รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
1 มิถุนายน 2564
สถานการณ์โควิด-19 จำกัดพื้นที่ของทุกคน แต่จินตนาการไม่ได้ถูกจำกัดไปด้วย อาจารย์จุฬาฯ แนะผู้ปกครองใช้เวลาที่อยู่ติดบ้านมากขึ้น เลือกสรรกิจกรรมสัมพันธ์ เสริมสร้างพัฒนาการเด็กอย่างสมวัยและปลอดภัย
ปกติ เด็กเล็กมักออกไปเล่นนอกบ้านพร้อมผู้ปกครองคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นปัจจุบัน เด็กๆ ถูกจำกัดสถานที่เล่นให้อยู่ภายในบริเวณบ้าน หากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงอยู่อีกหลายเดือน สมาชิกในครอบครัวควรเล่นอะไรและเล่นอย่างไรเพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจและความสามารถของเด็กในแต่ละช่วงวัย
“เด็กในวัย 3 ปีแรก ถือเป็นช่วงทองของการส่งเสริมพัฒนาการ ถ้าส่งเสริมดีในเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและพัฒนาการด้านต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเด็ก ๆ ในวันหน้า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทรี ทวีธนะลาภ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงความสำคัญของการเล่นกับเด็ก
“การเล่นเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กทุกวัยอยู่แล้ว และเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของสมอง เสริมสร้างจินตนาการการเรียนรู้ การสัมผัส การมองเห็น และการได้ยินเสียงต่างๆ การเล่นอย่างเหมาะสมกับวัยยังจำเป็นต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เส้นใยประสาทของเด็กขยายเชื่อมต่อโยงถึงกันเป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเจริญเติบโต ทักษะการสื่อสาร การวางแผนเวลา และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น”
ผศ. ดร. สุนทรี แนะนำการเล่นกับเด็กเล็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในแต่ละช่วง ตั้งแต่ต่ำกว่า 1 ขวบ ถึง 4 ขวบขึ้นไป ดังนี้
สำหรับเด็กวัยแรกเรียนรู้ ผศ.ดร.สุนทรี แนะนำให้เลือกของเล่นที่มีหลากสีหลายรูปทรงที่น่าสนใจ ของเล่นที่มีเสียงหรือขยับเคลื่อนไหวได้ ของเล่นที่ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสายตากับการเคลื่อนไหวของมือ หากเป็นหนังสือควรเป็นหนังสือภาพกระดาษแข็งที่เปิดง่ายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก
แม้ไม่มีของเล่น ผู้ปกครองก็สามารถชวนลูกเล่นได้อย่างง่ายๆ และเป็นธรรมชาติ อย่างเช่น การเล่นปิดแอบ
“การเล่น ‘จ๊ะเอ๋’ เป็นการสอนให้รู้จักการรอ การคงอยู่และหายไป รวมทั้งการเดาเหตุการณ์ ซึ่งการเล่นแบบนี้จะตามมาด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก หรือจะปรับใช้ของในบ้านมาเล่นซ่อนหาโดยเอาของไปซ่อนใต้ผ้าห่มแล้วชวนให้เด็กๆ ค้นหาก็จะเป็นการเล่นเพื่อกระตุ้นความจำของเด็กๆ” ผศ.ดร.สุนทรี กล่าว
นอกจากนี้ เด็กวัย 9-10 เดือน ที่เริ่มจะยืนเกาะได้แล้ว พ่อแม่อาจใช้เก้าอี้ในบ้านหรือรถเข็นที่ปลอดภัยให้ลูกได้ลองเกาะทรงตัวและเดิน
“สิ่งที่หลายบ้านชอบใช้กับเด็กวัยนี้คือรถหัดเดินที่มีล้อลากซึ่งไม่ขอแนะนำเลย นอกจากจะไม่ทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้นแล้วแต่จะทำให้เกิดปัญหาการเดิน เด็กจะติดการเดินเขย่งส้นเท้า ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาตึง เอ็นร้อยหวายหดสั้น ทำให้มีปัญหาต่อลักษณะการเดินในอนาคต รวมทั้งรถหัดเดินนี้มีลูกล้อทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยด้วย” ผศ.ดร.สุนทรี กำชับ
วัยนี้คือวัยเตาะแตะและเริ่มซนบ้างแล้ว เริ่มรื้อสิ่งของ ปืนป่ายขึ้นบันได ไม่อยู่นิ่ง เด็กๆ จะเริ่มออกสำรวจโลกรอบตัวซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ ของเล่นสำหรับวัยนี้จึงควรเกี่ยวกับการลากจูง พ่อแม่อาจเพิ่มความสนุกโดยทำทางเดินลากจูงให้แก่เด็กๆ อาจเป็นทางเดินคดโค้งหรือซิกแซก มีทางเลี้ยวไปมาเพื่อเสริมประสบการณ์การทรงตัว นอกจากนี้อาจให้ลูกปีนป่ายหมอน หรือสร้างอุโมงค์กระดาษให้เด็กมีการเคลื่อนไหว รวมทั้งพาลูกวิ่งเล่นบนพื้นหญ้าหรือเล่นทราย
ผศ.ดร.สุนทรี แนะให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ ออกกำลังกายเพื่อเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรง รวมทั้งการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กในมือ เช่น การขีดเขียนด้วยมือด้านที่ถนัดและการใช้มือปั้นดินแป้ง หรือจับช้อนตักของก็สำคัญต่อการฝึกฝนทักษะและความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ การทำงานของสมองกับการควบคุมอวัยวะในร่างกาย
