ข่าวสารจุฬาฯ

เกษตรกรฟาร์มโคนม จ.สระบุรี ร่วมสัมมนา Chula Dairy School เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนมไทย ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด

บรรยากาศอันคึกคักของเหล่าเกษตรกรจากฟาร์มโคนมกว่า 40 ฟาร์มในจังหวัดสระบุรี รวมถึงผู้แทนหน่วยราชการ และภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตน้ำนมรวมกว่า 100 คนที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Chula Dairy School : The Survival” ซึ่งศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุม 201 อาคารสระบุรี 4  ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี เป็นภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจครั้งสำคัญของเกษตรกรฟาร์มโคนมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อหาทางปรับตัวต่อสู้กับวิกฤตต้นทุนการผลิตที่กำลังคุกคามอาชีพการเลี้ยงโคนมอยู่ในขณะนี้

 

ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคนมซึ่งได้ทำงานร่วมกับคณาจารย์ และสัตวแพทย์ จุฬาฯ ในโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนมโดยใช้นวัตกรรมบริการสัตวแพทย์ ภายใต้โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านการบูรณาการและกลไกของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มด้วยการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจ ซี่งจะทำให้การปรับปรุงการจัดการฟาร์มเกิดความแม่นยำมากขึ้น  ฟาร์มโคนมต้นแบบการจัดการแบบแม่นยำสูงทั้ง 9 ฟาร์มได้ร่วมถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทำงานร่วมกับคณาจารย์ที่ทำหน้าที่ชี้แนะการปรับปรุงการจัดการทั้งในด้านการจัดการระบบสืบพันธุ์ การจัดการอาหาร และการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมมาอย่างต่อเนื่อง การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคนมจะได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เกิดเป็นเวทีการเรียนรู้ของเกษตกรเพื่อพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมของประเทศไทย

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมผ่านการบูรณาการและกลไกของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จ.สระบุรี เปิดเผยว่าเกษตรกรทั้ง 9 ฟาร์มที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเป็นเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการจัดการจนสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้อยู่รอดได้ภายใต้ภาวะวิกฤตที่ทุกคนกำลังเผชิญ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ได้เรียนรู้ในโครงการมาแล้ว 1 ปี และกลุ่มที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการได้ 4 – 5 เดือน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอแนะแนวทางการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อก้าวข้ามประเด็นปัญหาต่างๆ ภายใต้โครงการนี้มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น ภาคเอกชน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ฯลฯ เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกร

“เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้จากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของเรา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต้นแบบที่นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในฟาร์ม ทำให้เห็นแนวทางการอยู่รอดจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อเพิ่มผลผลิตในฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืน” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าว

ฟาร์มโคนมต้นแบบแนะวิธีปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ปิติ ศักดิ์สันเทียะ

ปิติ ศักดิ์สันเทียะ จากปิติฟาร์ม เผยถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของฟาร์มว่าประสบปัญหาผลผลิตน้อย ต้นทุนสูง แทบไม่มีกำไร และได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ทำให้ต้นทุนขยับขึ้น รายได้ลดลง เมื่อก่อนตนเหมือนกบในกะลาเพราะเชื่อมั่นว่าทำฟาร์มได้ด้วยตนเอง เมื่อได้เข้าร่วมโครงการและได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ ผ่านมาปีกว่าเห็นผลแล้ว 80% ฟาร์มมีผลผลิตเพิ่ม กำไรเพิ่มขึ้น ปัญหาที่เจอลดลง ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลง ทำในสิ่งที่อาจารย์แนะนำและเชื่อในทฤษฎีมากขึ้น ที่สำคัญคือลบความกลัวแล้วเดินหน้าต่อไป“การเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ เกษตรกร เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาฟาร์มของตัวเอง ผมเปรียบเหมือนเป็นต้นกล้าที่ได้รับการบ่มเพาะจากอาจารย์ที่เป็นเหมือนกูรูที่ช่วยเติมเต็มความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้แล้วได้ผลจริง” เจ้าของปิติฟาร์มกล่าว       

  วสันต์ อำโพธิ์

  วสันต์ อำโพธิ์ จากพรสมบุญฟาร์ม เผยถึงจุดเด่นของฟาร์มคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบสืบพันธุ์ของโคในฟาร์มได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการเนื่องจากฟาร์มประสบปัญหาเรื่องการจัดการฟาร์ม หลังจากเข้าร่วมโครงการมา 1 ปี ผลผลิตของฟาร์มถือว่าดีขึ้นมาก มีรายได้เพิ่มขึ้น มองเห็นทางรอดในอนาคต ทางทีมงานจะคอยช่วยแก้ปัญหาและให้คำแนะนำต่างๆ  เช่น ปัญหาไขมันในน้ำนมต่ำ ฯลฯ การที่จุฬาฯ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรทำให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและมีทางรอดจากวิกฤต  โครงการนี้ทำให้ผมมีความหวัง และมั่นใจว่าจะสามารถอยู่รอดได้ในอาชีพนี้

สพ.ญ.อังคณา เลิศฤทธิ์ศิริกุล

สพ.ญ.อังคณา เลิศฤทธิ์ศิริกุล จากฟาร์มเลิศฤทธิ์ กล่าวว่าปัญหาภายในฟาร์ม เช่น แม่โคผสมติดยาก โรคเต้านมอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบจากการถูกตัดราคาน้ำนม ทางโครงการได้เข้ามาช่วยเหลือจนฟาร์มสามารถนำน้ำนมดิบที่ผลิตได้มาแปรรูปเป็นนมพร้อมดื่มขายตรงให้ผู้บริโภค พร้อมแนะนำการแก้ไขปัญหาเรื่องการผสมติดยาก จนทำให้แม่โคตั้งท้องมากขึ้น มีผลผลิตน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ สร้างรายได้ให้ตลอดทั้งปี ขอบคุณโครงการนี้ที่เข้ามาช่วยแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ทำให้มีความรู้และมีกำลังใจในการประกอบอาชีพนี้เพิ่มขึ้น   สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า