รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
12 ตุลาคม 2566
ผู้เขียน ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ
แพทย์จุฬาฯ ออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก คำนวณมุมการไหลของน้ำ ปริมาณและ ระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วถึงริมผีปากผู้ป่วย หวังลดอัตราการสำลักที่อาจนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ให้ผู้ดูแลสบายใจ ผู้ป่วยปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต
สำลัก ปัญหาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น การลำลักในผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ในที่สุด ปัญหาการสำลักจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรมองข้าม
“เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการกลืนยาก และสำลักง่ายมาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินช้า ๆ ดื่มช้า ๆ ก้มคอแล้วค่อยกลืนอย่างมีสมาธิ และหมั่นฝึกกล้ามเนื้อคอเป็นประจำ — ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่มีผู้ป่วยไม่ถึงครึ่งที่สามารถทำได้ เพราะเรามักกินดื่มแบบที่เราเคยชินจนเสี่ยงเกิดการสำลักตามมาบ่อย ๆ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สะท้อนปัญหาการสำลักในผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคระบบประสาท
“ในเมื่อผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินยาก เราจึงหาวิธีอื่นเพื่อช่วยควบคู่กันไปด้วย โดยศึกษาจากพฤติกรรมการดื่มน้ำปกติ เมื่อน้ำไหลมาแตะริมผีปาก เราจะเงยคอขึ้น มาเป็นฐานในการพัฒนาแก้วน้ำกันสำลัก”
คนเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ “สำลัก” น้ำและอาหารกันได้ แต่ก็มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมักไม่อันตรายมากนัก (หากแก้อาการและได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที) แต่อาการสำลักที่น่าห่วงใยและเราควรใส่ใจเป็นพิเศษคือการสำลักที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้มีอาการกล้ามเนื้อคออ่อนแรง ผู้ป่วยระบบประสาทที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เช่น คนไข้โรคพาร์กินสัน และผู้มีภาวะกลืนยาก (1 ใน 3 ของผู้สูงวัยมีภาวะกลืนยาก และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคทางสมองมีภาวะกลืนยาก)
“ผู้สูงวัยบางรายมีปัญหาเรื่องการกลืนยากและมีความเสี่ยงที่จะสำลักสูง จนแพทย์วินิจฉัยว่า เขาถึงจุดที่ควรใส่สายให้อาหารทางจมูก หรือเจาะหน้าท้องให้อาหารได้แล้ว แต่ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่กลัวการทำแบบนี้ และมักให้เหตุผลว่า สงสารผู้สูงวัย แต่ความสงสารนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบาย
“ปัญหาหนึ่งของผู้สูงวัย คือ การกลืนไม่หมด มีการตกค้างของเศษอาหารในช่องปาก ยกตัวอย่าง อาหารหนึ่งคำ จะมีทั้งข้าวและกับข้าว ซึ่งผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอาจกลืนให้หมดไม่ได้ในครั้งเดียว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ดูแลบอกให้ผู้ป่วยกลืนซ้ำรอบที่ 2 หรือบางคนอาจต้องกลืนซ้ำเป็นรอบที่ 3 เพื่อกลืนอาหารให้หมด นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังต้องตรวจสอบในช่องปากผู้ป่วยทุกครั้งด้วยว่ามีเศษอาหารหลงเหลืออยู่หรือไม่ เพราะหากมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ในช่องปาก มันจะทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ในภายหลัง”
การสำลักภายหลัง (Delay Aspiration) อาจเกิดเพียงไม่กี่นาทีหลังจากการกลืนอาหาร แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ภายหลังการรับประทานอาหารในช่วง 1 ชั่วโมงได้เช่นกัน
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายให้เห็นภาพอาการสำลักภายหลังว่า “มันจะคล้าย ๆ กับกลืนอาหารจนหมดแล้ว แต่จริง ๆ ยังแอบมีเศษอาหารหลงติดอยู่ในช่องปาก เมื่อผู้ป่วยนอนหงาย เศษอาหารก็จะตกลงมา ทำให้มีอาการไอ และสำลักตามมา”
นอกจากนี้ ยังมี อาการสำลักเงียบ (Silence Aspiration) หมายถึงการสำลักแบบไม่มีอาการไอ ไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เศษอาหารเล็ก ๆ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรีย ในช่องปากได้ไหลลงในหลอดลมเรียบร้อย จนเป็นสาเหตุทำให้ปอดติดเชื้อ ปอดบวม ผู้ป่วยจะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นก็ต่อเมื่องเกิดอาการรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ เช่น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก จนต้องเข้าโรงพยาบาล
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการสำลัก และภาวะกลืนยากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งผู้ดูแลต้องใจเย็นและเอาใจใส่เป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าผู้ป่วยและผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำดังกล่าวและฝึกปฏิบัติจากนักฝึกกลืนที่โรงพยาบาล แต่ปัญหาที่มักพบเสมอ ๆ คือเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน พฤติกรรมการกลืนก็กลับไปเหมือนเดิม
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทำได้แค่ตอนมาฝึกการกลืนร่วมกับนักฝึกกลืนที่โรงพยาบาล พอกลับบ้านไป ก็ไม่ได้ปรับพฤติกรรมการกินตามที่แพทย์กำชับ มีผู้ป่วยน้อยรายเท่านั้นที่ทำได้ อีกอย่างคือโรคประจำตัวบางโรคก็เป็นอุปสรรค เช่น โรคพาร์กินสัน และผู้ที่มีภาวะ Stroke กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดเลือดตีบ ที่ทำให้การกลืนยากขึ้น”
เมื่อการปรับพฤติกรรมด้วยการฝึกกลืนเป็นโจทย์ยากของทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแล ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนา “แก้วน้ำกันสำลัก” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย
“เราออกแบบแก้วน้ำกันสำลัก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดื่มน้ำ กลืนน้ำในขณะที่หลอดอาหารอยู่ในตำแหน่งที่ดี และหลอดลมปิดอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลัก”
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าแก้วน้ำกันสำลัก ผลิตด้วยวัสดุประเภทเดียวกับขวดนมของเด็กทารก ดีไซน์ให้เหมือนแก้วน้ำปกติทั่วไป และใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากดื่มน้ำมากขึ้น
“เราไม่ต้องการให้ผู้ใช้และคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ที่ใช้แก้วน้ำนี้เป็นผู้ป่วย ที่กำลังใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ จึงดีไซน์ให้แก้วน้ำดูกลมกลืนกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถพกไปใช้ที่ไหนก็ได้” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายแนวคิดในการดีไซน์ “แก้วน้ำกันสำลัก”
แม้ภายนอกจะดูไม่แตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป แต่ภายในมีกลไกพิเศษเพื่อกันการสำลัก ที่ทีมวิจัยได้ศึกษาและคำนวณอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมุมการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วมาถึงริมผีปากผู้ใช้งานที่เหมาะสม
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายคุณสมบัติพิเศษของแก้วน้ำว่า “แก้วน้ำนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องเงยคอ เพราะการที่ผู้สูงวัยไม่ต้องเงยคอ จะช่วยลดการสำลักลงได้มาก และที่สำคัญ แก้วน้ำกันสำลักนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำต่อการดื่มแต่ละครั้งให้ไม่มากจนเกินไป และกำหนดเวลาในการดื่มให้ไม่เร็วเกินไปได้ ด้วยปริมาณการดื่มที่เหมาะสม มุมที่เหมาะสม ท่าดื่มที่เหมาะสม เวลาดื่มที่ไม่เร็วจนเกินไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยสำลักน้อยลง”
นอกจากนี้ แก้วน้ำกันสำลักยังมีดีไซน์พิเศษเพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย
“หูของแก้วน้ำมีลักษณะนูนขึ้นมา เพื่อช่วยคนไข้พาร์กินสันที่มีภาวะเกร็งกำมือได้ไม่สุด สามารถจับแก้วน้ำได้ถนัด มั่นคง และมั่นใจในการดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น”
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าสำหรับคนไข้พาร์กินสันที่มีอาการเกร็ง ช้า สั่น ควรกินยาโรคพาร์กินสันก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะเมื่อยาออกฤทธิ์ดี คนไข้จะมีอาการสั่นน้อยลง เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีเกือบเป็นปกติ ลดโอกาสการสำลักลงได้
ปัจจุบัน แก้วน้ำกันสำลักยังเป็นต้นแบบ (Prototype) ที่ผ่านการวิจัยขั้นแรก และกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยทดสอบ (Testing) กับผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ทั้งคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล และคนไข้ที่นำแก้วน้ำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการติดเครื่องเซนเซอร์จับพฤติกรรมขณะดื่มน้ำไว้
“เราต้องการรู้ว่าเมื่อผู้ใช้ได้ดื่มน้ำผ่านแก้วน้ำนี้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีแพทย์ หรือพยาบาลคอยควบคุมดูแลแล้ว แก้วน้ำนี้จะสามารถลดการสำลักได้ในระดับใด โดยจะประมวลผลการใช้งานจริงทั้งหมดนี้ นำมาพัฒนาดีไซน์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แล้วจึงต่อยอดการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป”
นอกจากพัฒนาการใช้งานแล้ว ในขั้นตอนการทดสอบนี้ ทีมวิจัยจะได้แก้ไขข้อจำกัดบางอย่างด้วย โดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาด เนื่องจากดีไซน์ของแก้วน้ำมีลักษณะเป็นชิ้นเดียว ภายในแก้วน้ำถูกออกแบบให้มีตัวกั้นน้ำ มีมุมลาดเอียงที่คำนวณการปริมาณไหลของน้ำไว้ จึงอาจทำให้ทำความสะอาดยากตามซอกมุมเหล่านี้
“ที่สุดแล้ว ทีมวิจัยหวังว่า “แก้วน้ำกันสำลัก” ที่เราตั้งใจออกแบบและพัฒนา จะช่วยผู้ใช้ให้สามารถกินอาหาร 3 มื้อต่อวันได้อย่างมีความสุข ดื่มน้ำได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะสำลัก” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวิจัยแก้วน้ำกันสำลัก สามารถติดต่อได้ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึก ผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7 โทร 0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 08-1107-9999 Website: www.chulapd.org
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้