รู้ลึกกับจุฬาฯ

จับตากระแสนิยมขวาจัดในยุโรป

ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นที่จับตาและพูดคุยกันถึงกระแสการเมืองโลกที่ส่อเค้าว่ากำลังเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ในฝั่งยุโรป กระแสการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมที่แพร่หลาย เริ่มส่งอิทธิพลต่อมติมหาชนผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชายุโรปศึกษา (นานาชาติ) บัณฑิตวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า กระแสฝั่งอนุรักษ์นิยม หรือฝั่งขวาในยุโรป เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง อันนำไปสู่กรณี Brexit หรือการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นมาเป็นที่นิยมของพรรคการเมืองฝั่งขวาในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ระบุว่า กระแสฝั่งขวาในยุโรปมีมานานมาตั้งแต่ยุคกลาง แต่มาเด่นชัดตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเรื่องความรุนแรง หรือในยุคที่อุดมการณ์ฟาสซิสต์เฟื่องฟู นำโดยผู้นำเยอรมัน อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และผู้นำอิตาลี อย่าง เบนิโต มุสโสลินี

“ยุคนั้นขวาจัด คือการไม่ยอมรับชนชาติอื่นๆ นอกจากคนผิวขาวตาฟ้า และก็อย่างที่เรารู้กันดีว่ามีการใช้ความรุนแรง มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นสังคมมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โลกมีกระบวนการโลกาภิวัตน์ ทางด้านการสื่อสารและการขนส่ง มีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ตใช้ โลกนิยมติดต่อค้าขาย ต้องลงทุนข้ามชาติ กระแสฝั่งอนุรักษนิยมเลยไม่ได้มีรูปแบบความรุนแรงเหมือนในช่วงสงคราม แต่มันก็มาในรูปแบบใหม่ เช่น การปกป้องการค้า ที่ไม่ใช่ภาษี การต่อต้านแรงงานหรือผู้ลี้ภัยที่เป็นชนชาติอื่น เป็นต้น” ผศ.ดร.ณัฐนันท์กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ อธิบายต่อว่า สำหรับยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีพันธะร่วมกันในรูปแบบสหภาพยุโรป และมีความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจและการเมืองร่วมกัน กระแสนิยมขวาเริ่มก่อตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ที่เกิดภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้แต่ละประเทศเริ่มไม่พอใจ

“ต้องบอกว่า EU หรือสหภาพยุโรป เป็นตัวสลายชาตินิยมของแต่ละประเทศทิ้ง แต่ที่ผ่านมามันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ เช่น กรีซ อิตาลี โปรตุเกส เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ ซับไพรม์ในอเมริกา อังกฤษ เจอ Credit Crunch (วิกฤติสินเชื่อ) ตามๆ กัน” ผศ.ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

เหตุการณ์ Brexit หรือการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป จึงเป็นภาพสะท้อนว่า ยุโรปกำลังมีปัญหา และเกิดความรู้สึกในใจของชาวอังกฤษ รวมถึงยุโรปอื่นว่า “ฉันต้องเอาเงินฉันไปช่วยคน (ชาติอื่น) ที่เกิดวิกฤติเพื่ออะไร” ดังนั้น Brexit จึงอาจเป็นสัญญาณที่ทำให้อีกหลายๆ ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ทำตามแนวทางอังกฤษไปด้วย

ขณะเดียวกัน การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ก็อาจเป็นเครื่องสะท้อนนโยบายเศรษฐกิจของอังกฤษเองก็ได้ อีกทั้งภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของอังกฤษ คือภาคบริการและภาคการเงินไม่เหมือนประเทศอื่นในยุโรปไม่ได้พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตรถแบบเยอรมนีหรือสาธารณรัฐเช็ก ผศ.ดร.ณัฐนันท์วิเคราะห์ว่าการที่อังกฤษออกมาจากสหภาพยุโรป อาจเป็นสัญญาณว่าอังกฤษจะเข้าไปมี ‘บทบาท’ และ ‘เล่น’ กับเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น

“อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่โหวต Brexit คือ คนแก่ คนรุ่น Baby Boomer เยอะมาก คนพวกนี้เขาเป็น Anti-Establishment คือเขามองว่า EU เนี่ยเป็นโปรเจ็คของพวกชนชั้นนำ พวกออกนโยบายว่ายุโรปต้องบูรณาการ แต่ละประเทศต้องสละอำนาจอธิปไตย เขาไม่ได้ถามประชาชน” ผศ.ดร.ณัฐนันท์ อธิบาย

เช่นเดียวกับกรณีรับผู้อพยพต่างแดน หรือผู้ลี้ภัยจากภัยสงครามในซีเรีย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ยุโรปกำลังเผชิญ สร้างความไม่พอใจกับประชาชนชาวยุโรป ว่ารัฐบาลกำลังใช้ภาษีของตนเพื่อนำมาช่วยคนนอก ขณะเดียวกันก็มีฝั่งการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นมาเรียกร้อง จากเดิมที่ประชาชนไม่ค่อยสนใจและไม่ฟังกัน กลายเป็นการให้คะแนนโหวตมากขึ้น

“เขาไม่ใช้คำว่าขวาจัด มันดูรุนแรง แต่ใช้คำว่า right populism (ประชานิยมเอียงขวา) แทน เพื่อให้ดูว่าฝั่งขวามันจะ popular และตอบสนองต่อความต้องการของ population อย่างฝรั่งเศสสมัยก่อนต้องมีผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเด่นๆ จากพรรคการเมืองใหญ่ตลอด แต่พักหลังมานี้กระแสฝั่งพรรคทางเลือกขวามาแรง มีผู้นำพรรคขวาจัดมากๆ อย่างมารีน เลอ เพน ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ส่วนที่ออสเตรียกับเนเธอร์แลนด์มีการเลือกตั้งไปแล้ว ก็พบว่าเกือบจะได้ผู้นำประเทศที่มีแนวคิดขวาจัดขึ้นมา” ผศ.ดร.ณัฐนันท์ อธิบาย

ผศ.ดร.ณัฐนันท์ อธิบายว่า การที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาได้ที่นั่งในสภามากขึ้น เป็นตัวสะท้อนว่าความคิดของประชาชนค่อนข้างไปในแบบไม่อยากแบกรับภาระผู้อพยพ รวมถึงปัญหาการก่อการร้ายที่หลายคนวิตกกังวลว่าแฝงมากับผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็อาจเป็นตัวเร่งให้กระแสความคิดของประเทศต่างๆ ในโลก มีความโน้มเอียงไปในทิศทางขวา เพราะหลายคนเริ่มรู้สึกว่ามี ‘พันธมิตร’ในเชิงความคิดมากขึ้น

“เรื่องเงินก็เป็นตัวหลักที่จะเร่งให้ EU ไร้เสถียรภาพ คือถ้ามันไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ อื่นๆ และผู้อพยพทุกคนก็แฮปปี้ ก็อยู่ด้วยกันได้” ผศ.ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า