Highlights

ศศินทร์ จุฬาฯ ชูนโยบาย IDEALS แห่งแรกในไทย หนุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เพื่อองค์กรและธุรกิจที่ยั่งยืน


ศศินทร์ จุฬาฯ พร้อมเป็นศูนย์กลางนโยบาย DEI (Diversity, Equity, Inclusion) เปิดตัวนโยบาย “IDEALS” สร้างวัฒนธรรมยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในองค์กร ผนึกกำลังกับ Steps ตั้ง Neurodiversity at Work Research Center (NWRC) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในประเทศไทย มุ่งเสริมศักยภาพและโอกาสให้บุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้ เข้าถึงงานเพื่อร่วมสร้างสังคมธุรกิจที่ยั่งยืน



จากงานวิจัยหนึ่งของ World Economic Forum ปี 2563 ระบุสถิติที่น่าสนใจว่าบริษัทที่มีนโยบายไม่แบ่งแยก (Inclusion) โดยเฉลี่ยจะมีรายได้สูงขึ้น 28 % มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น 30 % และมีผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นมากกว่า 2 เท่า สอดคล้องกับ Harvard Business Review ในปี 2562 ที่รายงานว่าสถานที่ทำงานที่ไม่แบ่งแยก และทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ พนักงานจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 56 % และมีอัตราการลาออกลดลง 50 %

สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับความไม่แบ่งแยกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรและธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน

การมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม หรือการไม่แบ่งแยกเป็นแนวคิดอุดมคติ หรือเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้? และจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรูว์ บี.มัลลอรี่
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสอนบริหารธุรกิจ (MBA) ภายใต้การนำของ ศ.ดร.เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการศศินทร์ พยายามหาคำตอบนั้น โดยล่าสุด ได้ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนความหลากหลายและกาจตรมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและความเสมอภาค โดยใช้ชื่อว่า IDEALS ซึ่งหมายถึง Inclusion (การมีส่วนร่วม) Diversity (ความหลากหลาย) Equity (ความเสมอภาค) และ Access to Learning (การเข้าถึงการเรียนรู้) at Sasin (ที่ศศินทร์)

“เราริเริ่มนโยบาย IDEALS ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความแตกต่างของผู้คน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและความเสมอภาคให้มากขึ้นในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรูว์ บี.มัลลอรี่ ผู้อำนวยการด้านงานวิจัย ศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายทางการรับรู้ในสถานที่ทำงาน (NWRC), Inclusion Ambassador และอาจารย์ศศินทร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความตั้งใจในการสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม Diversity Equity and Inclusion (DEI) ในสถาบัน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ

ทั้งนี้ ศศินทร์ตั้งเป้าการศึกษาวิจัยและทดลองปฏิบัติการนโยบาย IDEALS เพื่อ “การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม” ในกรอบระยะ 5 ปี นับจากปี 2566 นี้เป็นต้นไป

“การสร้างนโยบายที่รับผิดชอบต่อทุกคน ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ สร้างการมีส่วนร่วม และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม มีความสำคัญมากสำหรับทุกองค์กร ในฐานะสถาบันการศึกษา ศศินทร์ตั้งใจให้นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่จะติดตัวทุกคน ทั้งนิสิตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ของศศินทร์ เมื่อนิสิตเรียนจบและออกไปทำธุรกิจ ทุกคนจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากนโยบาย IDEALS ไปใช้ในการบริหารองค์กร และแก้ปัญหาในวงกว้างได้ ในฐานะผู้นำชั้นแนวหน้าของประเทศ”



ทุกคนคือคนสำคัญในนโยบาย IDEALS

อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าเดิมที ศศินทร์ไม่ได้มีแผนปฏิบัติการที่เจาะจงในการดำเนินนโยบาย IDEALS แต่ใช้วิธีการที่คล้ายกับการทำแผนธุรกิจ มีการสำรวจกรณีศึกษาภายในองค์กรว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลาย (Diversity) มากน้อยเพียงใด รวมถึงมีการตรวจสอบนโยบายภายในองค์กรเพื่อดูว่านโยบายนั้น “รวม” หรือ “ไม่รวม” ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหรือไม่

ที่สำคัญ ศศินทร์ศึกษาความต้องการของบุคลากรทั้งหมดในองค์กร โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างภายนอก เช่น สีผิว ภูมิหลังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเจาะลึกลงไปในเรื่องของประสบการณ์สำคัญในชีวิตของแต่ละคน การฝึกฝนตนเอง ตลอดจนถึงความเชื่อ ทั้งที่เผยออกมาอย่างชัดเจนและที่แอบซ่อนไว้ ซึ่งจะเผยออกมาเมื่อมีกระบวนการพูดคุยสอบถาม

“ที่ศศินทร์ เราภูมิใจในความแตกต่างและหลากหลายภายในสถาบัน ตั้งแต่คณาจารย์ นิสิต นิสิตเก่า และบุคลากร ความเห็นอันหลากหลายของทุกคนจะนำมาสร้างแนวทางตามนโยบาย IDEALS ให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงแนวคิดอุดมคติ”

กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีคณะกรรมการตัวแทนของศศินทร์ร่วมประชุมกันเพื่อวางแผนแนวทางในเชิงปฏิบัติ สร้างความร่วมมือและการประสานงานกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบแนวทางการจัดทำหลักสูตรและนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเป็นที่ยอมรับในสากล ปกป้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการใช้งานวิจัยและแนวคิดที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสังคมที่มีความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม


IDEALS อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค โอบอุ้มความหลากหลาย

หนึ่งในหลักการสำคัญของ IDEALS คือการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค (Equity) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมี หรือได้รับทุกอย่างเหมือนกันหรือในปริมาณเท่ากัน

“ความเสมอภาคหมายถึงทุกคนได้รับสิ่งที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคลเช่น หากคุณได้ยินไม่ถนัด คุณอาจได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ช่วยจดบันทึกแทนคุณ เป็นการช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีโอกาสเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่บกพร่องทางการได้ยิน เป็นวิธีที่เราจะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างได้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงาน การเรียนรู้ การพูด เพื่อสร้างความก้าวหน้า”

ที่ศศินทร์ จึงมีกระบวนการรับฟังนิสิตที่มีความต้องการพิเศษต่าง ๆ

“ทุกคนที่อยากจะเรียนและมีศักยภาพในการเรียน ไม่ควรจะถูกปิดกั้น เราต้องการดึงศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของนิสิตทุกคน เราต้องการสร้างโอกาสที่เปิดกว้างมากที่สุด ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เท่าเทียม”

อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าศศินทร์กำลังทดลองกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ การรับฟังความต้องการต่าง ๆ ทั้งจากนิสิตและเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องการให้จัดประชุมไม่ตรงกับช่วงเวลาละหมาด และเพิ่มเมนูอาหารฮาลาลให้เป็นทางเลือก การเพิ่มพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ชาวไทยและนานาชาติได้มีช่วงเวลาสร้างความคุ้นเคย เพื่อสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกันมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการจัดพื้นที่ Meditation Room ให้ทุกคน ทุกศาสนา และทุกความเชื่อสามารถเข้าไปใช้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจารย์ดรูว์ยังได้ปรับบรรยากาศในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้สัมผัสถึงความหลากหลาย

“นิสิตบอกกับผมว่าในการเรียนที่ผ่านมา พวกเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอคนอื่น ๆ เท่าไร มาเรียนก็นั่งเรียนไปเรื่อย ๆ กับกลุ่มที่เจอกันตั้งแต่แรก กลุ่มเดียวเท่านั้น” อาจารย์ดรูว์ กล่าวถึงจุดอ่อนของการเรียนรู้ที่ได้รับฟังจากการสัมภาษณ์นิสิต

“เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของผมที่ศศินทร์ ผมจะให้พวกเขาเปลี่ยนกลุ่มทุกวัน 2-3 ครั้งต่อวัน พวกเขาจะได้เปลี่ยนกลุ่มในทุกกิจกรรมที่ทำ ในตอนแรก นิสิตรู้สึกหงุดหงิดหัวเสีย แต่เมื่อจบการเรียนในชั้นแล้ว นิสิตหลายคนบอกผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมมาก พวกเขาได้รู้จักทุกคนในชั้น ทั้งนิสิตไทยและต่างชาติ ได้เรียนรู้เรื่องราวของผู้คนมากมาย เพิ่มความมีชีวิตชีวาในการเรียน”



เคารพความหลากหลาย เป็นตัวเองได้ หนทางสู่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

การทำความเข้าใจความหลากหลายเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความรู้สึกเคารพและเห็นคุณค่าของความหลากหลายด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม (Inclusion) อาจารย์ดรูว์ กล่าว

“คนจะมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในองค์กรได้เมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัย (psychological safety) เป็นตัวของตัวเองได้ และภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่ง”

เรื่องนี้เป็นความท้าทายพอสมควรโดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทย ที่ให้ความสำคัญกับความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสุภาพและความเคารพ แม้จะมีข้อดี แต่ก็อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในองค์กรเป็นไปได้ยาก “เพราะทุกคนไม่ได้เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ”

อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่าศศินทร์พยายามสร้างบรรยากาศแห่งความรู้สึกปลอดภัย เพื่อที่ทุกคนจะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและส่งเสริมให้เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การทำงาน หรือการสอนก็ตาม อาทิเช่น  คณาจารย์รู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอแนวคิดที่แหวกแนว พนักงานรู้สึกปลอดภัยเมื่อทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แม้ว่าจะต้องคิดนอกกรอบก็ตาม

“ถ้าคนเรารู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในองค์กรจริง ๆ เขาก็จะให้ความร่วมมือด้วยดี ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งอะไร หรืออยู่ในระดับใดในองค์กร”



กระบวนการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ศศินทร์ใช้มาโดยตลอดและนับว่ามีความสำคัญยิ่งคือกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือ “Participatory Problem Solving” กล่าวง่าย ๆ ก็คืออาจารย์และนิสิตในชั้นเรียนร่วมพูดคุยเพื่อวิเคราะห์ หาคำตอบ หรือข้อสรุปวิธีการในการแก้ไขปัญหาด้วยกัน

อาจารย์ดรูว์ ยกตัวอย่างนิสิตที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดเล็ก ที่พบปัญหาพนักงานลาออกบ่อย และเมื่อมีการจ้างงานใหม่ พนักงานใหม่ก็จะทำงานแค่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วทยอยลาออก ไปทำงานกับองค์กรใหม่และองค์กรที่ใหญ่ขึ้น

“เมื่อเรามาระดมสมองเพื่อจัดการกับปัญหานี้ด้วยกัน โดยใช้กระบวนการ “Participatory Problem Solving” เราก็พบทางออกคือการให้พนักงานที่ดี เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกพนักงานใหม่ การคัดเลือกพนักงานใหม่ไม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะของฝ่าย HR หรือเป็นเรื่องของผู้บริหารหรือผู้จัดการเท่านั้น เพราะคนที่จะต้องทำงานร่วมกันคือพนักงานที่ทำงานในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้น เมื่อมีการนัดผู้มาสมัครเป็นพนักงานคนใหม่ พนักงานที่ดีจะมาเข้าร่วมการสัมภาษณ์ด้วยและให้คำแนะนำผู้บริหารเพื่อช่วยคัดเลือกผู้สมัครที่ดี ในกระบวนการนี้ พวกเขาจะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่ความพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน สร้างทีมที่ดี อัตราการลาออกก็จะลดลง



เปิดศูนย์ NWRC ส่งเสริมศักยภาพผู้มีความหลากหลายด้านการรับรู้

อาจารย์ดรูว์ อ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ชี้ว่า 15 % หรือประมาณ 1 พันล้านคนของจำนวนประชากรโลก เป็นบุคคลที่มีความแตกต่างทางการรับรู้ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทย บุคคลในกลุ่มนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยเลย

“คนกลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและสังคม แค่ยังมีปัญหาในการหางานและร่วมสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ” อาจารย์ดรูว์ กล่าวถึงที่มาของการก่อตั้ง Neurodiversity at Work Research Center (NWRC) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มโอกาสในการเข้าทำงาน และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ

ในฐานะผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของ NWRC อ.ดรูว์ กล่าวว่า “ศศินทร์ต้องการให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้มีอิสรภาพในการเลือกอนาคตที่เหมาะสมกับตนเองเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เรามุ่งมั่นให้สังคมเปิดใจรับรู้ถึงโอกาส และการปรับสิ่งแวดล้อมบางอย่างในที่ทำงาน เพื่อให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพสูงสุดออกมา จึงจำเป็นต้องสร้างระบบเครื่องมือและการวิจัยที่เหมาะสมกับประเทศไทยด้วย”

ศูนย์ NWRC จะทำการวิจัยการฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาลงทะเบียนเรียนไปจนถึงช่วงที่พวกเขาได้งานทำ นอกจากนี้ ศศินทร์ยังทำงานร่วมกับ Steps (stepcommunity.com) องค์กรที่ปรึกษาชั้นนำของประเทศไทยด้านการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานให้กับเยาวชนผู้ที่มีความหลากหลายด้านการรับรู้ และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแบบไม่แบ่งแยกเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างความหลากหลายในการจ้างงานมากยิ่งขึ้น

