ข่าวสารจุฬาฯ

แพทย์จุฬาฯ แนะแนวทางป้องกันโรคต้อหิน ตรวจพบก่อน “ป้องกันได้”

ต้อหิน

เนื่องในสัปดาห์ต้อหินโลก World Glaucoma Week 2023 ซึ่งตรงกับสัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคมของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 12-18 มีนาคม 2566 ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและนวัตกรรมโรคต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญของโรคต้อหิน เพราะ “ต้อหิน” คือสาเหตุทำให้ตาบอดถาวร (irreversible blindness) อันดับหนึ่งของโลก รวมถึงประเทศไทยมีคนไทยกว่า 2 ล้านคนป่วยเป็นโรคต้อหิน

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิศนี ตันติเสวี ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “โรคต้อหิน เป็นโรคอันตราย ที่มักจะไร้สัญญาณเตือนถึงอาการของโรคล่วงหน้า แต่หากคนไข้หมั่นสำรวจตนเอง และมาพบแพทย์เพื่อตรวจตาและรับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นสามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นจากต้อหินได้”

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิศนี ตันติเสวี
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิศนี ตันติเสวี
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรคต้อหิน คือ โรคของดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดความผิดปกติของขั้วประสาทตาและเส้นใยประสาทตาโดยรอบ บางตัวลงอย่างมีลักษณะจำเพาะ ตามมาด้วยเซลล์ประสาทตาฝ่อลง ส่งผลให้ตามัวและสูญเสียการมองเห็นได้หากไม่ได้รับการรักษา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ พบบ่อยคือ ความดันลูกตาสูงเกินค่าปกติ แต่ผู้ป่วยบางท่าน ไม่ต้องมีความดันตาที่สูงเกินไปก็เป็นต้อหินได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยร่วมอื่นๆ โรคต้อหินส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ อาจตรวจพบเมื่อมาตรวจสุขภาพทั่วไปหรือตรวจเจอโดยความบังเอิญ ผู้ป่วยที่มีอาการโดยเฉพาะอาการตามองไม่เห็น เมื่อมาตรวจก็มักจะพบว่าตอนนั้นโรคเป็นมากแล้ว” รศ.พญ.วิศนีอธิบาย

รศ.พญ.วิศนีขยายความถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคต้อหินว่า “ผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน คือ คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความดันลูกตาสูงเกินค่าปกติ มีญาติสายตรงเป็นต้อหิน สายตาสั้นหรือยาวมาก ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตา ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำโดยเฉพาะยาหยอดตา ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ควรมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจพบได้เร็วขึ้น หรือตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น และเมื่อแพทย์ตรวจพบโรคต้อหินได้เร็ว จะเพิ่มโอกาสการรักษาคนไข้ได้เร็ว ทั้งนี้เพื่อชะลอหรือหยุดการดำเนินโรค ไม่ให้กลายเข้าสู่ระยะรุนแรงที่ทำให้ตาบอดได้”

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคต้อหิน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคต้อหิน

การรักษาและควบคุมอาการโรคต้อหินมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาหยอดลดความดันลูกตา การใช้เลเซอร์ การผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่รับรองการรักษาโรคต้อหินด้วยการการบริโภคอาหารเสริม การใช้สมุนไพร หรือการรักษาด้วยการนวดตาอย่างรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างแน่นหนาที่สนับสนุนประสิทธิภาพการรักษาโรคของการใช้วิธีข้างต้น ณ เวลานี้ จึงขอให้ใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการดูแลรักษาดวงตาของท่าน หากสงสัยว่า ตนจะมีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน การมาปรึกษากับจักษุแพทย์ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม”   

รศ.พญ.วิศนีกล่าวเสริมว่า “ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรพ. จุฬาลงกรณ์มีการจัดบริการตรวจคัดกรองโรคต้อหินฟรีแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเข้าถึงการตรวจสุขภาพตามากขึ้น (ดังภาพด้านล่างนี้) ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์และเพจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ประชาชนทั่วไปที่ต้องการตรวจและรักษาอาการโรคต้อหิน สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือห้องตรวจผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 8.30-16.00 ติดต่อสอบถามโทร. 02-256-4000

ข่าวสารโรคต้อหิน

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า