รู้ลึกกับจุฬาฯ

ทันตกรรมพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร

จุดเริ่มต้นของหน่วยทันตกรรมพระราชทานที่รักษาฟันฟรีให้แก่ประชาชน เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน คือปี พ.ศ.2513 ศาสตราจารย์พันโท สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้ทำการรักษาพระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งถามทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า  “เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือไม่” และก็ได้ทรงทราบว่าบางจังหวัดไม่มีทันตแพทย์อยู่เลย ประชาชนหลายคนที่อาศัยอยู่ที่ห่างไกล มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานคำแนะนำว่า “การจะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” ซึ่งพระราชดำรัสนี้ ได้กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ที่ให้บริการทำฟันเคลื่อนที่แก่ประชานในพื้นที่ห่างไกล

ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเท้าความว่าในยุคเริ่มต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่จำนวน 1 คัน ภายในมีเก้าอี้นั่งสำหรับทำฟัน 2 ที่นั่ง และมีทันตแพทย์อาสาสมัครจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคอยผลัดเปลี่ยนทุกสัปดาห์ ทำหน้าที่ให้บริการรักษาแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร

ปัจจุบัน หน่วยทันตกรรมพระราชทานได้รับการขนานนามว่า เป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดจากเดิมที่สามารถให้บริการรักษาได้เพียงวันละ 50-70 คนกลายเป็นสามารถรักษาได้มากถึงวันละ 1,000 – 2,000 คน และครอบคลุมการรักษาฟันแทบจะทุกประเภท ตั้งแต่การถอนฟัน ผ่าตัดฟันคุด ขูดหินปูน อุดฟัน รักษารากฟัน ฯลฯ โดยที่งบประมาณในการดำเนินงานมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

และจากเดิมที่มีแต่เพียงคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยทันตกรรม พระราชทานแห่งแรกคอยให้บริการประชาชน ปัจจุบันก็ได้มีหน่วยทันตกรรมพระราชทานเพิ่มอีก 5 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   ผศ.ทพ.ดร.สุชิต เล่าว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานจะลงพื้นที่ปีละประมาณ 20 ครั้ง ตามอำเภอต่างๆ และจะมีการประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้านให้ประชาชนมาใช้บริการครั้งละมากๆ ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเน้นย้ำกับหน่วยทันตกรรมพระราชทานอยู่เสมอว่า ควรลงพื้นที่ให้บริการในที่ที่ไม่มีทันตแพทย์ หรือมีไม่เพียงพอ และต้องแจ้งให้ราษฎรทราบทุกครัวเรือนเพื่อให้การลงพื้นที่ปฏิบัติงานคุ้มทุน ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารก็ทำให้เห็นปัญหาต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงติดตามการดำเนินงาน และพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอมา ดังเห็นได้จากครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้นำเครื่องกรอฟันสนามขององค์การอนามัยโลกมาน้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้ในหน่วยทันตกรรมพระราชทานแต่เมื่อนำไปใช้ก็พบว่า ใช้กับคนไข้ได้เพียง 4-5 คน เครื่องก็หยุดทำงาน พระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้ทันตแพทย์ช่วยกันคิดค้นเครื่องมือให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองไทย

นำมาซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีราคาถูกย่อมเยา และมีประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้ในงานทันตกรรมพระราชทานที่ให้บริการประชาชนจำนวนมาก จนกระทั่งในปี 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับศึกษาวิจัยพัฒนาไปผลิตเป็นนวัตกรรมสำหรับประชาชน

ตัวอย่างโครงการวิจัยที่มีการนำมาใช้รักษาประชาชน เช่น โครงการรักษารากฟันเทียม ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์ฝังรากฟันที่ได้มาตรฐานสากล แต่ผลิตในประเทศไทย ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้า ซึ่งมีราคาสูงได้ ไว้ใช้รักษาผู้สูงอายุที่ต้องใช้ฟันเทียมในการเคี้ยวอาหาร แต่มีปัญหาด้านการใส่ฟันเทียมเนื่องจากกระดูกขากรรไกรเสื่อมสภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุมากกว่า 10,000 รายที่ได้รับการรักษาจากโครงการหรือโครงการอาหารพระราชทานสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปากซึ่งได้ทำการวิจัยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากทำให้ไ้ม่สามารถรับประทานอาหารปกติ และต้องรับประทานอาหารทางสายอย่างเดียว แต่ด้วยนวัตกรรมอาหารที่มีลักษณะเป็นเจลลี่โภชนาการอุดมด้วยสารอาหาร จะสามารถแก้ปัญหาส่วนนี้ได้

ผศ.ทพ.ดร.สุชิตกล่าวว่า การดำเนินงานของหน่วยงานทันตกรรมพระราชทาน และมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สร้างคุณูปการ และการเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพปากของคนไทยอย่างมหาศาล ปัจจุบันคนไทยมีสุขภาพฟันดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทั้งหมดนี้ นับว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า