สำหรับเด็กวัยนี้ การเล่นและการทำกิจกรรมในครอบครัวจำเป็นต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของพวกเขา นอกจากการอ่านออกเสียงหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบแล้ว การใช้เสียงขับร้องเพลงพร้อมท่าประกอบจังหวะยังมีส่วนกระตุ้นพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก ยิ่งเด็กมีคำถามระหว่างประกอบกิจกรรม พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยิ่งต้องชิงโอกาสเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นให้แก่พวกเขาผ่านคำอธิบายขยายความและการเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงที่น่าสนุกชวนติดตาม
ผศ.ดร.สุนทรี กล่าวย้ำในเรื่องนี้ว่า “แม้เด็กวัยนี้จะพูดยังไม่คล่อง แต่การเล่นแบบนี้จะทำให้พัฒนาการด้านการพูดของเด็กเติบโตได้เร็วขึ้น มีความสามารถด้านการอ่านได้ดีขึ้น”
เด็กในวัยนี้ไม่อยู่นิ่งขั้นสุด เด็กมั่นใจในการเคลื่อนที่ของตนมากขึ้นเนื่องจากความพร้อมของกล้ามเนื้อและการทรงตัวที่ดีขึ้นมาก ของเล่นเด็กจึงควรเป็นของเล่นที่เน้นการใช้พลังงาน เช่น จักรยานสามล้อ จักรยานทรงตัว การเตะลูกฟุตบอล การกระโดด และการโยนลูกบาสเก็ตบอล
“การเล่นโดยใช้พลังงานเป็นการกระตุ้นให้ออกกำลัง ยิ่งช่วงที่ทุกคนต้องอยู่ติดบ้าน ยิ่งต้องกระตุ้นเพื่อไม่ให้เด็กอ้วน และอาจเพิ่มกิจกรรมทางกายอีก เช่น การโยนรับส่งลูกบอล การใช้ตะกร้ารับลูกบอล การคลานพร้อมสิ่งของวางบนหลัง การเต้นประกอบเพลง ที่จริง นอกจากการเล่นจะควบคุมภาวะอ้วนได้แล้วยังช่วยดึงเด็กๆ วัยนี้ให้ถอยห่างจากหน้าจอหรือเกมได้ด้วย” ผศ.ดร.สุนทรี กล่าว
นอกเหนือจากการเล่นที่ใช้พลังงานดังกล่าวแล้ว การปล่อยให้เด็กวัยนี้วาดเขียนบนผนังหรือกระดาษใหญ่ๆที่เตรียมไว้ให้ และการติดแผ่นสติกเกอร์ตามจุดต่างๆ ยังจำเป็นต่อเด็กวัย 2-3 ปีเช่นกัน เนื่องจากกล้ามเนื้อนิ้วและมือมัดเล็ก ๆ ของพวกเขาต้องการการกระตุ้นพอ ๆ กับจินตนาการ การฝึกร้อยลูกปัดที่ต้องใช้สายตาและนิ้วมือที่แม่นยำจึงเป็นอีกกิจกรรมในบ้านที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา
การเล่นที่เหมาะสมกับวัยนี้คือบทบาทสมมติ เพื่อกระตุ้นจินตนาการผ่านบทบาทที่ได้รับและฝึกฝนทักษะกระบวนการสื่อสารกับคนอื่น ๆ
“จิ๊กซอว์หรือเลโก้” ก็เป็นอีกชิ้นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ เพื่อฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้การเล่นกิจกรรมเกี่ยวกับแสงเงา ไม่ว่าจะเป็นแสงจากดวงอาทิตย์หรือแสงจากไฟฉาย จะช่วยเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของการสังเกต การจำแนกระยะทาง ตำแหน่งและขนาดของเงา
เด็กวัยนี้เริ่มทำงานบ้านง่ายๆ ได้บ้างแล้ว พ่อแม่อาจเริ่มชวนลูกมาช่วยงานบ้านเพื่อฝึกความรับผิดชอบร่วมกันในครอบครัว เช่น การรดน้ำต้นไม้ การคัดแยกผ้าก่อนซัก การตากและเก็บผ้า การทำขนมอย่างง่ายๆ
วัยนี้เริ่มไปโรงเรียน พ่อแม่อาจจัดเวลาเล่นล้อกับแผนการเรียน เช่น ช่วงเช้าถึงเที่ยงเป็นเวลาเรียนรู้ มีพักระหว่างเรียน พักเที่ยง และเวลานอนกลางวัน ช่วงบ่ายจะเป็นเวลาสันทนาการ กิจกรรมกลุ่มฝึกงานฝีมือ ซึ่งน่าจะใช้กรอบนี้กำหนดแผนกิจกรรมในบ้าน ฝึกฝนเด็ก ๆ ให้รู้จักการแบ่งหรือจัดสรรเวลาประกอบกิจกรรมต่างๆ เมื่อไรเรียน ทำงานประดิษฐ์ เมื่อไรพักและเล่น ที่สำคัญกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังที่เน้นการใช้พลังงาน
“การเล่นกับลูกมีประโยชน์ก็จริง แต่การแบ่งเวลาก็สำคัญ พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย เรียนรู้การแบ่งเวลา ช่วงไหนเป็นเวลาที่พ่อแม่อยู่กับลูก ช่วงไหนเป็นเวลาทำงานของพ่อแม่ รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับคนต่างวัยในกรณีที่พ่อแม่ติดธุระ เด็ก ๆ จำเป็นต้องอยู่กับญาติผู้ใหญ่ในบ้านแทน” ผศ.ดร.สุนทรี กล่าวทิ้งท้าย
ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในช่วงวัยใด และไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกนานเพียงใด กิจกรรมง่ายๆ ในบ้านดังที่ผศ. ดร. สุนทรี แนะนำไว้ข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาการของเด็กและยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตอีกด้วย
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้