ห้องเรียนความรู้รอบตัวจากเรื่องราวในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน (นักสืบสายน้ำ)

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการชุด “ห้องเรียนความรู้รอบตัวจากเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์” ณ สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2562 โดยมีครูและนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จากโรงเรียนบ้านผาตูบ โรงเรียนบ้านไหล่น่าน รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมอบรม จำนวน 30 คน และสามเณร จากโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุแช่แห้ง จำนวน 25 รูป
กิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มด้วยการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมการสำรวจสภาพน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร โดยการสังเกตจากสีน้ำ ความขุ่นใส กลิ่น และสัตว์น้ำเล็กๆ ที่พบ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้สภาพน้ำได้เป็นอย่างดี กิจกรรมนักสืบสายน้ำช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กและเยาวชนเกิดความหวงแหนและความรักในทรัพยากรธรรมชาติ เกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ณัฐพล ใกล้ชิด ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งมาร่วมกิจกรรมพร้อมกับครอบครัว กล่าวว่า “รู้จักกิจกรรมนี้จากการที่มีคนมาเล่าให้ฟังว่าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพิพิธภัณฑ์ จึงเกิดความสนใจเข้ามาเยี่ยมชม และพอดีวันนี้มีการจัดกิจกรรม จึงได้ชวนภรรยาและลูกชายเข้าร่วม หลังจากได้ทำกิจกรรมในวันนี้ รู้สึกว่า เป็นกิจกรรมที่ดีและสนุกมาก เนื่องจากโอกาสที่จะทำอย่างนี้ยากสำหรับเด็กทั่วๆ ไปเพราะไม่มีในห้องเรียน มีคนบอกว่าให้เด็กรักธรรมชาติ รักป่า แต่ถ้าเค้าไม่รู้จัก เค้าก็ไม่รู้จะรักอะไร แต่ในกิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ รู้ว่าในน้ำไม่ได้มีแค่น้ำ มีสิ่งมีชีวิตเยอะแยะ และยังบอกด้วยว่าน้ำดีหรือไม่ดี ถ้าเค้ารู้ว่ามีอะไรเค้าก็จะรักด้วย ถ้ามีโอกาสครั้งหน้า อยากมาร่วมกิจกรรมอีก”

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย