รู้ลึกกับจุฬาฯ

‘ประกันเอกชน’ดูแลข้าราชการต้องคิดให้ดี

จากกรณีปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ว่ามีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรื่องการให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ในวงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มทำในเดือนตุลาคม 2560 พร้อมย้ำว่าสิทธิประโยชน์ของข้าราชการต้องไม่ต่ำกว่าเดิม โดยสาเหตุที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังต้องทำเช่นนี้เพราะต้องการลดการรั่วไหลจากการที่มีข้าราชการเวียนเทียนหาหมอเพื่อให้จ่ายยาราคาแพงจำนวนมากและนำไปขายต่อ

ล่าสุด เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือ คสร. ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการและข้าราชการหลายฝ่าย แถลงข่าวแสดงความคิดเห็นและนำเสนอทางออกแก่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรทั้งจากฝั่งข้าราชการและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสาธารณสุขของไทยเข้าร่วมเครือข่ายฯ แสดงความคิดเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะอ้างว่ายังคงสิทธิให้แก่ข้าราชการเท่าเดิม เพราะการให้เอกชนบริหารงานย่อมมีค่าบริหารจัดการ ค่ากำไรที่จะเอกชนจะหักไปเป็นของตน ทำให้ส่วนที่เหลือย่อมน้อยลง กระทบต่อสิทธิของข้าราชการแน่นอน พร้อมเสนอว่ารัฐควรจัดการตั้งหน่วยตรวจสอบ ระบบติดตามเรื่องนี้ให้พัฒนาขึ้น มิใช่อ้างว่าพอทำไม่ไหวแล้วก็ยกให้เอกชนทำแต่ท่าเดียว

จากการพูดคุยสอบถามกับ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์  ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการศึกษาระบบประกันสุขภาพของไทยมาเป็นเวลานาน ระบุว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกให้เอกชนทำ เป็นเพราะว่าสวัสดิการรักษาข้าราชการไทย พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงถึงปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

สาเหตุหลักๆ เกิดจากอัตราค่าใช้จ่ายรักษาข้าราชการแบบผู้ป่วยนอก เพราะเป็นบริการแบบ Free For Service หรือจ่ายตามบริการ คนไข้รักษาไปเท่าไร โรงพยาบาลก็จะเบิกไปเท่านั้นตามจริง มีบางรายการเท่านั้นที่กรมบัญชีกลางกำหนดราคาคงที่มา และควบคุมยาที่ใช้รักษาต้องเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่โดยรวมแล้ว มักจะเป็นกระบวนการปลายเปิด

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ชี้ว่ามีบางกรณีที่เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบ คือมีข้าราชการบางคนเวียนเทียนตระเวนซื้อยาตามโรงพยาบาลต่างๆ แล้วนำไปขายต่อ เมื่อกรมบัญชีกลางจับได้ก็จะเกิดการฟ้องร้องจนเป็นข่าว แต่รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ย้ำว่าปริมาณคนที่ทำเช่นนี้ไม่ได้มากพอจนถึงขั้นที่รัฐบาลจะอ้างว่าให้เอกชนเข้ามาดูแลแทนได้

“มันก็ไม่ได้เกิดจากการหละหลวมในการควบคุมทั้งหมด คือค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นสูงตามธรรมชาติของสังคมด้วย เพราะทุกวันนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้าราชการบำนาญมีอายุยืนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตาม” รศ.ดร.นพ. จิรุตม์กล่าว

เมื่อสอบถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงการคลังมองว่าถ้าให้เอกชน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาบริหารจัดการสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแทนแล้ว จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และอาจทำให้งบประมาณการใช้จ่ายต่อไปลดลง รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ชี้ว่าเป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เอกชนจะได้กำไร เพราะเป็นเรื่องวิน-วิน ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือเอกชนก็ได้กำไรไป ส่วนรัฐบาลก็ลดค่าใช้จ่ายได้

แต่ข้อจำกัดในเชิงระบบปัจจุบัน อาจทำให้เอกชนไม่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะการมอบให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนรัฐ จะต้องมีการจัดจ้างภายใต้วงเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านนี้ จากนั้นเอกชนจะนำเงินก้อนนี้ไป แล้วนำไปจ่ายให้สถานพยาบาลภาครัฐ หรือโรงพยาบาลอีกต่อหนึ่ง ส่วนนี้จะต้องระวังให้ดี ถ้าหากเกิดกรณีที่เอกชนได้กำไร แต่โรงพยาบาลรัฐเกิดความเสียหาย ขาดทุน จะเกิดข้อร้องเรียนและฟ้องร้องได้ว่ารัฐทำสัญญาแบบไหนถึงทำให้ตนเอง เสียหาย

“จากเดิมที่เป็นรัฐต่อรัฐจัดการกันเอง ถ้าให้เอกชนทำปุ๊บแล้วรัฐขาดทุน ซึ่งอาจไม่ได้กำหนดในสัญญาเอกชน มันจะเกิดปัญหาทางกฎหมายขึ้น แล้วถ้าเกิดกรณีร้องเรียน มีการปฏิเสธจ่ายโรงพยาบาลรัฐจะไปร้องเรียนกับใคร คือมันต้องมีแนวทางว่าจะทำอย่างไรถ้าเงินมากขนาดนี้ เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นได้และจะทำให้ระบบวุ่นวาย นอกจากนี้ถ้าเปลี่ยนระบบใหม่ก็ต้องอาศัยคน ซึ่งไทยก็ไม่ได้มีหมอเหลือเฟือให้มานั่งทำเอกสาร แล้วระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปีจะเตรียมการทันได้อย่างไร”

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ระบุ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ยังตั้งคำถามต่ออีกว่า หากเอกชนคุมเงินไม่ได้จะทำอย่างไร เช่นมีการดำเนินการไปแล้ว 2 ปีพบว่าขาดทุน ปีถัดมาเอกชนจึงยื่นขอเสนองบประมาณ 8 หมื่นล้าน รัฐบาลจะต้องทำอย่างไร หากปฏิเสธ เอกชนก็สามารถยกเลิกสัญญา ไม่ขอดำเนินการต่อ ทำให้ภาระทั้งหมดกลับมาที่กรมบัญชีกลางอีกครั้ง

“คือต้องคิดถึงกรณีแย่สุดๆ ไว้ด้วยว่าถ้าเอกชนทำไม่ได้เราจะทำอย่างไรต่อ ถ้าเขาทำแล้วเขาพบว่าตนเองขาดทุน 2 ปี เขาก็เลิกทำแล้วก็ลอยตัว แต่ภาระหลังจากนั้นมันจะกลับมาอยู่กับรัฐ แล้วข้าราชการกับผู้มีสิทธิจะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่แต่ไม่มีใครพูดถึง”

นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังมีผลต่อหลักประกันสุขภาพโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องนำมาบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่แยกกันเป็นสองระบบ เพราะจะทำให้หน้างาน ในสถานรักษาพยาบาลของรัฐเกิดความวุ่นวายอย่างมหาศาล รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ทิ้งท้ายไว้

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า