Highlights

ศิลป์สนุกกับ “History of Art การเดินทางของศิลปะ” สื่อการสอน รางวัลนวัตกรรมดีเด่น ผลงานอาจารย์สาธิตจุฬาฯ


อาจารย์สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม สร้างสรรค์ “History of Art การเดินทางของศิลปะ” นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ สำหรับนักเรียนระดับประถม ตอบโจทย์ทุกแนวการเรียนรู้ ทั้งอ่าน ฟัง ทำ เล่น ให้เด็กสนุกเต็มที่ในโลกของศิลปะ 


“เพราะศิลปะไม่ใช่แค่การวาดภาพ” อาจารย์สุภิญญา สมทา จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จึงพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ “History of Art การเดินทางของศิลปะ” เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกไปพร้อมกับการเล่นเกมและทดลองทำกิจกรรมสนุกๆ ด้วยตนเอง ล่าสุด ผลงานวิจัย จุฬาฯ ชิ้นนี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) 

จุดเริ่มต้น ของแนวคิดการสร้างนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ สำหรับนักเรียนระดับประถม

อาจารย์สุภิญญา เล่าประสบการณ์จากห้องเรียนศิลปะที่จุดประกายแนวคิดนวัตกรรมการเรียนรู้ดีเด่นชิ้นนี้ว่า “เวลาที่เรายกตัวอย่างผลงานของศิลปินมาให้นักเรียนลอกเลียนแบบและศึกษาวิธีการทำงานศิลปะชิ้นนั้นๆ นักเรียนจะสนใจถามถึงที่มาของศิลปะและศิลปิน จึงทดลองทำวิชาเลือกเสรีในโรงเรียนให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะแบบคร่าวๆ โดยวิธีการเรียนรู้แบบบรรยาย พบว่าเด็กๆ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ ต่อมา จึงคิดออกแบบพัฒนาสื่อการสอนศิลปะที่เป็นชุดกิจกรรมนี้ขึ้น” 

อาจารย์สุภิญญา สมทา จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
อ.สุภิญญา สมทา

การสอนประวัติศาสตร์ศิลป์สำหรับนักเรียนระดับประถม ด้วยหัวใจการเรียนรู้ศิลปะบนเส้นทาง “History of Art”

โดยมาก การเรียนศิลปะสำหรับนักเรียนระดับประถมไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ศิลป์และมักเน้นไปที่การสร้างสรรค์ชิ้นงาน แต่สื่อการเรียน “History of Art การเดินทางของศิลปะ” ท้าทายรูปแบบการเรียนรู้ศิลปะแบบเดิม ทั้งนี้ อาจารย์สุภิญญา อธิบายว่าการเรียน “วาดเขียน” เป็นเพียงหนึ่งใน 4 แกนของหลักสูตรศิลปศึกษา (Discipline-based Art Education) ซึ่งประกอบด้วย

1. สุนทรียศาสตร์ (Art Aesthetic)

2. ประวัติศาสตร์ศิลป์ (Art History)

3. ศิลปะวิจารณ์ (Art Criticism)

4. ศิลปปฏิบัติ (Art Production)

“ก่อนที่จะสร้างชิ้นงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น เราต้องมีความเข้าใจและมีทักษะทั้ง 4 เรื่องในหลักสูตรศิลปศึกษา เพื่อให้การเรียนรู้ศิลปะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน” อาจารย์สุภิญญา กล่าว 

บทเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ การเรียนรู้ศิลปะบนเส้นทาง “History of Art” ประกอบไปด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง?

สำหรับ “History of Art การเดินทางของศิลปะ” เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย 6 บทเรียนโดยแบ่งตามยุคศิลปะต่างๆ ได้แก่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคอียิปต์ ยุคกรีก-โรมัน ยุคกลาง ศิลปะยุคใหม่ และยุคโมเดิร์น

“ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมีเนื้อหาค่อนข้างเยอะและสามารถเรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับช่วงเวลาให้เข้าใจง่าย นอกจากนี้ การเรียนประวัติศาสตร์ตะวันตกจะช่วยให้เด็กได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างและสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมของตัวเองได้” อ.สุภิญญา อธิบายแนวคิดที่หยิบยกประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมาเป็นเนื้อหาการเรียนรู้ 

“แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการจดจำชื่อเรียกหรือแต่ละยุคมีผลงานของใครบ้างก็คือการสื่อให้เด็กเห็นว่าศิลปะในแต่ละยุคสมัยนั้นมีแนวคิดและที่มาที่แตกต่างกันอย่างไร และให้เขาเข้าใจว่าศิลปะไม่ใช่เพียงแค่รูปภาพ แต่เป็นแนวคิดของคนในยุคสมัยนั้นๆ ต่างหาก” 

ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ศิลปะ “History of Art”

อาจารย์สุภิญญา อธิบายว่าเด็กแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ชุดสื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ “History of Art การเดินทางของศิลปะ” จึงถูกออกแบบให้ตอบสนองความถนัดของผู้เรียนที่หลากหลาย อันประกอบด้วยชุดกิจกรรม ได้แก่  

ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ศิลปะ History of Art
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ศิลปะ “History of Art”

หนังสือ “History of Art”

เน้นรูปภาพการ์ตูน เรื่องราวการผจญภัย ซึ่งนอกจากจะเป็นในรูปแบบหนังสือเป็นเล่มแล้ว สำหรับผู้เรียนที่ชอบดูผ่านหน้าจอดิจิทัล ก็สามารถอ่านหนังสือในรูปแบบของ Flip book ทางออนไลน์ได้ด้วย โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด

บทเรียนออนไลน์

จะพานักเรียนไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบสามมิติ และนำไปสู่การค้นคว้าข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม 

เกมการ์ดจับคู่ผลงาน

ชุดเกมการ์ดเป็นเกมจับคู่ผลงานศิลปะต่างๆ กับยุคสมัยของผลงานนั้น นอกจากผู้เรียนจะสามารถเล่นเกมได้ด้วยตนเองแล้ว ครูผู้สอนยังสามารถนำสื่อการ์ดเกมมาใช้เพิ่มปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ชุดทดลองศิลปะปฏิบัติ

สำหรับผู้เรียนที่ชอบการลงมือปฏิบัติ ชุดกิจกรรมนี้จะมีกิจกรรมศิลปะท้ายบทพร้อมอุปกรณ์สำหรับฝึกปฏิบัติ เช่น ชุดศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์จะมีตัวอย่างผลงานภาพเขียนฝาผนังถ้ำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และทดลองเขียนภาพแบบฝาผนังถ้ำ โดยใช้อุปกรณ์ที่ให้ไว้ในชุดกิจกรรม 

สรุป

“นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์การเรียนรู้เฉพาะบุคคล คนชอบฟังก็ดูคลิปวิดีโอ คนชอบอ่านก็เปิดหนังสือ คนชอบเล่นเกมก็เล่นเกมการ์ด หรือคนที่ไม่สนใจเนื้อหาแต่ชอบปฏิบัติ ก็ลงมือทำงานศิลปะได้เลย นักเรียนสามารถสนุกกับการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีคุณครูคอยช่วยก็ได้” อาจารย์สุภิญญา กล่าวและทิ้งท้ายว่านวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ “History of Art” ยังจะเดินทางต่อไป โดยในอนาคต อาจารย์สุภิญญามีแผนจะหยิบยกเนื้อหาประวัติศาสต์ศิลปะทางฝั่งเอเชียมาให้นักเรียนได้สนุกกัน

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า