รู้ลึกกับจุฬาฯ

เอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุกราดยิง

เหตุกราดยิงเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิต 30 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 57 ราย นับเป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสะเทือนใจและสะเทือนขวัญในประเทศไทยแก่ประชาชนคนไทยครั้งใหญ่ในรอบปี

จากเหตุการณ์ดังกล่าว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานเสวนาว่าด้วยการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์กราดยิง (Escape and Survive in Mass Shooting) เพื่อถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด การคุมสติรับมือเมื่อเหตุการณ์คับขัน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พ.อ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์  ศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายถึงนิยามของการกราดยิงว่าหมายถึงเหตุอันเกิดขึ้นในที่สาธารณะหรือที่ชุมชน และต้องมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ไม่รวมผู้ก่อเหตุ ซึ่งจากสถิติทั่วโลกผู้ก่อเหตุกราดยิงมักจะเสียชีวิตเนื่องจากจนมุม ทำให้ฆ่าตัวตาย หรือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม

“ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าจะมีคนเสียชีวิตมากหรือน้อยอยู่ที่ความเร็วปากลำกล้องปืน เพราะเป็นตัวกำหนดความแรงของพลังงานที่ยิงออกไป ซึ่งตามความจริงปืนไรเฟิลย่อมแรงกว่าปืนพก แต่ในสถิติชี้ว่าผู้ถูกกราดยิง มักเสียชีวิตจากปืนพกมากกว่า เพราะโดนอวัยวะสำคัญ และมือปืนไม่สามารถพกปืนไรเฟิลในที่สาธารณะได้ เพราะมักถูกสังเกตเห็น ดังนั้นในทุกเหตุกราดยิง มือปืนมักมีปืนพกติดตัวเสมอ”

พ.อ.นพ.ณัฐ ยังชี้อีกว่าบริเวณสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกยิงเสียชีวิตคือบริเวณอก ศีรษะ และท้องขณะเดียวกันผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงที่แขนและขามีน้อยมาก เนื่องจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถช่วยเหลือได้

รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ ศัลยแพทย์และอาจารย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงหลักการ STOP THE BLEED หรือหลักปฏิบัติการห้ามเลือดเมื่อถูกยิงว่า หากผู้ถูกยิงถูกยิงที่บริเวณแขนและขา สามารถใช้หลักการห้ามเลือดเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยต้องหาจุดเลือดออก และใช้มือหรือผ้ากดโดยใช้แรงดันไม่ให้เลือดไหล

“ให้สังเกตว่าเลือดไหลมาจากจุดไหน และสังเกตว่าอาการเลือดไหลเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ เช่น เลือดที่พุ่งออกมารวดเร็ว หรือไหลไม่หยุดจนเสื้อผ้าชุ่มเลือด ต้องรีบกด โดยใช้มือกดแรงๆ เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว  หรือใช้ผ้าสะอาดอุดปากแผล หรือใช้วิธีขันชะเนาะ ก็สามารถช่วยหยุดเลือดไหลได้”

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์และอาจารย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แนวทางสำคัญในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงว่า ควรยึดหลักตาม Hartford Consensus หรือหลักการเอาตัวรอดในยามเกิดวิกฤติ ซึ่งแบ่งเป็น RUN HIDE FIGHT (หนี ซ่อน สู้) โดยเรียงลำดับความสำคัญตามลำดับ

“ผมอยากให้ทุกท่านมี Situation awareness คือเมื่อเวลาไปไหนให้สังเกตทางหนีทีไล่ของเรา อย่างน้อยก็ต้องดูไว้ว่าทางเข้าออกของสถานที่ที่เราไปมีกี่ทาง อยู่บริเวณไหน เพราะอันดับแรกเมื่อเกิดเหตุร้ายเราต้องหนีก่อน หนีให้ทัน เอาชีวิตเราให้รอด”

อาจารย์รัฐพลี ชี้ว่าประชาชนควรสังเกตสถานการณ์ผิดปกติ เช่น มีเสียงดังผิดปกติ มีควันไฟ แสงสว่างจ้า หรือระเบิด ไฟดับ มีคนวิ่งหนีผิดปกติ  เป็นต้น จากนั้นควรพิจารณาทิศทางการหลบหนี และหนีให้พ้นจากสถานที่เกิดเหตุให้ไกลที่สุด สละทิ้งของที่ไม่จำเป็น เพราะชีวิตมีค่ามากกว่าสิ่งของ ก่อนถึงจุดปลอดภัยค่อยโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หากไม่สามารถหนีได้ ต้องหาที่ซ่อนที่มีที่กำบังแข็งแรง หลบซ่อนให้พ้นสายตาผู้ก่อเหตุ ปิดไฟมืด ปิดเสียงโทรศัพท์ และลงกลอนประตูให้แน่นหนา โดย ต้องซ่อนตัวไม่ส่งเสียงหรือกรีดร้อง และใช้วิธีการขอความช่วยเหลือผ่านข้อความทางโทรศัพท์ งดใช้เสียง และเตรียมตัวรอรับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ส่วนการต่อสู้กับคนร้าย นับว่าเป็นทางออกสุดท้าย หากไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่ เพราะหากไม่สู้ก็จะตาย และไม่ควรอ้อนวอนขอชีวิตจากคนร้าย

“สู้เป็นกรณีสุดท้าย สู้ด้วยทุกอย่างที่มี ทุกคนที่มี เพราะถ้าไม่สู้เราก็จะตาย ไม่หยุดอ้อนวอนขอร้องหรือเจรจาไกล่เกลี่ยเพราะไม่มีประโยชน์ เสียเวลา เขามาเพื่อฆ่า ไม่สนใจเรา”

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร  จิตแพทย์ และอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีชีวิตรอดคือสติ เนื่องจากในยามเกิดเหตุการณ์คับขัน สมองส่วนความกลัวหรืออารมณ์จะถูกกระตุ้นทำให้การรับรู้หรือการใช้เหตุผลลดลง และทำให้เกิดอาการตื่นตระหนก ใจเต้นรัว ใจสั่น เหงื่อออก การรับรู้แปรปรวน หรือสติหลุด

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สติหลุด ควรรีบดึงสติกลับมาโดยเร็ว อาจจะใช้วิธีการหายใจเข้าออก ลึกๆ รับรู้สติเพื่อให้ร่างกายสงบ หรือใช้วิธีสัมผัสสิ่งรอบตัวเพื่อกลับมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งการฝึกสติผ่านการนั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้”

อาจารย์ณัทธรยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน อย่าเพิ่งยอมแพ้ และใช้สติที่มี หาวิธีเอาตัวรอด และช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ช่วยได้

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า