รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
2 พฤศจิกายน 2565
ผู้เขียน ภัทรพร รักเปี่ยม
เปิดให้บริการแล้ว! ทางเลือกใหม่ผู้บริโภค แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ โมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์โดยนักวิจัย จุฬาฯ หนุนชุมชนเป็นเจ้าของและประสานประโยชน์ร่วม สร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภค พร้อมขยายโมเดลในหลายชุมชนทั่วประเทศ
ฟรีค่าจัดส่ง! ส่วนลดค่าอาหาร! บรรดาแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ทั้งหลายต่างปล่อย “โปรสุดคุ้ม” กันออกมารัวๆ เพื่อช่วงชิงลูกค้า แต่ดีลที่ผู้บริโภคได้รับนั้นคุ้มแน่หรือ? เหล่าไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนสมราคาหรือไม่? ร้านค้าอยู่ได้หรือเปล่า?
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อค้นพบจากการทำวิจัยเรื่อง “ไรเดอร์ ฮีโร่-โซ่ตรวน” เมื่อปี 2562 ว่าในระบบธุรกิจดิลิเวอรี่ที่ดำเนินอยู่นั้น ไรเดอร์ได้ผลตอบแทนต่ำ ในขณะที่สภาพการทำงานเสี่ยงและหลักประกันทางสังคมน้อย และท้ายที่สุด ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายมากกว่าที่เชื่อว่าคุ้ม!
“ตอนที่ทำวิจัย เรารู้สึกโกรธที่เห็นไรเดอร์ ร้านค้า และลูกค้าถูกบริษัทฟูดดิลิเวอรีเอกชนเอาเปรียบมากเกินไป ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และมีมาตรการล็อกดาวน์ คนเดินทางน้อยลงเพราะ work from home ทำให้รายได้ของไรเดอร์ลดฮวบ ส่วนร้านอาหารที่ไม่อาจขายหน้าร้านได้ก็ต้องพึ่งช่องทางออนไลน์ แต่กลับถูกเก็บค่าส่วนแบ่งมากจนต้องขึ้นราคาขาย ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น สรุปแล้ว ทุกฝ่ายย่ำแย่กันหมด” คุณอรรคณัฐ เผยจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้เขาแปรรูปงานวิจัย “ไรเดอร์ ฮีโร่-โซ่ตรวน” เป็นโครงการพัฒนาโมเดลธุรกิจเศรษฐกิจสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ตามสั่ง-ตามส่ง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจ โดยเราทดลองนำแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์มาใช้ในโมเดลธุรกิจ สร้างแพลตฟอร์มให้คนในชุมชนใช้ สร้างกฎหรือกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพิ่มโอกาสและความมั่นคงทางอาชีพให้ชุมชน และที่สำคัญ เราหวังว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในชุมชน” คุณอรรคณัฐ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
โครงการวิจัยโมเดลธุรกิจ ตามสั่ง-ตามส่ง ได้รับทุนสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาฯ สำนักบริหารวิจัย และ CU Social Innovation Hub
“โครงการนี้มาจากงบประมาณภาษีของประชาชนและมาจากสถานศึกษา มันก็ควรจะตอบแทนคืนสู่สังคม ดังนั้น เป้าหมายความสำเร็จของโครงการจึงไม่ได้วัดที่ผลกำไรที่เป็นเม็ดเงิน แต่ดูที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน และสร้างองค์ความรู้เศรษฐกิจสมานฉันท์ในบริบทของประเทศไทย ที่มีการพูดถึงบ้างในเชิงหลักการ แต่ยังไม่ได้มีการลงมือทำอย่างจริงจัง”
ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ที่ให้บริการเหมือนกับแพลตฟอร์มเอกชนเจ้าอื่น ๆ แต่ที่ต่างออกไปก็คือโมเดลธุรกิจนี้ยืนอยู่บนแนวคิดและคุณค่าหลัก (core value) “เศรษฐกิจสมานฉันท์” (social solidarity economy)
คุณอรรคณัฐ ขยายความแนวคิดนี้ในเชิงรูปธรรมว่า “โมเดลธุรกิจบนแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์เปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาสร้างข้อตกลงร่วมกัน ออกแบบกฎและกติกาที่ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการปรับเปลี่ยนอะไร ก็ต้องพูดคุยและตกลงกันก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งในอนาคต ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต่างจากโมเดลธุรกิจแบบเดิม ที่มีคนได้และมีคนเสียประโยชน์ หรืออย่างที่พูดกันว่า Winner takes it all.”
แม้จะถูกมองว่าเป็นแนวคิด “โลกสวย” แต่ทีมวิจัยก็มั่นใจว่าโมเดลธุรกิจนี้เป็นไปได้ และจะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
“ก็คงต้องใช้เวลาสักหน่อย โดยเฉพาะกระบวนการที่จะทำให้ทุกฝ่าย ทั้งไรเดอร์ ร้านค้าและผู้บริโภคในชุมชน เห็นประโยชน์และเข้าใจว่าพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากโมเดลธุรกิจนี้อย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่กำไรที่เป็นเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว”
โมเดลธุรกิจด้านการเงิน (financial model) ไม่ใช่ความยากที่สุดของธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ หากแต่เป็นกระบวนการทำงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นทีมวิจัยต้องทำความเข้าใจสภาพสังคมและปัจจัยที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน (social cohesion) รวมถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และชุมชนอยากเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วยตัวเอง
“ในช่วงแรก ต้นทุนในการบริหารจัดการโครงการ พัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการ และดูแลระบบต่าง ๆ ทางโครงการวิจัยจะเป็นผู้สนับสนุนให้ทั้งหมด เมื่อชุมชนรู้สึกว่าพวกเขาได้ประโยชน์และยินดีที่จะดูแลค่าใช้จ่ายในการบริหารธุรกิจนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวชุมชนเอง ทีมวิจัยก็จะค่อย ๆ ถอยออกมา แต่จะยังคงสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยีในการใช้งานเท่านั้น”
หนึ่งในความท้าทายสำคัญในการทำธุรกิจดิลิเวอรี่ทางเลือกคือการปรับทัศนคติของผู้บริโภค คุณอรรคณัฐ กล่าวว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ลองใช้บริการ ตามสั่ง-ตามส่ง พอใจที่ได้อาหารในปริมาณและราคาตามจริง (เหมือนที่สั่งตามหน้าร้าน) แต่กลับไม่พอใจที่ต้องจ่ายค่าส่ง ที่ดูเหมือนจะมากกว่าค่าส่งที่เคยจ่ายผ่านโปรโมชันเมื่อใช้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจเอกชน
“เราต้องสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภครู้เท่าทันธุรกิจนี้ การจัดโปรโมชัน ฟรีค่าส่งบ้าง ลดราคาบ้าง เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมองไม่เห็นหรือมองข้ามต้นทุนจริงที่ต้องจ่าย”
“สำหรับ ตามสั่ง-ตามส่ง เราไม่ได้ช่วยค่าส่งหรือบวกค่าอะไรเพิ่ม ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าส่งตามจริง ซึ่งถ้าดูกันจริงๆ เมื่อรวมราคาอาหารและค่าส่งแล้ว สุดท้าย ราคาของเราที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะน้อยกว่าแพลตฟอร์มที่อื่นๆ เราจึงต้องค่อยๆ อธิบายจุดนี้ให้ลูกค้าเข้าใจว่าให้ดูที่ราคารวม อย่าดูเฉพาะค่าส่ง”
ตามสั่ง-ตามส่ง ออกแบบให้เป็นระบบบริการเพื่อชุมชนและโดยชุมชน (community-based) จึงเลือกใช้ระบบแอปพลิเคชันไลน์ ที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว และยังมีระบบอัตโนมัติที่ให้คุยกับแชตบอตได้อีกด้วย
“ทีมพยายามทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องมีทักษะดิจิทัลอะไรมาก เพียงแค่กดไม่กี่ครั้งเท่านั้นก็เข้าถึงบริการได้”
ที่สำคัญ ตามสั่ง-ตามส่ง เน้นการให้บริการในรัศมีประมาณ 3-5 ตารางกิโลเมตร โดยเชิญร้านอาหารกับไรเดอร์ในชุมชนนั้น ๆ มาเข้าร่วมโครงการ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็คือคนที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีกลุ่มเป้าหมายต่างกันออกไป
“อย่างจุฬาฯ สามย่าน ก็จะเน้นให้บริการนิสิต บุคลากร และคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นหลัก บางพื้นที่ในต่างจังหวัด อาจจะเน้นกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงวัยมีความจำเป็นและไม่สะดวกเดินทาง ทีมก็จะไปหาคนเหล่านั้น แนะนำให้เขารู้จักตัวเครื่องมือ ฝึกให้เขาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกเขา”
การที่ ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นระบบบริการที่เน้นชุมชน มีจุดได้เปรียบหลายข้อในเชิงธุรกิจ นอกจากราคารวมที่ย่อมเยากว่าแล้ว ยังเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสั่ง-ให้ตามส่งได้มากกว่า 1 ร้านด้วย
“ในการสั่งแต่ละครั้ง ผู้บริโภคสามารถสั่งได้มากกว่า 1 ร้าน เพราะแต่ละร้านอยู่ไม่ไกลกันมาก ไรเดอร์สามารถไปรับออเดอร์ได้ ค่าส่งก็จ่ายตามจริง โดยบวกเพิ่มค่าส่งให้ไรเดอร์มากกว่าเดิมหน่อย ไม่มีบวกค่า GP หรือหักส่วนแบ่งการขาย ค่าใช้จ่ายของลูกค้าก็จะลดลงเพราะไม่ต้องสั่งแยกออเดอร์ ไม่ต้องเสียค่าส่งสองครั้ง เหมือนแพลตฟอร์มอื่น”
ตามสั่ง-ตามส่ง เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มที่ชุมชนซอยลาดพร้าว 101 เป็นแห่งแรก จนทุกวันนี้ ชุมชนก็ยังคงเหนียวแน่นใช้บริการแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่นี้อยู่ โดยมีร้านค้าร่วมโครงการกว่า 70 ร้าน และไรเดอร์ 44 คน
จากผลตอบรับที่น่าชื่นใจ ทีมวิจัยได้ปรับปรุงแพลตฟอร์มเพื่อไปใช้งานในอีกหลายพื้นที่ เช่น จุฬาฯ สามย่าน เจริญกรุง เมืองเอก บางขุนเทียน หมู่บ้านนักกีฬา เพชรเกษม ฯลฯ
“การทดลองใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในพื้นที่ที่หลากหลายนับเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ เพราะทำให้เราเห็นปัจจัยหรือองค์ประกอบ เช่น สภาพสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นตัวแปรสำคัญของแต่ละพื้นที่ เราได้เห็นแนวทางในการพัฒนาโมเดลธุรกิจและกระบวนการที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่”
ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทดลองนำโมเดลธุรกิจนี้ไปปรับเป็นโครงการที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ได้แก่
คุณอรรคณัฐ กล่าวว่า โมเดลนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองความเป็นไปได้ ซึ่งหากผลการดำเนินงานดี ก็อาจจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
“ขณะนี้มีสมาคมไรเดอร์สนใจติดต่อเข้ามาขอโมเดลธุรกิจแบบ Worker Co-op ไปทำเองในพื้นที่ เช่น กลุ่มไรเดอร์ใน จ. สมุทรสงคราม พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ ซึ่งทางทีมยินดีมาก”
การดำเนินธุรกิจ ตามสั่ง-ตามส่ง ให้ดอกผลที่น่าชื่นใจกว่าเม็ดเงิน
“ความสัมพันธ์ในหลายชุมชนดีขึ้น ไรเดอร์ ร้านค้า และผู้คนในชุมชนรู้จักกันมากขึ้น สนิทกันและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น”
ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นทำให้ทีมวิจัยตั้งความหวังให้ ชุมชนทั่วประเทศได้ทดลองใช้โมเดลธุรกิจนี้บ้าง ซึ่งทางทีมวิจัยก็พร้อมอำนวยความสะดวก
“ในอนาคตทางทีมพัฒนาอาจจะเปิดเป็น open source เพื่อให้คนแต่ละพื้นที่เอาไปพัฒนาให้เหมาะกับบริบทของตัวเอง ดำเนินการด้วยตัวเอง เพียงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์”
คุณอรรคณัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่าในอนาคต ทีมวิจัยจะทำระบบ infrastructure ให้พร้อมกับการขยายผลการทำงานและเพิ่มพื้นที่ใหม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความอิสระจากกัน ซึ่งก็ต้องค่อย ๆ เป็นค่อยไป
ผู้บริโภคที่สนใจใช้บริการ “ตามสั่ง-ตามส่ง” สามารถเช็กพื้นที่ให้บริการได้ที่ เว็บไซต์ https://www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com/ หรือ Facebook Page: ตามสั่ง-ตามส่งหรือแอดไลน์ https://line.me/R/ti/p/%40456ttsxn
สำหรับชุมชนหรือกลุ่มไรเดอร์ที่สนใจลองใช้โมเดลธุรกิจนี้ สามารถติดต่อได้ที่คุณอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ โทร. 089-000-6667 หรือ อีเมล tamsang.tamsong@gmail.com
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้