รู้ลึกกับจุฬาฯ

ทีวีเพื่อเด็กไทย

การปรับผังช่องรายการเด็ก MCOT Family ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่จะเน้นเนื้อหาด้านส่งเสริมภาคธุรกิจ เช่น สินค้าโอท็อป สตาร์ทอัพ อีคอมเมิร์ซ เป็นอีกข่าวใหญ่ในสังคมไทย หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงผังรายการจะทำให้เด็กและเยาวชนไทยเสียโอกาสเข้าถึงสื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงมีเครือข่ายพลเมืองที่ห่วงใยอนาคตของเด็กไทยเข้าไปยื่นหนังสือต่อ กสทช.

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ หนึ่งในผู้แทน เครือข่ายพลเมือง และอาจารย์จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ให้พิจารณาการปรับผังของ อสมท เพราะช่อง MCOT Family อยู่ในหมวดหมู่ช่องเด็กเยาวชน แต่ กสทช.ชี้แจงว่าประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล เพราะขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงผังรายการของช่องนี้มายัง กสทช.

“ปัจจุบันเด็กมีสื่อหลากหลายมากขึ้นก็จริง แต่เด็กก็ยังรับสื่อโทรทัศน์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ต้องมีกฎกติกาเข้ามาควบคุมดูแลสื่อทีวีเด็กตรงนี้ เพราะวิจารณญาณของเด็กยังไม่เท่ากับผู้ใหญ่ ต้องรับประกันว่าเด็กได้รับสื่อที่เหมาะสม ไม่เกิดผลอันตราย”  เป็นคำอธิบายของ ผศ.มรรยาท ถึงความสำคัญของโทรทัศน์สำหรับเด็ก ผศ.มรรยาท เล่าต่อว่า ประเทศไทยมีสื่อทีวีสำหรับเด็กน้อยมาก ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ไทยมีโทรทัศน์ รายการสำหรับเด็กลดน้อยลงเรื่อยๆ และเรียกได้ว่า “หาย”  ไปจากหน้าจอโทรทัศน์เมืองไทยเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

“ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจ รายการเด็กสปอนเซอร์ไม่ค่อยเข้า ผู้บริโภคที่เป็นเด็กไม่ได้กระตุ้นให้สินค้าโฆษณาขายได้ สปอนเซอร์เลยอยากไปทุ่มกับคนดูจำนวนมาก ให้พ่อแม่ซื้อให้ลูกมากกว่า”  ขณะเดียวกัน ช่องรายการสำหรับเด็กมีกรอบกติกาเยอะ ก็ทำให้ผู้ผลิตไม่อยากทำช่องเด็ก

แต่ที่เป็นต้นเหตุของการไม่มีโทรทัศน์สำหรับเด็ก แท้จริงแล้วเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ซึ่ง ผศ.มรรยาท กล่าวว่า เมืองไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ไทยไม่มีศูนย์การเรียนรู้ ไม่มีสนามเด็กเล่นที่พร้อมจะกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ กฎหมายที่เอื้อให้ช่องทีวีเปิดรายการเด็ก เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษีให้ช่องที่ทำรายการเด็ก เป็นต้น

“ถ้าปล่อยไปตามยถากรรมอย่างนี้ ช่องเด็กก็ไปหมด เพราะเขาสู้ช่องอื่นๆ ไม่ไหว กลายเป็น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก รัฐเองก็ไม่ได้ลงทุนกับสื่อทีวีเด็กเลย อย่างต่างประเทศ บีบีซีอังกฤษนี่เขาทุ่มงบหลายล้านเหรียญในการดึงเด็กเข้าสู่สื่อโทรทัศน์เลยนะ เพราะเขาคิดว่าสื่อโทรทัศน์อย่างน้อยก็ปลอดภัยว่าสื่อออนไลน์ที่มีการกำกับดูแลน้อย และสุ่มเสี่ยงต่อการที่เด็กจะเห็นอะไรไม่เหมาะสม”

ผศ.มรรยาทอธิบายว่า ปัจจุบันช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กใช้วิธีปรับตัว ไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ กสทช.กำหนด เพื่อให้ช่องตัวเอง

อยู่รอด ยกตัวอย่างจากประกาศ กสทช. เมื่อปี 2556 ระบุว่าช่วง 4 โมงถึง 6 โมงเย็นทุกวัน และ 7 โมงเช้า ถึง 9 โมงเช้าในวันเสาร์ อาทิตย์ ต้องมีรายการเด็กอย่างน้อย 60 นาที แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่เกิดขึ้น เพราะ

มีรายการเด็กแค่ 37.5 นาทีต่อวันเท่านั้น

ส่วนรายการสำหรับเด็ก 3 – 5 ปี ก็มีแค่ 3 นาทีต่อวัน ซึ่งก็ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็มีการใส่เนื้อหารายการเชิงครอบครัว หรือรายการ “ทั่วไป”  ที่ดูได้ทุกวัยเข้ามาแทน ซึ่งหลายรายการก็ไม่ได้มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับ

การเรียนรู้เด็กจริงๆ

“กลายเป็นว่าทุกวันนี้ช่องเด็กกลายเป็นช่องครอบครัวไปหมด ช่องเอาซิทคอมมาลง เอารายการช็อปปิงออนไลน์มาลง ก็ไม่ใช่เนื้อหาสำหรับเด็กอยู่ดี เคยมีรายการเด็กรายการหนึ่งโฆษณาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งในรายการ พิธีกรพูดว่า เด็กๆ กินแล้วเหมือนกินผักผลไม้เลย พูดเพื่อเอาใจสปอนเซอร์ แล้วเนื้อหาแบบนี้เหมาะกับรายการเด็กหรือ”

ผศ.มรรยาทกล่าวอีกว่า ผู้ผลิตรายการจำนวนมากมองว่ารายการเด็กทำแล้วก็ไม่โดนใจเด็ก เลยไม่ทำต่อ หลายๆ สถานีเองก็นำรายการไปออกตอนเช้าตรู่ ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กยังไม่ตื่น แม้ว่าจะมีงานวิจัยเชิงนิเทศศาสตร์จำนวนมากชี้ว่าเด็กต้องการอะไร แต่ผู้ผลิตเองก็ไม่ได้นำงานส่วนนี้ไปใช้วางแผนผลิตรายการสำหรับเด็ก

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเองก็มองว่า ปัจจุบันเด็กไทยไม่ดูโทรทัศน์ แต่ไปใช้อินเทอร์เน็ต ดูคลิป วีดีโอ ในสื่อออนไลน์หมดแล้ว แต่สถิติที่มีการสำรวจทั่วประเทศพบว่า โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่ออันดับหนึ่งที่เด็กไทยเข้าถึง มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่หันไปใช้สื่อออนไลน์

“เราไม่ต้องการทีวีสำหรับเด็กเยอะ แค่ช่องเดียวก็พอ แต่ต้องเป็นช่องเพื่อเด็ก มีรายการเพื่อเด็ก เหมาะสมกับเด็กจริง”  คือสิ่งที่ ผศ.มรรยาทย้ำ

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า