คอลัมน์ รู้เรื่องยา กับเภสัชจุฬาฯ: กินเหล้าพร้อมกับกินยา อันตรายมาก

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยาว่า จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดพิษต่อตับเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างยาที่มีผลต่อตับที่คุ้นเคยคือยาลดไข้บรรเทาปวดพาราเซตามอล ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะกระตุ้นให้เอ็นไซม์ในตับบางชนิดมีความสามารถในการทำงานมากขึ้นและทำให้ได้รับพิษจากพาราเซตามอลมากกว่าปกติ ฉะนั้นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำต้องใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดที่ต่ำ และต้องใช้ในระยะเวลาไม่นาน หรืออาจเลี่ยงไปใช้ยาชนิดอื่นแทน นอกจากนี้ ยาหลายชนิดก็มีส่วนผสมของพาราเซตามอลเช่นกัน เช่น ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ยาเม็ดบรรเทาหวัดลดไข้
ผู้ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างใช้ยา ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การควบคุมน้ำตาลไม่ปกติ หรือในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นจะได้รับอันตรายจากยาและแอลกอฮอล์มากขึ้น เนื่องจากร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ได้ช้ากว่าคนหนุ่มสาว แอลกอฮอล์จึงอยู่ในร่างกายนานขึ้น หรือโดยทั่วไปผู้หญิงส่วนใหญ่จะได้รับผลจากแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ชาย รวมถึงความรุนแรงของโรคของแต่ละบุคคลด้วย ทางที่ดี หากต้องกินยาแต่จำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ควรปรึกษาเภสัชกรก่อน เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้น

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย