ข่าวสารจุฬาฯ

สรุปบทเรียนจากเวทีเสวนา “ปลดล็อก ‘น็อคเอ้าท์’ งานวิจัย : NEW NORMAL – NEW R&D” งานประชุมออนไลน์ PPC&PETROMAT SYMPOSIUM 2020

จากงานเสวนา “ปลดล็อก ‘น็อคเอ้าท์’ งานวิจัย : NEW NORMAL – NEW R&D” งานประชุมออนไลน์ PPC&PETROMAT SYMPOSIUM 2020 เพื่อถามหาทางออกให้นักวิจัยหลังวิกฤต โควิด-19 โดยมี ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) กล่าวเปิดงาน วิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ฝ่ายพัฒนาการตลาด ธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย ตัวแทนภาคเอกชนจาก พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ

ภาครัฐปล่อยหมัดเด็ด ปลดล็อกข้อจำกัดการทำวิจัยแบบเดิม

ดร.กิติพงค์ เสนอให้นักวิจัยทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนโดยลงรายละเอียดให้ได้ว่าในโครงการมีอะไรเป็น Product Champion ซึ่งต้องส่งผลดีต่อสังคม เศรษฐกิจ และภาพรวมต่ออุตสาหกรรมด้วย โดยขณะนี้ภาครัฐกำลังเตรียมร่างข้อบังคับเพื่อปลดล็อกระเบียบพัสดุที่เป็นอุปสรรค รวมถึงกำลังร่างระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือในงานวิจัยระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีมาก่อน นอกจากนี้ภาครัฐกำลังเตรียมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับผู้มีความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ ให้มาช่วยกันคิดออกแบบโครงการแล้วตัดสินใจเลือกงานวิจัยที่มีศักยภาพไปทำต่อ ต่างจากการทำงานแบบเดิมที่ภาครัฐเปิดรับข้อเสนอโครงการเข้ามา แล้วให้กรรมการที่อาจมีความรู้ไม่ครบทุกด้านมาตัดสินใจเลือก

 ‘น็อคเอ้าท์’ งานวิจัยขึ้นหิ้ง: เอกชนแนะเคล็ดลับจับตลาดให้อยู่หมัด

ดร.เกรียงศักดิ์ แนะนำการทำงานแบบนักการตลาดซึ่งประยุกต์ใช้กับการทำวิจัยได้ ข้อแรก นักวิจัยต้องมองให้ขาดว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วจึงวางแผนสร้างและส่งมอบผลงานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ข้อสอง ต้องมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างผลงานนั้นออกมาให้สำเร็จ และข้อสุดท้าย ต้องปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วเพื่อให้สามารถส่งมอบผลงานได้ทันเวลา ซึ่งยังเป็นที่ต้องการในตลาดตอนนั้น

NEW NORMAL ปรับตัวให้ทัน เปลี่ยนวิธีการทำงาน

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ดร.เกรียงศักดิ์ เล่าว่าวิกฤตโควิดทำให้สมดุลในโลกนี้เสียไป ตรงไหนที่
มีการเปลี่ยนแปลง ตรงนั้นก็จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ แทรกตัวเข้ามาได้ ใครที่รู้จุดขายของงานตัวเอง ทำงานคล่องตัวกว่า และปรับตัวไวกว่าก็จะได้รับประโยชน์ โดยนักวิจัยต้องปรับวิธีคิดให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น มิติด้านสังคมกำลังโดดเด่น ตลาดกำลังสนใจเรื่องวิธีเอาตัวรอดจากโควิด เช่น เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ป้องกัน ตลอดจนวัคซีน ซึ่งล้วนต้องอาศัยงานวิจัยในการพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์

ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริมว่าเราต้องมีกระบวนการทำวิจัยแบบใหม่ด้วย เพราะนวัตกรรมไม่ได้มีแค่มิติของการวิจัยและพัฒนา แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจ การเงินการลงทุน การตลาด การผลิต ฯลฯ ตอนนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมความสามารถให้บุคลากรมหาวิทยาลัย โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัยชูอัตลักษณ์และศักยภาพของตนเอง แล้วไปขอทุนเพื่อรับการสนับสนุนด้านอื่นๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้งานวิจัยสามารถเกิดเป็นนวัตกรรมได้จริง และยังตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอีกด้วย

NEW R&D หาทุนง่ายในหลายช่องทาง

งบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศมีมากมายและหลากหลาย ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า งบวิจัยในปัจจุบันมีภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนกว่า 70% ส่วนภาครัฐลงทุนอีกประมาณ 22% งบในส่วนของภาครัฐ 46,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก งบวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งจัดสรรผ่านกองทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยส่วนแรก Fundamental Fund จัดสรรให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเสริมความแข็งแรงจากฐานราก และส่วนที่สอง Strategic Fund จัดสรรตามยุทธศาสตร์ให้โครงการวิจัยที่มีศักยภาพมาประกวดแข่งขันกัน งบจากภาครัฐส่วนที่สองประมาณ 21,000 ล้านบาท เป็นงบพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และงบส่วนที่สามอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท คือ งบบูรณาการที่สนับสนุนให้สถาบันวิจัยทำงานร่วมกับภาคเอกชน

นอกจากนี้เรายังมีเงินนอกงบประมาณ เช่น กองทุน Competitiveness Fund ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อทดลองตลาด รวมถึงในอนาคตจะมีกองทุน Innovation Fund ให้ผู้ประกอบการ SMEs นำไปสร้างนวัตกรรม และกองทุนอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยรวมแล้วงบวิจัยจะมีมากมายหลากหลายขึ้น นักวิจัยเองก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

“เหมือนกับกล่องของขวัญ โควิดมา กระดาษห่อข้างนอกก็ต้องเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัย และเปลี่ยนตามนโยบายจากคณะรัฐมนตรี แต่ว่าเนื้อข้างในกล่องที่เป็นแกนหลักต้องยังอยู่ ประเทศเรามีหน่วยงานอย่าง สอวช. ซึ่งมองทิศทางการวิจัยในระยะยาวด้วย โดยปักหมุดงานวิจัย 6 ด้าน ได้แก่ การขจัดความยากจน, BCG (Bio-Green-Circular Economy), Industry Transformation, SHA (Social Sciences, Humanities and Arts), Man and Brain Power รวมถึงการวางกฎระเบียบใหม่ในการบริหารจัดการงบ” ดร.กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้ายให้ความมั่นใจแก่นักวิจัย

บทสรุปจากเวทีเสวนาครั้งนี้ให้ข้อคิดว่านักวิจัยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดโดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 รวมถึงต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวแบบภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐเองก็พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุน ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยผู้สนใจสามารถดูคลิปวิดีโองานเสวนา “ปลดล็อก ‘น็อคเอ้าท์’ งานวิจัย : NEW NORMAL – NEW R&D” ย้อนหลังได้ทาง Facebook Live ในเพจ PETROMAT

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า