Highlights

เกาถูกที่คัน รักษาตรงจุด ชุดทดสอบระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัข นวัตกรรมเหรียญทองนานาชาติ ผลงานอาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ


อาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ พัฒนาชุดทดสอบภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปี ระบุสารก่อภูมิแพ้ได้แม่นยำเพื่อวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด การันตีความสำเร็จด้วยรางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมที่สวิตเซอร์แลนด์


ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีเป็นหนึ่งในภาวะภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสุนัข โดยอาการเด่น ๆ อาทิ อาการคัน ผิวหนังผื่นแดงและบวม ในขั้นรุนแรงอาจจะมีอาการหลอดลมตีบ ไอ และจาม คล้ายคนที่เป็นภูมิแพ้ได้อีกด้วย

อาการคันและผื่นแดงที่ผิวหนังในสุนัขจึงไม่ใช่ที่จะมองผ่าน เจ้าของสุนัขควรใส่ใจและพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจเพื่อวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถระบุถึงเหตุหรือตัวการที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนัง

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ การตรวจเพื่อทดสอบภาวะภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยเฉพาะวิธีการตรวจที่ซับซ้อน ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้วิจัยซึ่งประกอบด้วย สพ.ญ.ดร. ณัฐรดา คันทวี  รศ. ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง น.ส.นวรรนพร แซ่ลิ้ม  ผศ.ดร.วันดี ศิริโชคชัชวาล จึงได้คิดค้นและพัฒนา ชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีด้วยอิมโมโนโกลบูลินจี่ซับคลาสหนึ่ง” เพื่อช่วยให้สัตวแพทย์ระบุเหตุของภาวะภูมิแพ้ในสุนัขได้รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น

“ชุดทดสอบนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มทดสอบภาวะภูมิแพ้ ตรวจระหว่างการติดตามอาการ ไปจนถึงช่วงหยุดการรักษา โดยสุนัขไม่ต้องเจ็บตัวและยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตกรรม ซึ่งคว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมในงาน The 48th International Exhibition of Inventions 2023 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

รู้จักโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขและสาเหตุ

Canine Atopic Dermatitis (CAD) หรือภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปี เป็นหนึ่งในรูปแบบของภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อยในสุนัข เกิดจากความผิดปกติของการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม อาทิ สารเคมีในอากาศ ฝุ่นละออง เชื้อรา ไร และอาหาร

“สุนัขสุขภาพดีและสุนัขที่มีปัญหาสุขภาพต่างก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งสิ้น อุบัติการณ์ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังแตกต่างกันไปขึ้นกับธรรมชาติของสุนัขแต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ สุนัขบางตัวอาจเป็นโรคผิวหนังบ่อยและมีอาการรุนแรง ในขณะที่บางตัวอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และบางตัวก็อาจไม่เป็นโรคผิวหนังเลย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าว

โรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  1. พันธุกรรม สุนัขบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงสูงกว่าสายพันธุ์อื่นในการเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (AD) ได้แก่ วีซล่า แบสเซ็ทฮาวนด์ ยอร์คเชียร์เทอร์เรียร์ ชิสุ บีเกิ้ล บูลด็อก ค๊อกเกอร์ สปาเนียล นอกจากนี้ สุนัขที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีความเครียด ก็มีโอกาสเป็นโรคผิวหนังได้ง่ายขึ้นเช่นกัน  
  2. อายุ โรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขมักเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ปี แต่อาการของโรคก็อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ
  3. สภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น และสภาพอากาศ โดยอากาศชื้นเพิ่มโอกาสการเกิดเชื้อราบนผิวหนังสุนัขได้มากขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการแพ้ผิวหนัง อากาศหนาวและแห้งจะทำให้ผิวหนังของสุนัขเสียความชุ่มชื้น ทำให้อาการแพ้ผิวหนังรุนแรงขึ้นได้ ส่วนในสภาพอากาศร้อนก็จะทำให้สุนัขมีปัญหาผิวหนังมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะพัฒนาอาการแพ้ผิวหนังต่อไป
  4. สารเคมี การสัมผัสกับสารสารเคมีบางชนิดอาจเป็นส่วนเสริมในการเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลสุขภาพของสุนัข เช่น สบู่ แชมพู ครีม หรือสารเคลือบผิว เหล่านี้ล้วนสามารถกระตุ้นการเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขที่มีความไวต่อสารเคมีเหล่านี้ได้
  5. อาหาร โปรตีนจากอาหารมีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้ราว ​10-15 % ของจำนวนเคส

อย่างไรก็ตาม รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่สุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่มีเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร รา และสารอื่น ๆ ที่สุนัขสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรฝุ่นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นภูมิแพ้

อาการภูมิแพ้ผิวหนังจากไรฝุ่น

สุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังจากไรฝุ่นมักมีอาการคัน เกาบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ เช่น ใบหู ท้อง ขา และใต้ลำตัว มีผื่นแพ้ผิวหนัง ผื่นแดง แผลเป็น หรือเป็นแผลสะเก็ดบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ และมีกลิ่นเหม็นคล้ายยีสต์หมัก

