จุฬาฯ สุดเจ๋ง! นวัตกรรมการแพทย์จาก ‘ไหมไทย’

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมกับโปรตีนไหมไทย พัฒนาสู่นวัตกรรมด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยารักษาโรค เช่น มะเร็ง โรคข้อเสื่อม การผลิตหลอดเลือดเทียม เส้นประสาทเทียม ท่อน้ำตาเทียม การพิมพ์เนื้อเยื่อสามมิติ ฯลฯ
นวัตกรรมทางการแพทย์จากไหมไทย เป็นผลงานวิจัยของ ศ.ดร.ศิริพร ดำรงศักดิ์กุล และ รศ.ดร.โศรดา กนกพานนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องจากเล็งเห็นว่าไหมไทยเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ทางการแพทย์ ปัจจุบันคณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาระบบนำส่งยาและสารสำคัญ รวมถึงวิศวกรรมเนื้อเยื่อจากชีววัสดุไฟโบรอินที่สกัดจาก รังไหมไทยในรูปแบบต่างๆ ทั้งไฮโดรเจลโครงสามมิติ แผ่นแปะอนุภาคขนาดไมครอน เส้นใยขนาดนาโน ฯลฯ เพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์เพื่อรักษาโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง ข้อเสื่อม เบาหวาน ฯลฯ และประยุกต์ใช้ในงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อต่างๆ อาทิ ผิวหนัง กระดูก หลอดเลือด เป็นต้น ผลการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย คณะผู้วิจัยมั่นใจว่าสามารถนำเทคโนโลยีไฟโบรอินจากไหมไทยมาประยุกต์ใช้งานได้จริงทางการแพทย์
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมกับโปรตีนไหมไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา ความร่วมมือในครั้งนี้ดำเนินการโดยบริษัท EngineLife จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การบ่มเพาะของ CU Engineering Enterprise ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก CU Innovation Hub

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย