รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 เมษายน 2566
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
ปัจจุบันมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ได้รับการผ่อนปรนขึ้นมากจนสามารถถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะบางพื้นที่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อโควิด-19 หายไปจากโลกนี้แล้ว อันที่จริง ยังคงมีผู้ป่วยและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อยู่ การเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาสุขภาพ การฉีดวัคซีน รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัย
แต่จะดีแค่ไหน หากเรามีตัวช่วยที่สามาถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ตั้งแต่โพรงจมูก ก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจในร่างกาย
อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยและการค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี้ว่า “ช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกแรกเดือนเมษายน 2563 เรากังวลกันว่าจะรับมือการระบาดไหวไหม มีคนไข้ที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตด้วย ก็เลยหารือกัน ขณะนั้นทางทีมวิจัยของศูนย์ฯ กำลังศึกษาและทำยารักษามะเร็งอยู่ เราจึงเห็นว่าองค์ความรู้และความสามารถที่เรามีในการพัฒนายาจากแอนติบอดี้ น่าจะช่วยในการรับมือโรคโควิดได้”
ด้วยความร่วมมือของ 5 ภาคี ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำองค์ความรู้จากการค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” มาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “โควิแทรป – สเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมแรกในโลก ที่นำแอนติบอดี้มาสร้างเป็นสเปรย์พ่นจมูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ 4 เพื่อดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในโพรงจมูก
อ.นพ.ไตรรักษ์ ย้อนเล่าถึงการวิจัยและค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” ว่าทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้วจำนวนกว่า 300 คน แล้วนำเลือดที่ได้มาตรวจหาบีเซลล์ (B cells) เพื่อค้นหาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่สามารถสร้างแอนติบอดี้ที่จัดการเชื้อโควิด-19 ได้
“จากบีเซลล์นับล้านตัว เรานำมาผ่านกระบวนการ High-Throughput Screening จนพบบีเซลล์ที่ผลิตแอนติบอดี้ที่สามารถต้านเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม จากนั้นก็นำบีเซลล์นี้ไปทำการถอดรหัสพันธุกรรมของยีนแอนติบอดี้ (Immunoglobulin Gene) แล้วนำเข้าสู่การผลิตแอนติบอดี้โดยกระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้แอนติบอดี้ปริมาณมาก”
อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบายว่าเมื่อแอนติบอดี้ดังกล่าวถ้าเข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ก็จะช่วยดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาในบริเวณนั้น ๆ
“อย่างกรณีที่ใช้วิธีฉีดแอนติบอดี้เข้าไปในร่างกาย แอนติบอดี้ก็จะเข้าไปป้องกันส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ลำไส้ เยื่อบุต่าง ๆ ส่วนวิธีการพ่นแอนติบอดี้เข้าไปในจมูก แอนติบอดี้ก็จะเคลือบอยู่บนผิวเยื่อบุของโพรงจมูก ป้องกันไม่ให้ไวรัสจับกับเซลล์เยื่อบุโพรงจมูกแล้วเข้าไปในร่างกายจนเกิดการติดเชื้อในร่างกาย”
แม้โควิแทรปจะมีแอนติบอดี้ที่ยับยั้งเชื้อโควิดได้ แต่ไม่อาจทดแทนวัคซีนได้
“แอนติบอดี้และวัคซีนแม้จะเป็นสิ่งที่สามารถใช้รับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งคู่ แต่ก็มีคุณสมบัติและการทำงานที่ต่างกัน จึงไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้” อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบาย
“การทำงานของวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้และเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นมากำจัดเชื้อโรคที่อาจเข้ามาในร่างกายของเรา ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันให้สำเร็จต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังการฉีดวัคซีน เมื่อภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่กับร่างกายได้นาน แต่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็อาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ ส่วนแอนติบอดี้ที่อยู่ในโควิแทรปนั้นเป็นเสมือน ‘ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป’ ที่ถูกผลิตจากโรงงาน เมื่อพ่นเข้าในโพรงจมูกแล้ว จะสามารถยับยั้งเชื้อโควิดในบริเวณนั้นได้เลย โดยที่แอนติบอดี้จะไม่เข้าไปในร่างกายและไม่มีการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมา ทำให้มีโอกาสเกิดอาการแพ้ต่ำกว่าการฉีดวัคซีน แต่ก็มีข้อเสียคืออยู่ได้ไม่นาน (ราว 6 ชั่วโมง) เนื่องจากร่างกายไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ผลิตแอนติบอดี้ออกมาเหมือนวัคซีน ทำให้แอนติบอดี้สำเร็จรูปที่เข้าไปในโพรงจมูกถูกขับทิ้งไปตามธรรมชาติโดยไม่มีการผลิตเพิ่ม”
ในเมื่อเราได้รับวัคซีนแล้ว สวมใส่หน้ากากแล้ว ทำไมเราจึงต้องใช้สเปรย์พ่นจมูก?
“โควิแทรปและหน้ากากอนามัยทำหน้าที่เสริมกัน ถ้านำทั้งสองอย่างมาใช้ร่วมกันก็จะมีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อโควิด-19 มากกว่าการใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ใช้อะไรปกป้องเลย” อ.นพ.ไตรรักษ์ ตอบ พร้อมยกตัวอย่างการใช้สเปรย์พ่นจมูกในการดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19
“หากเราอยู่ในพื้นที่แออัดแล้วต้องถอดหน้ากากอนามัย การป้องกันของเราก็หายไปแล้ว การใช้โควิแทรปก็จะช่วยทำหน้าที่ปกป้องเราจากเชื้อโรคได้ โควิแทรปเหมาะกับคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่นอยู่ในพื้นที่แออัด พื้นที่ปิด หรืออยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยในที่ ๆ มีคนเยอะ ๆ”
โควิแทรปเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย ใช้งานง่าย ที่สำคัญคือปลอดภัย โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยในกลุ่มอาสาสมัครอายุ 18-60 ปีแล้ว
“โควิแทรปเป็นสเปรย์พ่นจมูกที่มีแอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงที่ค้นพบมาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้ว มีความปลอดภัยสูง การพ่นแอนติบอดี้เข้าไปไม่ใช่เพื่อกระตุ้นภูมิในร่างกาย และไม่ได้เข้าไปในระบบต่างๆ ของร่างกาย ตัวแอนติบอดี้เคลือบอยู่บนผิวเยื่อบุโพรงจมูกเท่านั้น และสามารถดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ราว 6 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปตามธรรมชาติ”
อย่างไรก็ตาม อ.นพ.ไตรรักษ์ แนะนำว่าควรใช้สเปรย์ “โควิแทรป” เท่าที่จำเป็น หากใช้แล้วมีอาการผิดปกติ ก็ไม่ควรใช้ต่อ และควรใช้กับเด็กที่โตพอที่จะสื่อสารได้เท่านั้น เพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กมีอาการผิดปกติหรือไม่
อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าวว่าโควิแทรปเป็นนวัตกรรมที่มีความยืดหยุ่นสูง นอกจากการนำตัวแอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19 มาพ่นจมูกแล้ว ยังสามารถนำแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น ๆ มาพัฒนาต่อยอดเป็นสเปรย์พ่นจมูกเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้อีก
“ในอนาคตหากเชื้อโรคโควิด-19 เกิดการกลายพันธุ์ หรือมีโรคอื่น ๆ เกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อ RSV ทีมวิจัยของศูนย์ฯ ก็สามารถพัฒนาแอนติบอดี้ให้สามารถดักจับและยับยั้งเชื้อตัวใหม่ได้”
นอกจากนั้น อ.นพ.ไตรรักษ์ ยังกล่าวถึงแนวคิดที่อาจจะปรับใช้ตัวแอนติบอดี้เพื่อพ่นสเปรย์ให้กับสัตว์ด้วย โดยต้องปรับวิธีการสเปรย์ให้เหมาะสมกับสัตว์ “เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าสัตว์ก็เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเช่นกัน”
อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดชีวิต มันไม่มีทางที่จะหมดไปในปีสองปีนี้อย่างแน่นอน และในอนาคตอาจจะมีเชื้ออื่น ๆ เกิดขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งเราต้องรับมือกับมันในระยะยาวให้ได้”
โควิแทรปผ่านการทดสอบตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา และขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีวางจำหน่ายตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป
สามารถอ่านงานวิจัย นวัตกรรมสเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี้ ได้ที่ https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2022.10.04.22280574v1
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้