ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ รักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย

สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับสาขาวิชาโลหิตวิทยา สาขาวิชาระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าว “การรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้พัฒนานวัตกรรมการบริการ การรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบันและในอนาคต มีผลงานจากเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มากมาย ล่าสุดสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมมือกับสาขาโลหิตวิทยา สาขาวิชาระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ รักษาผู้ป่วยจำนวน 2 ราย ที่มีปัญหาผิวหนังแข็งและปอดเป็นพังผืด ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ที่นำองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัย รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การให้การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืดด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งริเริ่มเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นผลงานที่ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีความภาคภูมิใจ ถือได้ว่าเป็นการให้การรักษาที่มีความทันสมัย เกิดจากความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาจนประสบผลสำเร็จ ความรู้จากการรักษาที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดการต่อยอด และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคตสำหรับประเทศไทย

ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ

ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคผิวหนังแข็ง หรือ systemic sclerosis เป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของหลายอวัยวะในร่างกาย โดยมีลักษณะเด่น คือ การเกิดพังผืดที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน ทำให้ผิวหนังแข็ง ปอดเป็นพังผืด กล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ทำให้หัวใจโต และหัวใจวายได้ กล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหารเป็นพังผืด ทำให้เกิดการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ลดลงหรือไม่บีบตัว ร่วมกับอาการจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือด หากเกิดอาการที่ไตจะทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือหากเกิดอาการที่ปอดจะทำให้หลอดเลือดแดงที่ปอดตีบตัน ทำให้แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง มีผลต่อการบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจวายได้ การดำเนินของโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเรื้อรัง ทุกข์ทรมาน แต่ก็มีบางส่วนที่มีการดำเนินของโรครวดเร็ว รุนแรง ทำให้เสียชีวิตได้

โรคผิวหนังแข็งพบได้ไม่บ่อย ความชุกประมาณ 4 – 35 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 เท่า อายุเฉลี่ยขณะเริ่มมีอาการ 40 – 50 ปี ส่วนใหญ่พบในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้คือ ภาวะปอดเป็นพังผืด แรงดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง
และหัวใจวาย การรักษาโรคนี้ควรจะเริ่มให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอการดำเนินของโรคและความทุกข์ทรมาน
ของผู้ป่วย
ยาที่รักษาโรคนี้จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ตามกลไกการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ยาขยายหลอดเลือดแดง ยาปรับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และยาที่ช่วยชะลอหรือลดการเกิดพังผืด ซึ่งมักจะใช้ร่วมกันเพื่อควบคุมการดำเนินโรค อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้จะได้ผลในผู้ป่วยที่มีอาการค่อยเป็นค่อยไป แต่ในผู้ป่วยที่มีการดำเนินโรครวดเร็ว การรักษาด้วยการจัดระบบภูมิคุ้มกันใหม่ให้ทำงานเป็นปกติ จะช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดการทำลายอวัยวะ หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรได้

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากระบบเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดพังผืดขึ้นในอวัยวะต่างๆ ขึ้น การรักษาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด จึงเป็นการมุ่งหวังที่จะกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเหล่านี้ให้หมดไป และทำการจัดระบบภูมิคุ้มกันใหม่ให้กลับมาทำงานเป็นปกติ การรักษาดังกล่าวโดยปกติจะไม่สามารถทำได้โดยใช้ยากดภูมิต้านทานในขนาดปกติ การกำจัดเซลล์ภูมิต้านทานที่ผิดปกติให้หมดไป จำเป็นต้องใช้ยาในขนาดสูงร่วมไปกับแอนติบอดี้ ตามด้วยการให้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองที่เก็บไว้ในระหว่างการรักษา สเต็มเซลล์ของระบบเลือดจะมาช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น รวมไปถึงการสร้างและพัฒนาเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ปกติขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือเป็นการรักษาโดยวิธีการจัดระเบียบของระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาเป็นปกติโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ขั้นตอนแรกเป็นการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมในการรักษา ขั้นตอนถัดไปเป็นการเก็บสเต็มเซลล์แช่แข็งไว้ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะอยู่ในห้องปลอดเชื้อและได้รับการดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ หลังจากที่สเต็มเซลล์เริ่มทำงาน ผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับจนเป็นปกติและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นระยะๆ เพื่อดูผลของการรักษาด้วยวิธีการจัดระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติโดยการใช้สเต็มเซลล์

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหนังแข็งที่มีพังผืดในปอด ส่วนมากมักพบการอักเสบของปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการไอแห้งๆ หายใจได้ครั้งละตื้นๆ ทำให้ต้องหายใจในอัตราที่เร็วกว่าคนปกติ เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ลดลง การดำเนินโรคของพังผืดในปอดในผู้ป่วยโรคหนังแข็งแต่ละรายมีความแตกต่างกันและไม่แน่นอน อาจเกิดการอักเสบเป็นพังผืดแล้วหยุดนิ่งไม่ลุกลามต่อ หรือเป็นลักษณะที่มีพังผืดลุกลามอย่างรวดเร็วก็ได้ ซึ่งลักษณะหลังนี้มักพบในผู้ป่วยโรคหนังแข็งที่มีอาการมาไม่นาน ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงร่วมด้วย ทำให้เกิดหัวใจห้องล่างขวาวายตามมาได้ ขณะที่โรคดำเนินไปอาจมีการกำเริบของปอดอักเสบจากพังผืด หรือการติดเชื้อในปอดซ้ำเติม ทำให้หน้าที่การทำงานของปอดแย่ลงอย่างรวดเร็ว มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงมาก ในรายที่รุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตที่สูง
หลังจากการตรวจร่างกายโดยละเอียด ในรายที่สงสัยจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยพังผืดในปอดได้ดีมาก เมื่อพบพังผืดในปอดการติดตามเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยทำการตรวจเป็นระยะๆ ทุก 6 เดือน หรืออาจเร็วกว่านั้นหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงชัดเจน ตลอดจนการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำ

อ.นพ.จักกพัฒน์ วนิชานันท์

อ.นพ.จักกพัฒน์ วนิชานันท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ หน่วยโรคติดเชื้อ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า การเตรียมผู้ป่วยโดยการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ และการคัดกรองการติดเชื้อแฝงตั้งแต่ก่อนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รวมถึงการให้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกัน มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลดโอกาสในการติดเชื้อดังกล่าว สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งที่มีความผิดปกติของปอด เมื่อมาทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ก็คือการติดเชื้อปอดอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียดื้อยา รวมถึงเชื้อรา เนื่องจากจะทำให้ระบบการหายใจที่มีปัญหาอยู่แล้วแย่ลง ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะหายใจล้มเหลวในระยะเริ่มต้น และทำให้สมรรถภาพของปอดถดถอยลงในระยะยาว ดังนั้นการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดภายหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และการเริ่มยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็จะช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยได้

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า