“เราจะสร้างกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และพัฒนาวิธีการและครื่องมือต่าง ๆ เพื่อได้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการยืนยันว่าการมีบุคลากรที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ในองค์กรนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยภายในองค์กรก็สามารถเปิดโอกาสให้พวกเขา (ผู้ที่มีความแตกต่างด้านการรับรู้) เข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนมากมายอะไรเลย”

นอกจากองค์ความรู้จากการวิจัยของศูนย์ฯ ที่จะได้เผยแพร่ให้กับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว อ.ดรูว์ หวังว่าความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้นิสิตเข้าใจความต่างระหว่าง “ความไม่ทัดเทียมด้านสมรรถภาพ” กับโอกาสที่มาจาก “ผู้นำที่สร้างงานที่มีความหมาย”



จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาด้านการไม่แบ่งแยก (inclusivity) ให้กับธุรกิจต่าง ๆ คุณแมกซ์ ซิมป์สัน ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Steps กล่าวว่า ศูนย์ NWRC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับภาคเอกชน สังคม และที่สำคัญที่สุด เป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความหลากหลายทางการรับรู้ที่มักถูกสังคมกีดกันในการเข้าทำงาน

ทั้งนี้ ข้อมูล จากกรมประชาสัมพันธ์ ในปี 2565 ระบุว่าผู้พิการในวัยทำงานจำนวน 856,844 คนในประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 36.5 เท่านั้นที่มีงานทำ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังบอกด้วยว่า ผู้พิการที่ได้รับการจ้างงาน 79 % มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตและสติปัญญาดีขึ้น และ 88 % เกิดผลดีกับการจ้างงาน การสร้างสรรค์ผลงาน และความไว้วางใจในตัวบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นผลให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีอัตราการลาออกลดลง



ศศินทร์ ศูนย์กลางนโยบาย DEI (Diversity, Equity, Inclusion)

ด้วยนโยบาย IDEALS และการเปิดพิ้นที่ให้ความหลากหลายต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค อาจารย์ดรูว์ เชื่อมั่นว่าผู้ที่จบการศึกษาจากศศินทร์จะเป็นผู้นำที่ใส่ใจประเด็นทางสังคม เคารพในคุณค่าของสมาชิกทุกคนในสังคม ซึ่งในระยะยาว จะเกิดส่งผลสะเทือนเชิงบวกให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อย่างไรก็ดี อาจารย์ดรูว์ กล่าวว่า เส้นทางการเดินทางจาก Diversity ไปสู่ Equity หรือ Inclusion ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่มีเส้นทางตายตัวหรือสูตรสำเร็จ แต่ละประเทศต้องค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทภายในด้วยตนเอง อย่างประเทศไทยยังคงต้องค้นหาและสร้างพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งศศินทร์ได้เริ่มสร้างองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องนี้ และลงมือใช้ที่ศศินทร์ก่อน ซึ่งมีความยืดหยุ่นทางพหุวัฒนธรรมและมีความเป็นไทย ก่อนที่จะขยายผลการบริหารจัดการ Inclusion ไปสู่ภาพรวมของประเทศ ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับบริบทประเทศไทยทั้งหมดด้วย

“ผมมุ่งหวังให้ศศินทร์เป็นศูนย์กลางของนโยบาย DEI ซึ่งศศินทร์เป็นสถาบันบริหารธุรกิจแห่งแรกในไทยที่พร้อมแบ่งปันเรื่องราวกับสถาบัน หน่วยงาน และองค์กรเพื่อให้เกิดจุดมุ่งหมายความยั่งยืนให้เกิดขึ้นร่วมกัน” ผศ.ดร.ดรูว์ กล่าวทิ้งท้าย


ร่วมสร้างองค์กรธุรกิจโดยเห็นศักยภาพของทุกคน ติดตามนโยบาย IDEALS และโครงการภายใต้แนวคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ยั่งยืนจาก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ sasin.edu/inclusion


สามารถอ่านข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม ได้ที่
1. The Valuable 500 – Closing the Disability Inclusion Gap, World Economic Forum: www.weforum.org
2. The Value of Belonging at Work, Harvard Business Review: hbr.org
3. Increasing Employment Opportunities for Disabled Persons, กรมประชาสัมพันธ์: thailand.prd.go.th
4. Neurodiversity at Work Research Center (NWRC), ศศินทร์ จุฬาฯ : sasin.edu/nwrc
5. TransTalents Project, ศศินทร์ จุฬาฯ : sasin.edu/transtalents

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า