ข่าวสารจุฬาฯ

เทคนิคพิเศษการสอนออนไลน์ ช่วง COVID-19 สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

 ท่ามกลางการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 ครูและอาจารย์ต่างต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนจากในชั้นเรียนมาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะครูที่ต้องดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ยิ่งต้องปรับตัวและปรับวิธีการสอนให้สอดคล้องกับความจำเป็นของนักเรียนทั้งด้านวิชาการและพฤติกรรม

อ.ดร.วาทินี อมรไพศาลเลิศ หัวหน้ากลุ่มการวิจัยการจัดความช่วยเหลือทางวิชาการและพฤติกรรมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำและแนวทางที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ครูการศึกษาพิเศษจัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

– เมื่อต้องสอนเด็กพิเศษทางออนไลน์ มีวิธีการหรือแนวทางใดบ้างที่จะช่วยให้คุณครูเตรียมการสอนได่อย่างมีประสิทธิภาพ

เด็กพิเศษแต่ละคนมีความต้องการจำเป็นที่แตกต่างกัน บางคนสามารถสื่อสารได้ดี บางคนมีปัญหาด้านการอ่าน หรือบางคนมีความต้องการทั้งด้านวิชาการและพฤติกรรม ครูการศึกษาพิเศษและผู้ปกครองรู้จักนักเรียนของตนเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนและปรับเข้ากับสถานการณ์และให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน

การจัดการเรียนการสอนในแบบออนไลน์อาจแบ่งเป็น 3 ลำดับ คือ 1) ขั้นการเตรียมพร้อม 2) การจัดการเรียนการสอน และ 3) การติดตามประเมินผล

ในขั้นการเตรียมพร้อม คุณครูต้องติดต่อและขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง สอบถามถึงสภาพแวดล้อมที่บ้านของนักเรียนว่าเป็นอย่างไร เช่น มีใครอยู่ที่บ้านกับลูกบ้างในช่วงกลางวัน ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ตหรือสมารท์โฟนสำหรับใช้เรียนหรือไม่ มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเคลื่อนไหวหรือพัฒนาประสาทสัมผัสหรือไม่ แล้วแนะนำผู้ปกครองให้จัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสม นอกจากนี้คุณครูควรสอบถามเกี่ยวกับความถนัดหรือทักษะการใช้เทคโนโลยีของผู้ปกครองและนักเรียนด้วย

จากนั้นก็ทบทวนแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program หรือ IEP) ที่ทำขึ้นในแต่ละปีการศึกษา นำมาวิเคราะห์ว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ใดที่กำหนดไว้ใน IEP มีความสำคัญที่สุดและเป็นไปได้ที่จะเลือกมาวางแผนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ในกรณีที่เป็น IEP ของเทอมที่ผ่านมา คุณครูควรสอบถามระดับความสามารถของนักเรียน ณ ปัจจุบันเพื่อดูความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ที่เคยตั้งไว้

อันดับต่อมาคือ เลือก platform / โปรแกรมสำหรับการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมาย แต่ขอแนะนำให้เลือกโปรแกรมที่คุ้นเคยหรือใช้ไม่ยากนัก เช่น Zoom หรือ Skype เพราะส่วนใหญ่เราเน้นการสอนแบบตัวต่อตัวอยู่แล้ว และคุณครูควรจัดหาเวลาทดลองใช้ให้คล่องก่อนจะสอนจริง

– กิจกรรมและเนื้อหาที่เหมาะสมในการสอนออนไลน์ควรเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง 

ช่วงก่อนจะเริ่มสอนจริงเป็นช่วงที่สำคัญมาก เราควรออกแบบตารางกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใน IEP ตารางควรมีลำดับกิจกรรมที่ชัดเจนในแต่ละวัน และควรย่อยเป็นช่วงๆ สลับกับการพัก หากเป็นไปได้ ตารางกิจกรรมควรคล้ายคลึงกับตารางที่โรงเรียนเพราะจะทำให้นักเรียนรู้สึกคุ้นเคย ไม่ต้องปรับตัวมากนัก

เมื่อสรุปตารางกิจกรรมในแต่ละวันของนักเรียนแต่ละคนแล้ว ครูอาจทำตารางกิจกรรมเป็นสื่อรูปภาพ หรือ Visual cue เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนให้นักเรียนเห็นลำดับในแต่ละวันได้ดีขึ้น จากนั้นส่งตารางกิจกรรมไปที่บ้านเพื่อให้ผู้ปกครองใช้กับบุตรหลานของตน หรือหากบ้านใดสะดวกกับสื่อรูปภาพอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถส่งเป็นไฟล์แทนได้  

ประเด็นที่อยากเน้นในเรื่องการจัดตารางกิจกรรมคือคุณครูควรจัดให้มีกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านได้ไม่ยากด้วย เช่น กิจกรรมพัฒนาประสาทสัมผัส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนักเรียนแต่ละคนว่าต้องการพัฒนาประสาทสัมผัสด้านไหน เช่น การปั้นแป้งโดว์ การฝึกบีบลูกบอลยาง การเป่าสีน้ำ กิจกรรมออกกำลังกาย เช่น เดินเล่น เล่นเกมหาของ วิ่งอยู่กับที่ ยืดเส้นยืดสาย โดยควรกำหนดไว้อย่างน้อยวันละครั้งเพื่อให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวบ้าง ไม่เอาแต่นั่งหน้าจอเพียงอย่างเดียว สุดท้ายคือกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น เข้ามุมเงียบฟังเพลง นั่งสมาธิ นอนพักผ่อน ฝึกหายใจ เพื่อช่วยนักเรียนในการผ่อนคลายจากสิ่งเร้าต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างวัน ทั้งนี้ คุณครูสามารถสืบค้นกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ในอินเทอร์เน็ต

ที่สำคัญอีกอย่างคือในการเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง คุณครูอาจแนะนำให้ผู้ปกครองใช้การให้สัญญาณ เช่น กริ่ง กระดิ่ง นาฬิกาจับเวลาในมือถือ หรือ ตัวช่วยอื่น ๆ  เพื่อทำให้การเปลี่ยนกิจกรรมราบรื่นขึ้น

– เมื่อถึงเวลาจะเริ่มสอน มีอะไรที่ควรคำนึงถึงและทำอีกบ้าง

ก่อนจะเริ่มสอนออนไลน์อาจเริ่มด้วยการกำหนดเวลากับผู้ปกครองและนักเรียนว่าจะเจอครูช่วงใดบ้างในแต่ละวัน เมื่อใกล้ถึงเวลาเรียนหรือก่อนการเรียน 1-2 ชั่วโมง ครูควรส่งข้อความเตือนผู้ปกครองและนักเรียน อาจเป็น Text message Line อีเมล หรือช่องทางอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน โดยก่อนสอนครูต้องเตรียมเอกสารการเรียน เช่น ไฟล์แบบฝึกหัด ไฟล์สื่อ หรือคลิปวิดีโอ ให้พร้อมก่อนสอนจริง

ก่อนการสอนครั้งแรก ครูอาจจะส่งขั้นตอนหรือคลิปวิดีโอสอนวิธีการเข้าเรียนออนไลน์ให้ผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ปกครองและ/หรือนักเรียนใช้โปรแกรมเป็นแล้ว อาจมีการทดลองก่อนการเรียนจริงสักหนึ่งครั้งเพื่อความอุ่นใจ หากติดขัดตรงไหน ก็สามารถฝึกฝนกันก่อนสอนจริง

หลังการเรียนออนไลน์เสร็จสิ้นทุกครั้ง แนะนำให้จดบันทึกหลังสอน เพื่อประเมินการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นและนำปัญหาที่พบมาปรับปรุงในครั้งต่อไป และอย่าลืมส่งอีเมลหรือสื่อสารผ่านช่องทางที่สะดวกหาผู้ปกครองอีกครั้ง เพื่อติดตามการเรียนและทบทวนเรื่องงานที่มอบหมายและกำหนดส่งอีกครั้ง 

– อาจารย์มีเทคนิคหรือตัวอย่างอะไรที่จะแนะนำคุณครูในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนออนไลน์บ้าง

สำหรับเทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้ใช้เทคนิคที่ครูใช้ในชั้นเรียนได้เลย เช่น กำหนดและบอกข้อตกลงของชั้นเรียนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ครูคาดหวังในชั้นเรียนออนไลน์ เช่น ให้ปิดไมค์ก่อนทุกครั้ง ตั้งใจฟังให้จบ และ นั่งอยู่กับที่ในขณะเรียนออนไลน์ ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้สั้นกระชับ อาจจะประกอบด้วย การเกริ่นหัวข้อ > การสอนทักษะ/ความรู้  > การประยุกต์ใช้ > การสะท้อนคิด > และสรุปบทเรียน และในการสอนทุกครั้งก็ควรมีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนและให้ Feedback แก่นักเรียนสม่ำเสมอว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่

