รู้ลึกกับจุฬาฯ

“สิทธิส่วนบุคคลในโลกออนไลน์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

กรณีอื้อฉาวด้านข้อมูลระหว่าง Cambridge Analytica กับเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ผู้คนในสังคมสารสนเทศเริ่มถกเถียงและแสดงความกังวลต่อการเข้าถึงและนำข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ

จากรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ระบุตรงกันว่า บริษัท Cambridge Analytica ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การระดมคะแนนเสียงเลือกตั้ง ได้เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า50 ล้านคนเพื่อหาทางโน้มน้าวให้เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ จนชนะการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2016 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน

องค์กรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนพลเมืองเน็ตจำนวนมหาศาลต่างแสดงความไม่พอใจต่อเรื่องราวดังกล่าว และตั้งคำถามกับเฟซบุ๊กว่าปล่อยให้องค์กรวิเคราะห์ข้อมูลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ได้อย่างไร และยังพูดกันว่าจะต้องมีการตรวจสอบเฟซบุ๊กว่ามีมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไว้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กในตลาดหุ้นทิ้งดิ่งหนัก และเกิดความเคลื่อนไหวรณรงค์กว้างขวาง ให้ผู้ใช้เลิกเล่นสื่อสังคมออนไลน์ภายใต้แฮชแท็ก #deletefacebook

ทั้งนี้ปัจจุบันมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 1,600 ล้านบัญชี ส่วนในไทยก็มีมากถึง 40 ล้านบัญชีแล้ว

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ความท้าทายของประเด็น Privacy หรือสิทธิส่วนบุคคลในโลกออนไลน์สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนหลังจากโลกมีนวัตกรรมโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์เมื่อประมาณทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ความกังวลในเรื่องเทคโนโลยีกับสิทธิส่วนบุคคลเริ่มมาก่อนหน้านั้นมาก กล่าวคือเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงระหว่างธนาคารข้อมูล (data bank) ต่างๆ ผ่านลักษณะในข้อมูลที่จัดกลุ่มได้ เช่น เพศ วัย รายได้ การศึกษา เป็นต้น ตอนนั้นเป้าหมายของความกังวลพุ่งไปที่อำนาจในการควบคุมขององค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต่อสิทธิของปัจเจกบุคคล

หลังจากนั้นราว 10 ปีถัดมา (ค.ศ.1980) กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (กลุ่มประเทศ OECD) เริ่มมีการออกแนวทางคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลักการสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมีอยู่ 10 ข้อด้วยกันซึ่งรวมถึงหลักในการเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ โดยอำนาจที่กฎหมายให้ไว้เท่านั้น  หลักการในการได้รับการยินยอมก่อนให้ข้อมูล หลักการในการจำกัดการใช้ข้อมูลให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ระบุตอนเก็บ หลักในความโปร่งใสตรวจสอบได้ของผู้ควบคุมข้อมูล เป็นต้น ซึ่งต่อมา แนวทางนี้ได้กลายเป็นฐานของการออกกฎหมาย หรือระเบียบในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

อาจารย์พิรงรอง กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1990 เกิดเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการส่งต่อข้อมูลจำนวนมากและมีความรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ยังคงเน้นวัตถุประสงค์หลักคือการคุ้มครองปัจเจกบุคคลจากการควบคุมและอิทธิพลขององค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงและนำข้อมูลดิจิทัลมาใช้ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวตนของบุคคลในโลกความเป็นจริง

“เริ่มมีการศึกษาผลกระทบของตัวตนในโลกดิจิทัล (digital self)  ซึ่งประกอบขึ้นจากข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ เข้าด้วยกันจนสร้างใหม่กลายเป็นโปรไฟล์ของพลเมืองหรือผู้บริโภค โดยองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ประมวลผลนี้ แล้วจะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อจัดการหรือควบคุมพฤติกรรมของประชาชนในแง่ต่างๆ”

ความตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลในโลกดิจิทัล จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดการต่อสู้และก่อกระแสเพื่อสร้างความเข้าใจ เสริมพลังให้ประชาชนในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของข้อมูล เพื่อไม่ให้ถูกองค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรภาครัฐนำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ในทางมิชอบ มีตัวอย่างองค์กรภาคประชาชน (NGO)ในต่างประเทศที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง เช่น องค์กร Privacy International ในประเทศอังกฤษ องค์กร  Electronic Frontier Foundation (EFF) ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แต่เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลกลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้นำเข้าสู่ระบบและแชร์กันอย่างกว้างขวางโดยสมัครใจบนโซเชียล มีเดีย ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการดำเนินชีวิตของคนในโลกยุคปัจจุบัน การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จึงทำได้ง่ายดายและเจาะกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงมากกว่าเดิม

อาจารย์พิรงรองกล่าวว่า Business Model ของโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กขึ้นอยู่กับการนำเสนอ การแลกเปลี่ยน และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้ใช้ผ่านข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ผ่านระบบอัลกอริทึม หรือระบบประมวลผลของเครือข่าย

“ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมักอ้างตนเองว่าเป็นเพียงแพลตฟอร์มหรือตัวกลางออนไลน์ที่ให้พื้นที่แก่ผู้ใช้ในการสร้างสรรค์เนื้อหาของตนเอง จึงไม่ต้องรับภาระรับผิดหากข้อมูลเป็นเท็จ หรือมีลักษณะหมิ่นประมาท หรือผิดกฎหมายในบางประเทศ”

แต่กรณี Cambridge Analytica ซึ่งทำมาหากินจากการคัดเลือกและนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ของผู้ว่าจ้าง ก็เป็นภาพสะท้อนของปรากฏการณ์ที่ไปไกลกว่าการกำกับดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก เพราะเป็นการคุกคามสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว

แม้จะโยนความผิดในแง่ข้อมูลรั่วไหลไปให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านวิเคราะห์ข้อมูลอย่าง Cambridge Analytica เฟซบุ๊กก็ยังไม่พ้นภาระรับผิดที่ไม่ได้ดูแลคุ้มครองข้อมูลให้ดีพอ แถมยังละเมิดความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ใช้อีกด้วย เนื่องจากไม่ชัดเจนว่า Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์เฟซบุ๊กกับ Cambridge Analytica ที่สร้างความตื่นตระหนกแก่สมาชิกเครือข่ายสังคมออนไลน์ ดูท่าจะไม่กระทบมากนักกับผู้ใช้ในเมืองไทย ซึ่งอาจารย์ พิรงรองชี้ว่าสังคมไทยที่ไม่ตื่นตัวกับภัยคุกคามด้านนี้ เพราะเราขาดความตระหนักรู้ และเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งร่างมาตั้งแต่ปี 1990 จนปัจจุบันยังไม่เสร็จ

เราจึงขาดองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในด้านสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล มีภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้ แต่ก็มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง

“เรื่อง Privacy เป็นเรื่องที่จับต้องได้ยากกว่าเสรีภาพในการแสดงออกหรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูล ตราบใดที่ยังไม่เกิดกรณีอื้อฉาวแบบ Cambridge Analytica ในไทย เฟซบุ๊กก็จะยังคงเป็นพื้นที่แห่งสันทนาราคาถูกสำหรับทุกเพศทุกวัย และเป็นแฟลตฟอร์มของการทำการตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคที่แบ่งส่วนตลาดตามพฤติกรรมได้อย่างดีต่อไป” อาจารย์พิรงรองทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า