บางกรณี สุนัขที่เป็นโรคอาจมีอาการบวมและแดง มีหนองบริเวณผิวหนังที่มีอาการผิวแพ้ ขนหลุดร่วงมากขึ้น และอาจมีแผลที่เกิดจากการเกาหรือการรักษาผิวหนังที่ไม่ถูกต้อง

“ในภาวะที่รุนแรง ยังอาจมีอาการหลอดลมตีบ น้ำตาไหล ไอ จามคล้ายคนที่เป็นภูมิแพ้ได้อีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้สร้างความทรมานให้กับน้องหมาเป็นอย่างมาก”

แม้ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขจะเกิดจากการแพ้ไรฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่สุนัขที่มีอาการแพ้จากเหตุอื่น ๆ เช่น อาหาร ก็จะมีอาการแพ้ในลักษณะคล้ายกันกับการแพ้ไรฝุ่น

การระบุสารก่อภูมิแพ้สำคัญอย่างไร

รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่าการระบุสารก่อภูมิแพ้มีความสำคัญมาก เพื่อช่วยลดหรือหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงยังช่วยในการวางแผนการให้การรักษาที่เหมาะสม อาทิ การให้ยาต้านการแพ้อย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงที่สุนัขจะได้รับการรักษาที่ไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสม

“การแพ้และการรับมือกับการแพ้เป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและขึ้นกับสุนัขแต่ละตัว และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ สัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้สามารถให้คำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการและการป้องกันอย่างเหมาะสมสำหรับสุนัขได้ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดอาการภูมิแพ้ในสุนัขได้บ้าง โดยภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข เพื่อลดการตอบสนองที่ผิดปกติต่อสิ่งที่เขาแพ้”

อย่างไรก็ตาม รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าวว่าสุนัขอาจแพ้สิ่งที่เฝ้าระวังไปตลอดชีวิตก็ได้ หรืออาจจะเกิดอาการแพ้สิ่งใหม่ ที่ไม่เคยแพ้มาก่อนได้เช่นกัน

ทดสอบเพื่อระบุชนิดของสารก่อภูมิแพ้ก่อนวางแผนการรักษา

ภาวะภูมิแพ้ในสุนัขเกิดขึ้นได้เมื่อสุนัขอายุ 6 เดือนขึ้นไป รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ แนะนำให้เจ้าของสุนัขหมั่นสังเกตอาการผิวหนังที่คล้ายคลึงกับลักษณะอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น คัน ผิวหนังแดง เปียกชื้น ผิวหนังหนาหรือพบสะเก็ดรังแคมาก ตัวมีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังหรือภูมิแพ้

“เจ้าของสุนัขควรจดบันทึกอาการและการตอบสนองของสุนัขต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลให้สัตวแพทย์วินิจฉัยและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการจัดการโรค ซึ่งอาจต้องมีการติดตามรักษาเพื่อควบคุมอาการและความผิดปกติของผิวหนังในระยะยาว”

การระบุชนิดของสารก่อภูมิแพ้มีความสำคัญในการวางแผนการรักษา ซึ่งปัจจุบัน รศ.น.สพ.ณุวีร์ กล่าวว่ามีรูปแบบการทดสอบ 2 วิธี ได้แก่    

1.การตรวจด้วยวิธี Intradermal skin test เป็นการทดสอบภายใต้ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยการแพ้ภูมิแพ้อากาศในสุนัข โดยสัตวแพทย์จะฉีดสารทดสอบเข้าไปในชั้นผิวหนังของสุนัขและสังเกตอาการสักระยะ ก่อนที่จะประเมินผลตามการตอบสนองของผิวหนังของสุนัขเพื่อระบุสารที่สุนัขแพ้และระดับความรุนแรงของการแพ้ กระบวนการตรวจแบบนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

“วิธีนี้มีข้อจำกัดคือก่อนที่สุนัขจะเข้ารับการทดสอบ ต้องหยุดยาแก้อักเสบ ยาแก้คัน ยากดภูมิแพ้คุ้มกัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ การตรวจด้วยวิธีการนี้ต้องวางยาซึมหรือยาสลบให้สุนัขด้วยระหว่างทำการตรวจ และยังเป็นวิธีการทดสอบที่มีราคาแพง”  

2.การตรวจด้วยวิธีทางซีรั่มวิทยาเพื่อตรวจหาอิมโมโนโกลบูลินอี (Allergen-specific IgE serology testing) เป็นวิธีการตรวจสอบอาการภูมิแพ้อากาศในสุนัขโดยใช้การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ชนิด immunoglobilun E (IgE) ที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นไปได้ (allergen) วิธีการทดสอบแบบนี้จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดของสุนัข เพื่อทำการทดสอบ

“วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ที่ให้บริการทางด้านนี้มากนัก จึงต้องส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องปฏิบัติการต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง รอผลนาน ที่สำคัญใช้ปริมาณเลือดในการทดสอบค่อนข้างมาก”

 

เกาถูกที่คัน! นวัตกรรมชุดทดสอบระบุสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างแม่นยำ

จากข้อจำกัดของการตรวจทดสอบเพื่อระบุสารก่อภูมิแพ้ทั้ง 2 แบบ รศ.น.สพ.ณุวีร์ ได้พัฒนานวัตกรรม — วิธีการตรวจทางซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขภูมิแพ้อาโทปี ด้วยอิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง (IgG subclass 1) โดยใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)

รศ.น.สพ.ณุวีร์ อธิบายว่า “อิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง” เป็น 1 ใน 4 ของซับคลาสของอิมโมโนโกลบูลินจี ที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์ มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากการตอบสนองภูมิแพ้และการต่อต้านเชื้อโรค ซึ่งการประเมินระดับและสัดส่วนของอิมโมโนโกลบูลินจีแต่ละคลาส สามารถช่วยในการวินิจฉัยและการติดตามการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ หรือการติดเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ในร่างกายได้

“จากการศึกษาของทีมวิจัยพบว่า “อิมโมโนโกลบูลินจีซับคลาสหนึ่ง” เป็นคลาสหลักของ “อิมโมโนโกลบูลินจี” ที่มีการตอบสนองภูมิคุ้มกันในระดับสูงต่อสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขที่เป็นอาโทปีหรือภูมิแพ้ผิวหนัง (AD)”

ในช่วงดำเนินการวิจัย รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ได้ทดลองใช้ชุดทดสอบนี้กับสุนัข 200 ตัวที่โรงพยาบาลสัตว์ในกรุงเทพที่เข้าร่วมโครงการวิจัย การทดสอบประสิทธิภาพของชุดทดสอบนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพของการตรวจด้วย 2 วิธีเดิมที่ใช้อยู่

“แม้เราจะยังไม่มีชุดทดสอบที่ดีที่สุด แต่วิธีการตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ก็ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่ง่ายต่อการเข้าถึงของสัตวแพทย์ และสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มตรวจ ติดตาม จนถึงหยุดการรักษา โดยที่สุนัขไม่ต้องเจ็บตัว และยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย” รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์  กล่าว

นวัตกรรมชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติในระดับสูง Q1 ถึง 3 ฉบับ!

แนวทางการดูแลและรักษาอาการภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข

การดูแลและรักษาอาการภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขโรคเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและควรได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ เพื่อจัดการดูแลที่เหมาะสมสำหรับสุนัขแต่ละบ้าน โดย รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ สรุปแนวทางการดูแลรักษาไว้ดังนี้

  1. นำสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออกไป เช่น หากสุนัขมีอาการแพ้ ฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือ โปรตีนอาหาร ก็ต้องลดสิ่งเหล่านั้นหรือเอาออกจากสิ่งแวดล้อมของสุนัขให้มากที่สุด เพื่อลดการสัมผัสและการตอบสนองภูมิคุ้มกัน
  2. ให้อาหารที่เหมาะสมและไม่มีส่วนผสมที่ส่งผลต่อการแพ้สุนัข เพื่อลดการตอบสนองภูมิคุ้มกัน
  3. ให้สารเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินและอาหารเสริมอื่น ๆ

“การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดอาการภูมิแพ้ในสุนัขได้บ้าง โดยภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข เพื่อลดการตอบสนองที่ผิดปกติต่อสิ่งที่เขาแพ้”

  • ใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์ ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง สัตวแพทย์อาจแนะนำการใช้ยาที่เกี่ยวข้อง เช่น สเตียรอยด์ ยาแก้แพ้ ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุงขน เพื่อควบคุมอาการแพ้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้เจ้าของให้ยาอย่างสม่ำเสมอ
  • ลดสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น การซักผ้ารองนอน เสื้อผ้า หรือ ล้างเครื่องใช้ในบ้านให้สะอาด  การจัดการความสะอาดของสุนัข ใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง และการให้ความสำคัญกับสุขภาพทั่วไป ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม การให้อาหารที่เหมาะสม และการจัดเตรียมสภาพอากาศให้เหมาะสม

ปัจจุบัน ชุดทดสอบซีรั่มเพื่อระบุภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่นในสุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ผิวหนังชนิดอาโทปีด้วยอิมโมโนโกลบูลินจี่ซับคลาสหนึ่ง ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว และในอนาคต รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ตั้งใจที่จะต่อยอดนวัตกรรมนนี้ให้เป็นชุดทดสอบแบบกระดาษ (paper-based ลักษณะเหมือน ATK) เพื่อสะดวกและง่ายต่อการตรวจสอบการแพ้ได้ภายในครั้งเดียว และสามารถระบุการแพ้อื่น ๆ ของสุนัขได้ด้วยนอกเหนือจากการแพ้ไรฝุ่น เช่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้โปรตีนจากอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ยังวางแผนที่จะพัฒนาวัคซีน หรือที่เรียกกันว่า  Allergy Immunotherapy หรือ Allergen-Specific Immunotherapy (ASI) สำหรับฉีดเข้าไปในร่างกายสุนัขเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ได้อย่างตรงจุดอีกด้วย!

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-9440

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า