามารถและความพยายามของตนเอง แต่หากเรามองเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเราจะพบความจริงอันซับซ้อนและขมขื่น — ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต้องเข้าหาหวย ลอตเตอรี่ รวมไปถึงแชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่าง ๆ เพื่อจะมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม มีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ลอตเตอรี่ ความหวัง และความเหลื่อมล้ำในสังคม

ลอตเตอรี่มีอยู่ในทุกประเทศ แต่ความคาดหวังจากลอตเตอรี่ของคนในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ผศ.ดร. ธานี ตั้งข้อสังเกต

ในหลายประเทศ ผู้ซื้อลอตเตอรี่อาจหวังแค่ความสนุกที่จะได้ลุ้น มากกว่าที่จะหวังรวยจากลอตเตอรี่จริง ๆ แต่ในประเทศไทย การเสี่ยงดวงกับตัวเลขเป็นเรื่องจริงจัง เห็นได้จากการถ่ายทอดสดการจับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกงวด การรายงานข่าวผู้โชคดีถูกหวยหรือลอตเตอรี่ และอีกหลายข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่บอกใบ้เลขเด็ดเพื่อชี้ช่องรวยให้ใครหลายคน

ภาพความนิยมในลอตเตอรี่เหล่านี้สะท้อนสังคมที่มีความหวังหรือไม่มีหวังกันแน่? ทำไมคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงนิยมซื้อลอตเตอรี่ แม้ความหวังจะริบหรี่?

“เรามักจะได้ยินคนพูดกันว่าการซื้อหวยคือการซื้อความหวัง แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น คนส่วนใหญ่ที่หวังจะถูกหวยหรือลอตเตอรี่ เพราะเขาแทบไม่เหลือความหวังอื่นในชีวิตที่จะร่ำรวยขึ้นได้อีกแล้ว เราอยู่ในสังคมที่คนยากจนมีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์ในการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)”

ยิ่งเป็นคนระดับล่าง โอกาสขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางก็ยิ่งยาก เมื่อเป็นชนชั้นกลางแล้ว อยากจะเลื่อนขึ้นไปเป็นคนรวยก็ยากขึ้นไปอีก การฝากความหวังไว้ที่หวยของคนไทยจึงเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจน

“ถ้าผมขยันแล้วผมสามารถร่ำรวยขึ้นได้ในประเทศนี้ ผมอาจจะสนใจลอตเตอรี่น้อยลง แต่เราจะเห็นว่ามีคนยากจนจำนวนมาก ที่ทำงานหนักและเหนื่อยกว่าผมอีก แต่แทบไม่มีความหวังที่จะมีฐานะที่ดีขึ้น” ผศ.ดร. ธานี กล่าวยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

หวยและลอตเตอรี่จึงเป็น “ความหวัง” ที่หลายคนเห็นว่าคุ้มที่จะเสี่ยง!

ลอตเตอรี่กับความหวังในการเลื่อนชั้นทางสังคม
ลอตเตอรี่กับความหวังในการเลื่อนชั้นทางสังคม

การยึดรัฐ (State Capture) ปิดโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างไร

การลงทุนในหุ้น คริปโต การเทรดค่าเงินตรา แชร์ลูกโซ่และธุรกิจสีเทาต่าง ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นข่าวร้อนในปัจจุบัน ดูจะเป็นเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่หวังจะรวยเร็วและรวยลัด ในขณะที่คนจำนวนมากในสังคมหันเข้าหาหวยและลอตเตอรี่ แต่ไม่ว่าจะเล่นหรือซื้ออะไร “ช่องทางดังกล่าวล้วนตั้งอยู่บนความหวังในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น” ผศ.ดร. ธานี กล่าว

“ถ้าเราเป็นชนชั้นล่างถึงกลาง โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีธุรกิจ ไม่ได้มีทรัพย์สินที่จะเป็นหลักประกันในการต่อยอดหรือเริ่มต้นทำธุรกิจ แล้วหวังที่จะร่ำรวยหรือขยับสถานะทางสังคม เราจะทำอะไรได้บ้าง การซื้อลอตเตอรี่คือความหวังเดียวในชีวิตที่จะมีโอกาสในการมีเงิน 6 ล้านบาทอยู่ในบัญชี ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการจะมีเงิน 6 ล้านบาทในบัญชีจากการทำงานไม่ง่ายนัก ลอตเตอรี่จึงเป็นสิ่งที่สื่อสารว่านี่คือโอกาสในการเลื่อนชนชั้น”

แล้วเพราะอะไรการเลื่อนชั้นในสังคมไทยจึงมีอัตราที่ตํ่ามาก ๆ ผศ.ดร. ธานี ตั้งคำถามชวนสืบค้น และกล่าวถึง State Capture หรือ การยึดรัฐ ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเอกสารของธนาคารโลกที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000

ผศ.ดร. ธานี อธิบายว่าการยึดรัฐ หมายถึงการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ คำว่า “ยึดรัฐ” เกิดขึ้นช่วงแรก ๆ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ที่นายทุนหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ถือครองทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือพลังงาน และกลุ่มทุนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลผ่านการกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจได้

“ในช่วงต้น เราจะยังไม่ค่อยเห็นปัญหาของ State Capture เพราะการที่นายทุนเข้ามามีบทบาทต่อนโยบายเศรษฐกิจ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ แต่มาวันนี้ เราเริ่มเห็นผลเสียของการยึดรัฐ นั่นคือเงินและทรัพยากรทางการเงินทั้งหลายในประเทศ กระจุกอยู่กับนายทุนหรือกลุ่มทุนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อกับอุตสาหกรรมแค่บางประเภท ที่กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นผู้ถือครองอยู่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มากขึ้น”

การยึดรัฐโดยกลุ่มทุนทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้ยากขึ้น และไม่สามารถรวยขึ้นได้เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้คนจนเติบโต แต่เอื้อให้คนรวยได้กำไร

“คนจำนวนมากที่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ทำงานหนัก แข่งขัน ปากกีดตีนถีบแค่ไหน ก็รวยขึ้นได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น พอนาน ๆ เข้า ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้นเป็นเท่าทวี และสูงขึ้นบนฐานความชอบธรรมที่ถูกกำหนดโดยนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ”

ไม่เพียงประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศในอาเซียนก็มีภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ กัน คือกลุ่มของเศรษฐีหรือตระกูลที่มีความมั่งคั่งยังเป็นคนกลุ่มเดิมกับเมื่อ 20-30 ปีก่อน

“ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่เรามีมหาเศรษฐีที่ติดอันดับโลกเยอะขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ GDP ของประเทศก็ไม่ได้สูงมาก คนระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ในอัตราที่น้อยกว่า หรือยากจนลงโดยเปรียบเทียบ”

ผศ.ดร. ธานี กล่าวเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาของประเทศตะวันตกที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มมหาเศรษฐีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง

“อาจจะมีบ้างที่ยังเป็นคนเดิม ๆ แต่ก็จะมีคนใหม่ ๆ เปลี่ยนหน้าเข้ามาเรื่อย ๆ นั่นแปลว่าคนในประเทศของเขามีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมหรือ social mobility สูง”

การกุมอำนาจรัฐผ่านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง ผศ.ดร. ธานี ให้ข้อสรุป

“State Capture จะเห็นได้ชัดในประเทศที่มีรัฐบาลที่ไม่เก่งในเรื่องบริหารเศรษฐกิจ อันนี้เป็นกระบวนการปกติ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณธรรมหรือศีลธรรม ประเทศเราอาจจะมีรัฐบาลที่มาจากข้าราชการ ทหาร หรือนักการเมืองที่ไม่ได้มีความถนัดในเรื่องของธุรกิจ พอเป็นแบบนี้ ที่ปรึกษาของรัฐบาลก็จะมาจากบริษัทใหญ่ ซึ่งคนเหล่านี้ก็อาจจะมีโอกาสกำหนดนโยบายที่เอื้อกับบริษัทใหญ่มากกว่าโดยไม่รู้ตัว อย่างนี้เป็นต้น จริง ๆ รูปแบบของ State Capture มีหลากหลาย เช่น การให้ทุนสนับสนุนพรรคการเมือง การใช้ภาคธุรกิจในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับพรรคการเมือง การใช้ความสัมพันธ์หรือความสนิทชิดเชื้อเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันก็ได้”

หยุดการยึดรัฐด้วยกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ผศ.ดร. ธานี กล่าวว่าการจะหยุดการยึดรัฐโดยกลุ่มทุน รัฐต้องเอาจริงและจริงใจกับการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ที่มักเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ หรือคน (รวย) ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ

“สมมติรัฐออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็จะมีกลุ่มทุนใหญ่ ๆ อยู่แค่ไม่กี่กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ หรือการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ก็จะมีกลุ่มทุนรายใหญ่อยู่แค่ไม่กี่รายที่มีศักยภาพในการเข้าถึงและเข้าร่วมกำหนดนโยบาย ส่งผลต่อเรื่องของความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ในมุมนี้ SME รายย่อย หรือธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีเสียงน้อยกว่า ก็ได้รับประโยชน์จากนโยบายน้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราอยากได้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ๆ แบบเร็ว ๆ”

“หากการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าทำได้ไม่ดีพอ กลุ่มทุนใหญ่ก็จะมีกำไรเยอะขึ้น และจะผูกขาดตลาดได้ง่ายขึ้น เช่นในธุรกิจค้าปลีก พลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ดังนั้น ในประเทศตะวันตก จึงมักส่งเสริมกฎหมายแข่งขันทางการค้าเพราะมันคือเครื่องมือปกป้องและคุ้มครองการผูกขาดทางธุรกิจ”

รูปแบบการผูกขาดทางเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

การผูกขาดทางเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่มีรูปแบบที่แยบยล และมักทำให้คนส่วนมากรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับ ทั้ง ๆ ที่อาจกำลังถูกเอาเปรียบหรือกดค่าแรง ผศ.ดร. ธานี เปิดประเด็น

“สมมติผมเป็นเจ้าของร้านโชว์ห่วยที่มีมากมายในประเทศในลักษณะผูกขาด คือร้านโชว์ห่วย 90% เป็นของผมเอง ผมมีแนวโน้มที่จะผูกขาดตลาด หมายความว่า ผมไม่จำเป็นที่จะต้องกดค่าแรง ผมให้ค่าแรงในอัตราปกติหรือค่อนข้างดี แต่ผมได้กำไรสูงขึ้นจากการขายสินค้าในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน ผมสามารถขายสินค้าที่เป็น house brand ของผมได้โดยตรง กำไรเพิ่มขึ้น รวยขึ้นได้”

ผศ.ดร. ธานี อธิบายต่อด้วยการยกตัวอย่างเดิม “ร้านโชว์ห่วยที่ว่ามาแล้วนั้น ขายยาสีฟันหลอดเล็ก ๆ ครีมซอง ของปลีกต่าง ๆ ให้ใคร? ก็ขายให้กับแรงงานที่มีรายได้น้อย เพราะคนเหล่านี้ซื้อของสต๊อกไม่ได้ เป็นการขูดรีดหรือเอารัดเอาเปรียบ (exploitation) ในรูปแบบที่ซับซ้อน จากแต่ก่อนที่เคยเอารัดเอาเปรียบจากการกดค่าแรง แต่รูปแบบใหม่นี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบที่มาพร้อมกับความสะดวกสบายและความพึงพอใจของผู้บริโภค เป็นการขูดรีดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และเก็บกำไรที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปราศจากการแข่งขัน อันนี้เป็นความยากในธุรกิจโลกยุคใหม่ จึงต้องมีการกำกับที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งประเทศไทยยังไปไม่ถึง”

เสนอ 2 นโยบายขับเคลื่อน “ความหวัง” ในสังคม

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร. ธานี เสนอให้รัฐกำหนดนโยบายหลัก ๆ 2 ประการ คือ หนึ่ง สร้างมาตรการที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง และสองออกนโยบายที่ส่งเสริมโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตได้ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงสินเชื่อที่เอื้อให้รายเล็กเติบโตได้มากขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล กระจายทุนและโอกาส อาทิ งานช่าง งานออกแบบ งานฝีมือต่าง ๆ  เป็นต้น

หากสามารถลดระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนและรัฐลงได้อย่างเหมาะสม ให้คนชั้นล่างของสังคมได้เข้าถึงทุนและโอกาสในการแข่งขันอย่างทั่วถึง จนสามารถมี “ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีและมีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างยุติธรรม” ถึงเวลานั้น เราอาจจะเห็นคนจ่ายเงินซื้อความหวังลม ๆ แล้ง ๆ อย่างการซื้อลอตเตอรี่ หรือฝากอนาคตไว้กับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงน้อยลง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า