นวัตกรรมใหม่สำหรับผู้ป่วยสูงวัย ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ “โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)” ก็เป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสามส่วนกลางส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า หนึ่งในอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นลักษณะเฉพาะในผู้ป่วยพาร์กินสันที่พบได้บ่อยและเห็นได้เด่นชัด คือ “อาการมือสั่นในขณะพัก” ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคมและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล แพทย์ประจำศูนย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในการรักษาโรคพาร์กินสัน ซึ่งในปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันมีอยู่ 2 วิธีหลัก คือ
- การใช้ยารักษาอาการสั่น แต่พบปัญหาของการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่ไม่สม่ำเสมอ
- การผ่าตัดสมองเพื่อฝังชิพรักษาอาการสั่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและอาจส่งผลข้างเคียงได้
ด้วยเหตุนี้การมีอุปกรณ์ที่จะช่วยในการวินิจฉัยและ/หรือรักษาโรคพาร์กินสันจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการสั่นและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ ดังนั้น ศ.นพ.รุ่งโรจน์ และ ดร.พญ.อรอนงค์ จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการรักษาอาการสั่น เรียกว่า “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น” ที่สามารถช่วยลดอาการมือสั่นในขณะพักของผู้ป่วยได้จริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ถุงมือหลอกในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นอุปกรณ์ถุงมือตรวจจับอาการสั่นและเป็นอุปกรณ์ระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้า หลักการทำงานของถุงมือพาร์กินสันลดสั่นจะเป็นการทำงานร่วมกัน 2 ระบบ คือ
- การตรวจจับและวัดลักษณะอาการสั่นของโรคพาร์กินสัน
- การระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าในระดับที่ปลอดภัย เพื่อช่วยลดอาการสั่นของมือผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ
การควบคุมการทำงานของถุงมือ การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาการสั่น และการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยระบบไฟฟ้าจะใช้การเชื่อมต่อส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบไร้สายหรือบลูทูธ (Bluetooth) มาเก็บไว้ที่หน่วยความจำโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล จุดเด่นของถุงมือพาร์กินสันลดสั่น คือ มีลักษณะเป็นถุงมือสวมใส่และใช้งานได้ง่าย โดยมีเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็กที่ใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จากแบตเตอรี่ พกพาสะดวก น้ำหนักเบา มีต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่แพทย์สามารถใช้แยกผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกับผู้ป่วยโรคสั่นแบบอื่นได้อีกด้วย อาจกล่าวได้ว่าถุงมือพาร์กินสันลดสั่นนี้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติพร้อมทั้งคืนความมั่นใจในการเข้าสังคมให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินอีกครั้ง
ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นผลงานนวัตกรรมที่อยู่ในระดับพร้อมถ่ายทดออกสู่เชิงพาณิชย์ มีระดับ Technology Readiness Level (TRL) อยู่ที่ระดับ 8 และได้จดสิทธิบัตรระดับชาติไว้แล้ว พร้อมทั้งได้รับรางวัล Best Abstract by a Woman in Movement Disorders จาก The International Association of Parkinsonism and Related Disorders
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อาคาร ส.ธ. ชั้น 7 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4000 ต่อ 70707 โทรสาร 0 2256 4000 ต่อ 70704 email: bh@chulapd.org หรือทางเว็บไซต์ www.chulapd.org
จากวารสาร ฬ จุฬา ปีที่ 3 เล่มที่ 29 หน้าที่ 8 https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/journal/vol29/

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย