รู้ลึกกับจุฬาฯ

ออฟฟิศซินโดรมโรคประจำยุคไอที

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยต่างพากันลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำข้าราชการออกกำลังกายที่ทำเนียบรัฐบาล สืบเนื่องจากมติ ครม. ที่กำหนดให้ข้าราชการทั่วประเทศออกกำลังกายทุกวันพุธ สาเหตุของคำสั่งมาจากรายงานผลการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย  ที่พบเด็กและผู้สูงอายุมีกิจกรรมเนือยนิ่ง เช่น การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นเวลานาน

พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าข้าราชการที่นั่งทำงาน เป็นเวลานานอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงจัดให้มีวันออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเครียด และ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนเหตุที่เลือก วันพุธเป็นเพราะเป็นวันกลางสัปดาห์ ถือเป็นการกระตุ้นให้อีก 2 วันที่เหลือทำงานได้เต็มที่ ขณะที่ในโลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

รศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล อาจารย์ประจำหน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานภาควิชากายภาพ บำบัด คณะสหเวชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า  สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำมีเหตุผลเชิงประจักษ์มารองรับ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีคนทำงานที่ป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม หรือโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานเพิ่มขึ้นมาก

หน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน ได้ทำวิจัยและพบว่าในปี 2556 มีผู้ที่ทำงานในสำนักงานมากกว่า 7.7 ล้านคน มีอาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบมากที่สุดคือ อาการปวดคอและบ่า(ร้อยละ 42) รองลงมาคือหลังบั้นเอว และหลังส่วนบน

ออฟฟิศซินโดรม ยังรวมถึงการเจ็บป่วยด้วยอาการ อื่นๆ ที่ไม่ใช่การปวดกล้ามเนื้อกระดูก เช่น ตาแห้งจากการจ้องจอ เป็นโรคปอดจากการสูดดมผงคาร์บอนในเครื่องถ่ายเอกสาร การนั่งกลั้นปัสสาวะจนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

และเมื่อนำไปคำนวณมูลค่าในทางเศรษฐศาสตร์ จะพบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคนี้ มีมูลค่ามากถึง 48,069 ล้านบาทต่อปี  เนื่องจากการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และผู้ที่รับภาระมากที่สุดในความสูญเสียนี้คือนายจ้างในภาคธุรกิจ

รศ.ดร.ประวิตรชี้ว่า โรคออฟฟิศซินโดรม ถือเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งมีการพูดถึงและทำวิจัยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ทำให้คนต้อง “นั่ง” นานมากขึ้นในเวลาทำงาน

“มันเป็นโรคมานานแล้ว แต่พอมีไอทีทำให้อาการโรคยิ่งเยอะขึ้น และจะเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ ในอนาคต เพราะคนปัจจุบันเดินน้อย นั่งเยอะ แถมทุกวันนี้ทำงานผ่านคอมพ์ คนใช้เวลาหน้าจอมาก และสังคมก็กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้คนทำงานต้องทำงานมากขึ้น เพราะไม่มีใครมาทำแทนอีก”

รศ.ดร.ประวิตรกล่าว นอกจากนี้ การนั่งนานยังทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ เพราะทำงานในออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมทางกายน้อย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งคุยโทรศัพท์ ประชุม ใช้คอมพิวเตอร์ ประกอบกับวิถีชีวิตคนในเมืองที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เจอรถติดก็ยิ่งทำให้ชีวิตมีเวลาว่างพอที่จะไปออกกำลังกายน้อยลงไปอีก

การนั่งทำงานผิดท่าและการไม่ดูแลรักษาร่างกาย ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องนั่งทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ หรือคนขับรถ คนทำงานในโรงงาน ต้องนั่งให้เหมาะสมกับกระดูกสันหลัง นั่งตัวตรง ข้อสะโพก ข้อเข่าทำมุม 90 องศา ไม่ควรนั่งตามสบาย

รศ.ดร.ประวิตรบอกว่า โรคนี้ควรป้องกันไว้ก่อน  มิเช่นนั้นอาการจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง รักษายาก การออกกำลังกายแบบที่นายกฯ นำข้าราชการออก เป็นการออกกำลังกายทั่วไป ซึ่งมีประโยชน์ แต่ก็มีการออกกำลังกายเฉพาะจุดที่เหมาะกับคนทำงานในออฟฟิศ เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การขยับร่างกาย หรือแม้กระทั่งการเพิ่มกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน เช่น การเดิน ก็ลดอาการเกิดของออฟฟิศซินโดรมได้

ขณะนี้หน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อจากการทำงานมีการทำแอพพลิเคชั่น Offixercise เพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม โดยจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพผู้ใช้ และคำนวณจำนวนก้าวเดินต่อวันเพื่อป้องกันโรคปวดคอและปวดหลัง พร้อมนับจำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน และแจ้งผลอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ประวิตร เชื่อว่า ในอนาคตออฟฟิศเองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่ทำให้เกิดโรคเจ็บป่วยด้วย เช่น มีโต๊ะที่ปรับความสูงเองอัตโนมัติทุกๆ 30-45 นาที ทำให้คนทำงานต้องยืนทำงานสลับนั่งไปด้วย หรืออาจจะเป็นออฟฟิศโมบาย ที่ให้คนไปนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นออฟฟิศแบบดั้งเดิมที่พนักงานต้องนั่งแบ่งกันเป็นคอกๆ ประจำที่

“อย่างในสแกนดิเนเวียเขาเคร่งครัดมาก คือมีกฎหมายออกมาเลยว่านายจ้างต้องดูแลมลภาวะการทำงานของลูกจ้าง ไม่อย่างนั้นจะถูกฟ้อง ของไทยเรายังไม่เจอ แต่คิดว่าอนาคตมีแน่” รศ.ดร.ประวิตร กล่าว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า