ส่วนเทคนิคการจัดการเรียนการสอนอื่นๆ ก็แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของครูแต่ละคน เช่น เปลี่ยนรูปแบบการตอบสนองของนักเรียน เช่น ในชั้นเรียนสถานการณ์ปกติครูให้นักเรียนอ่านย่อหน้าที่กำหนดและครูคอยตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน ตอนนี้อาจเปลี่ยนเป็นให้นักเรียนอ่านเนื้อเรื่องที่ได้รับมอบหมายโดยอัดเสียงของตนเองและสรุปเรื่องราวให้ครูฟัง หรือใช้การวิเคราะห์งาน (Task analysis) และมอบหมายงานที่ทำได้ที่บ้าน เช่น  มอบหมายงานที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิต เช่น ทำอาหาร ดูแลเสื้อผ้า เก็บที่นอน โดยครูต้องวิเคราะห์งานและให้คำแนะนำเป็นขั้น ๆ ไป บางคนก็แนะนำให้ใช้ choice board  เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกิจกรรม / ลักษณะงานที่มอบหมาย เช่น มีกิจกรรมให้เลือกทำในช่วงเช้า โดยครูกำหนดมาให้ประมาณ 3 กิจกรรม หรือสามารถเลือกลักษณะงานที่มอบหมายได้ เช่น เขียนตอบ/วาดภาพ/การอัดเสียง/การทำวิดีโอ เพื่อเพิ่มช่องทางการตอบสนองของนักเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ก็อาจใช้อุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้านเป็นสื่อการสอน เช่น ในกรณีที่ผู้ปกครองสามารถช่วยสอนได้ ครูอาจแนะนำให้ผู้ปกครองใช้สื่อที่จับต้องได้ เช่น ใช้ไม้หนีบผ้าช่วยเป็นสื่อในการสอนการบวกลบเลข

– ในขั้นตอนการติดตามประเมินผล อาจารย์มีข้อแนะนำอะไรให้กับคุณครูบ้าง

ในขั้นนี้เรายังคงต้องให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับการจัดการเรียนการสอน แต่ต้องมีความยืดหยุ่น เช่น โทรติดต่อสอบถาม อีเมล หรือวิดีโอคอลผู้ปกครองสม่ำเสมอ ประมาณอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าเราคอยช่วยเหลืออยู่ คอยเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยความสะดวกหากผู้ปกครองต้องช่วยสอนหรือทำกิจกรรมที่บ้าน อาจจะสร้างกรุ๊ปไลน์ไว้แลกเปลี่ยนไอเดียกันระหว่างผู้ปกครอง 

นอกจากนี้คุณครูควรยืดหยุ่นเวลาทำงานและให้ช่องทางการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองไว้หลากหลายกว่าในสถานการณ์ปกติทั่วไป และทำใจว่าเรื่องนี้อาจจะยากสำหรับบางครอบครัวที่ผู้ปกครองยังต้องออกไปทำงาน ซึ่งเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือหาทางออกร่วมกันไปเป็นระยะ อย่าปล่อยให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนห่างหายจากการติดต่อของเราไปเกิน 3 วัน

– อาจารย์มีข้อคิดอะไรสำหรับครูและผู้ปกครองในเรื่องการเรียนการสอนในสถานการณ์เช่นนี้

นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมีความต้องการที่หลากหลายเฉพาะบุคคล คงไม่มีสูตรสำเร็จในการบอกว่าเทคนิคหรือรูปแบบใดที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ไอเดียที่มาคุยวันนี้ก็ได้รวบรวมมาจากหลาย ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อยากให้คุณครูลองไปปรับใช้ดู เรารู้ดีว่าการเรียนจากที่บ้านคงจะไม่เหมือนกับการมาเรียนที่โรงเรียน แต่ในเวลาเช่นนี้เราทำในสิ่งที่เราทำได้ให้ดีที่สุด เราคงต้องปรับตัวและพยายามลองดูสักตั้งเพื่อลูกศิษย์ของเรา

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า